พิธี บิชาร์จัน กับความเข้าใจผิด

สัพเพเหระ               (10 พฤษภาคม 2564)

พิธี บิชาร์จัน กับความเข้าใจผิด

โดย                เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลายวันก่อน  ผมได้เห็นวิดีโอ คลิป ที่มีภาพของรถ แบ็คโฮ  กำลังกวาดไถรูปปั้นจำนวนมากที่วางอยู่บนพื้นแบบไม่ใยดี  พร้อมกับคำบรรยายที่เข้ากับบรรยากาศของเหตุการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของ โควิด 19 ในประเทศอินเดีย ที่มีคนติดเชื้อรายวันกว่า 4 แสนคน  และมีผู้เสียชีวิตวันละกว่า 4 พันคน ว่า

               หลังจากโควิด 19 ระบาดอย่างรุนแรงในอินเดีย  จนมีผู้ล้มตายกันอย่างมาก   ชาวฮินดูก็เริ่มเสื่อมถอยในการนับถือพระผู้เป็นเจ้าของเขา  ต่างพากันเอารูปเคารพมาทิ้งขว้างตามท้องถนนอย่างไม่ใยดี 


(ภาพที่จับมาเป็นภาพนิ่ง  จากวิดีโอคลิป ที่ส่งกันทั่วไปในโลกออนไลน์)

               เพราะคิดว่า  เมื่อเทพเจ้าไม่สามารถป้องกันให้พวกเขารอดพ้นจากโควิด 19 ได้แล้ว  อย่ากระนั้นเลย  ก็เอาไปทิ้งให้พ้นหูพ้นตาเสีย

               บังเอิญ  ผมเคยทราบเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับภาพดังกล่าวในอินเดียมาก่อน  จึงได้สอบถามจากเพื่อนในอินเดีย และได้ความกระจ่างที่กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย

               จึงขอนำเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าสู่กันกันฟังครับ

               อินเดีย มีเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆมากมายตลอดทั้งปี   เพราะเทศกาลเหล่านี้  โดยหลักคิดก็คือ  การเฉลิมฉลองการเปลี่ยนฤดูกาลทั้ง 4 ที่เป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ 

               ต้องไม่ลืมว่า   วัฒนธรรมฮินดู เป็นวัฒนธรรมที่มาอายุยาวนานกว่า 4 พันปีมาแล้ว  และยังคงสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

               ประกอบกับสังคมอินเดียโบราณ (หรือแม้กระทั่งทุกวันนี้) เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม กสิกรรม   ดังนั้น  ฤดูกาลที่มาตามกาลเวลาที่เคยเป็น  จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ  และมีความหมายต่อผู้คนทุกยุคทุกสมัย

               สิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนโบราณก็คือ  ฝนตก  แดดออก  ถูกต้องตามฤดูกาล  และเพื่อความสบายใจของตัวเอง   พวกเขาก็จึงสร้างเทพเจ้าขึ้นมาเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ 

               เทพเจ้าเหล่านี้จึงอยู่คู่ชาวอินเดียมาโดยตลอด

               ในช่วงเทศกาลสำคัญ  เช่น  เทศกาลนวราตรี  เทศกาลวันประสูติของพระพิฆเณศวร  ฯลฯ   ชาวฮินดูก็มักจะมีการสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าเหล่านั้นขึ้นมา   เพื่อการเคารพบูชา


(รูป IDOL ที่สร้างขึ้นด้วยดินเหนียวเกาะบนโครงไม้เป็นรูปต่างๆ)

               รูปเคารพเหล่านี้   มีทั้งขนาดใหญ่มาก  จนกระทั่งที่มีขนาดเล็กที่สามารถนำกลับไปเคารพบูชาที่บ้านได้  ทั้งหมดจะทำด้วยดินเหนียวปั้นบนโครงที่ทำด้วยกิ่งไม้

               พูดง่ายๆก็คือ  ทำมาจากวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่ายๆนั่นเอง


(รูปเคารพ IDOL เป็นพระแม่กาลี  มีวางขายกันบนถนนทั่วไปหมด) 

               ชาวฮินดู มักจะซื้อรูปเคารพ  ที่เรียกว่า  IDOL เป็นรูปของเทพเจ้าประจำเทศกาลนั้นๆ  แล้วนำกลับไปกราบไหว้บูชาที่บ้าน  แต่ในบ้านก็มักจะมีรูปเคารพของเทพเจ้าของเทศกาลก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว 

               เขาจะทำอย่างไร

               เขาก็จะเอารูปเคารพของเก่า ออกไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้  หรือ  ริมถนน  เหมือนกับเอาไปทิ้งประมาณนั้น 


(รูปเคารพของปีเก่า  จะถูกนำไปวางไว้ใต้ต้นไม้  เมื่อมีรูปเคารพอันใหม่นำเข้าไปในบ้าน)

               นอกจากนี้   ประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งก็คือ  เมื่อถึงวันสุดท้ายของเทศกาล   ชาวฮินดูก็จะเอารูปเคารพไปลอยในแม่น้ำ  เหมือนกับการส่งเทพเจ้ากลับไปสู่สวรรค์  ประเพณีนี้เรียกว่า  บิชาร์จัน (BISARJAN)


(พิธี บิชาร์จัน ของพระพิฆเณศวร)

               ตามตัวอักษร  บิชาร์จัน  แปลว่า  จมลงไปในน้ำ  เพราะแม่น้ำทุกสายก็เป็นเสมือนตัวแทนของแม่น้ำคงคาที่ไหลลงมาจากสวรรค์

               รูปเคารพเหล่านี้ก็จะละลายหายไปในสายน้ำ   เพราะทำด้วยดินเหนียว

               แต่เนื่องจากกระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีความเข้มแข็งขึ้นทุกวัน   การเอารูปเคารพแม้ว่าจะทำด้วยดินเหนียวไปลอยในแม่น้ำ  หรือ ในหนอง   ในบึง   หรือ  ในทะเลสาบ  จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้  เพราะอาจจะก่อให้เกิดมลพิษใดๆขึ้นมาได้

               เขาก็จึงเอาไปวางทิ้งไว้ตามถนน หรือ ไปรวมกันไว้ในที่ใดที่หนึ่ง  เพื่อให้เทศบาลมาจัดเก็บไปทำลายต่อไป 

               ภาพที่เห็นรถแบ็คโฮ กวาดรูปเคารพไปตามถนน  จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวโควิดแต่อย่างใด

Posted in สัพเพเหระ.