อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 พฤษภาคม 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จุดเด่นที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากของรัชสมัยของ อัคเคนาเตน มีอยู่สองอย่างคือ  หนึ่ง   รูปแบบของศิลปะที่โดดเด่น  แตกต่างไปจากศิลปะอียิปต์ก่อนหน้านี้  และ สอง  เรื่องศาสนาที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินความเชื่อเก่าทั้งหมด

               ในตอนที่ 5 นี้   ผมขอพูดถึงเรื่องของรูปแบบศิลปะเสียก่อน


(ฟาโรห์ เมคเคอเรนัส ในยุคอาณาจักรเก่า ยืนก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า  มือทั้งสองข้างกำสิ่งที่นักวิชาการสันนิษฐานว่า เป็นตราประทับ)

               สำหรับท่านที่เคยชมภาพสลักของอียิปต์โบราณมาก่อน ก็จะสังเกตเห็นว่า  รูปสลักของบรรดาฟาโรห์ จะมีรูปแบบที่ชัดเจนตายตัว  เช่น  หากยืนตรงก็จะมักก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า  แขนทั้งสองข้างจะเหยียดตรง  มือทั้งสองข้างจะกำแน่น  หน้ามองตรงอย่างมุ่งมั่น  หรือไม่  แขนทั้งสองข้างก็จะเอามาทับกันที่หน้าอกเป็นท่าของมัมมี่  


(ฟาโรห์ในยุค อาณาจักรกลาง  ในท่านั่ง  มือซ้ายวางแบราบที่ตัก   เป็นสัญลักษณ์ของความเมตตา  ส่วนมือขวากำสิ่งที่นักวิชาการเชื่อว่า  เป็นผ้าเช็ดหน้า)

               หากนั่งบนบัลลังก์  ก็จะตัวตรง  วางมือข้างหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้างราบที่ตักเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตา  หรือ แขนทั้งสองข้างวางทาบทับกันตรงหน้าอก

               ที่เหมือนกันก็คือ  ฟาโรห์จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นคนหนุ่มฉกรรจ์  ร่างกายฟิตเฟิร์มเสมอ  ไม่ว่าฟาโรห์องค์นั้นจะครองราชนานเท่าไหร่ก็ตาม  เช่น  ฟาโรห์รามเซส ที่ 2 ซึ่งครองราชประมาณ 67 ปีจนอายุประมาณ 80 ถึง 90 ปี  

               แต่เราจะไม่เคยเห็นรูปสลักรูปใดของรามเซส ที่ 2 เป็นชายชราเลยแม้แต่รูปเดียว  ทั้งๆที่พระองค์ได้สร้างรูปสลักเอาไว้อย่างมาก  จนแทบจะเรียกได้ว่า  มากที่สุดในบรรดาฟาโรห์ทั้งหมด


(ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ที่เมืองโบราณเมมฟิส ที่ยังดูหนุ่มแน่นแข็งแรงเสมอ ไม่ว่ารูปสลักนั้นจะทำในช่วงอายุเท่าใดของฟาโรห์ก็ตาม)

               ราวกับว่า  ฟาโรห์ไม่มีวันแก่ชรา

               แต่เมื่อมาถึงยุคสมัยของ ฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 4 หรือ อัคเคนาเตน  ศิลปะการแกะสลักของยุคนี้ ก็มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ที่ไม่เหมือนศิลปะของยุคก่อนหน้า  หรือแม้แต่ยุคต่อมาด้วยซ้ำ

               จนทำให้นักวิชาการต้องให้คำจำกัดความของศิลปะ และ ปรัชญาของยุคนี้ว่า  ยุคอามาร์นา

               จุดเด่นของศิลปะยุคอามาร์นา ก็คือ  ร่างกายของฟาโรห์จะยืดยาวกว่าปกติทั่วไป   และแสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างมาก   เช่น  สะโพกผาย  หน้าท้องมากกว่าปกติ   เอวคอด  ไหล่แคบ  เป็นต้น


(ฟาโรห์ อัคเคนาเตน ที่มีลักษณะค่อนไปทางผู้หญิง) 

               ใบหน้าจะเรียวยาวกว่าปกติทั่วไป  เรียวปาก และ จมูก ก็ยังมีส่วนละม้ายไปทางใบหน้าของผู้หญิง   ทำให้เมื่อมองรวมๆกันแล้ว  ผมอดที่จะนึกถึงภาพเขียนของ เอล เกรโก้ จิตรกรชาวอิตาเลี่ยนเชื้อสายกรีกในยุคเรอเนสซองส์ตอนท้ายไม่ได้


(ภาพเขียนของ เอล เกรโก  มีมีรูปทรงยืดยาวกว่าความเป็นจริง)

               นอกจากนี้  กะโหลกศรีษะด้านหลังยังโหนกนูน และ ยื่นยาวออกมามากกว่าปกติ  จนบางคนแสดงความเห็นว่า  เป็นกะโหลกของมนุษย์ต่างดาวรึเปล่า


(รูปสลักของอัคเคนาเตน ที่มีรูปกะโหลกที่แปลกประหลาดหาคำอธิบายไม่ได้)

               ทำให้คาดเดาไปว่า  รูปทรงของกะโหลกที่ว่านี้  น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ สตีเว่น สปิลเบิร์ก ในการจินตนาการรูปร่างหน้าตาของมนุษย์ต่างดาวที่ในภาพยนต์เรื่อง  ENCOUNTER OF THE THIRD KIND และ ET

               เพราะสตีเฟ่น สปิลเบิร์ก เคยมาชมพิพิธภัณฑ์อียิปต์ที่ไคโรมาก่อน

               ที่น่าแปลกก็คือ   ศิลปะแบบอามาร์นา  จะมีแต่เพียงในยุค  17 ปีของรัชสมัยของ อัคเคนาเตน เท่านั้น  เพราะหลังจากนั้น  รูปแบบของศิลปะก็กลับมาสู่รูปแบบเดิมอีกครั้ง

               บางคนถามว่า   ทำไม  รูปแบบใหม่นี้  จึงมีเพียงในประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆนี้เท่านั้น

               มีนักวิชาการบางคนพยายามอธิบายว่า  ฟาโรห์ อัคเคนาเตน อาจต้องการให้แสดงภาพของพระองค์ในแบบที่เป็นจริง  ไม่ต้องการการสร้างภาพที่บิดเบือน หรือ ภาพพจน์ที่สร้างขึ้นเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ


(พีระมิดแบบขั้นบันได มีลานกว้างที่เชื่อกันว่า  เป็นสถานที่ประกอบพิธีเฮบ เสด)

               เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า  ฟาโรห์ของพวกเขายังหนุ่มแน่น แข็งแรงเสมอ   สมควรแก่การขึ้นครองราชต่อไปอีก 30 ปี   สอดคล้องต้องกันกับพิธี เฮบ เสด(HEB SED) ที่กำหนดให้ฟาโรห์จะต้องลงไปทดสอบสมรรถภาพของร่างกายกับวัวกระทิงว่า   ยังแข็งแกร่งเหมาะสมที่จะครองราชต่อไปอีก 30 ปีหรือไม่

               กระนั้นก็ตาม   ทำไม  กะโหลกศรีษะของอัคเคนาเคน ถึงได้โหนกนูนออกไปด้านหลังอย่างมากขนาดนั้น

               คำตอบนี้   ไม่มีใครตอบได้โดยมีเหตุผลที่ดีรองรับ   บางคนก็เลยบอกว่า   หรือ อัคเคนาเตน จะเป็นมนุษย์ต่างที่ลงมาปกครองอียิปต์  แบบเดียวกับที่บางคนแสดงความเห็นว่า 

               มนุษย์ต่างดาว เป็นผู้สร้างพีระมิดที่เมืองกีซา

               เรื่องนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อ  ของแต่ละคน  เพราะจนทุกวันนี้   ไม่มีทฤษฎีใดที่สามารถยืนยันวิธีการสร้างพีระมิดโดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย 

               ด้วยเหตุนี้   อียิปต์โบราณ จึงเป็นสิ่งที่อยู่ในเครื่องหมายคำถาม  เป็นสิ่งที่น่าพิศวงอยู่เสมอ  และ   น่าจะตลอดไปครับ

               พบกับ  อามาร์นา ที่น่าพิศวง ตอนที่ 6 ในสัปดาห์หน้าครับ   

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .