อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (16 พฤษภาคม 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               การเปลี่ยนแปลง ที่เป็นเอกลักษณ์ของ ยุคอามาร์นาก็คือ  การยกเลิกการนับถือเทพเจ้าจำนวนมากตามประเพณีศาสนาของอียิปต์โบราณ   แล้วหันมานับถือเทพเจ้าองค์เดียวที่มีชื่อเรียกว่า อะเตน

               ต้องยอมรับในความหาญกล้าอย่างยิ่งของ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 4  ซึ่งพระองค์ก็คงจะรู้ว่ามีอะไรรอพระองค์อยู่ข้างหน้าหากพระองค์ทำอย่างนี้ 

แต่พระองค์ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าต่อ  

               นับเป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้  ที่มนุษย์เริ่มนับถือเทพเจ้าเพียงองค์เดียว

               เพราะหลังจากนั้นไม่นานนัก  ก็ปรากฎศาสนาใหม่ที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวถือกำเนิดขึ้น  คือ ศาสนายูดาย  หรือ  ศาสนายิว


(ภาพจากภาพยนต์เรื่อง “บัญญัติ 10 ประการ” ที่ ชาร์ลส์ตัน เฮสตัน รับบท โมเสส”  และ ยูลล์ บรินเนอร์ รับบท ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 )

               ประวัติศาสตร์ศาสนาเชื่อว่า  ผู้ประกาศศาสนายูดายก็คือ โมเสส(MOSES)

               นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า  โมเสส ก็คือเจ้าชายอีกองค์หนึ่งของอียิปต์โบราณ  มีอายุอยู่ในสมัยเดียวกับ ฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 (RAMSES II) หรือประมาณ 3120 ปีที่แล้วโดยประมาณ

               ฟาโรห์รามเซส ที่ 2 เป็นฟาโรห์องค์ที่ 3 ของราชวงศ์ที่ 19 ยุคอาณาจักรใหม่  ในขณะที่อัคเคนาเตน เป็นฟาโรห์องค์ที่ 10 ของราชวงศ์ที่ 18 ยุคอาณาจักรใหม่เช่นกัน

               หากนับจำนวนฟาโรห์ที่ห่างกันก็คือ 7 พระองค์   แต่หากนับปีที่ห่างกันก็จะประมาณ 57 ปีเท่านั้นเอง  ค่อนข้างจะใกล้กันมาก

               กล่าวคือ อัคเคนาเตน สิ้นพระชนม์ในปี 1336 ก่อนคริสตกาล และ รามเซส ที่ 2 ขึ้นครองราชในปี 1279 ก่อนคริสตกาล

               จนมีนักวิชาการบางคนเชื่อว่า  โมเสส น่าจะเป็น ฟาโรห์ อัคเคนาเตน   มากกว่าที่จะเป็นทารกชาวยิวที่พี่สาวของฟาโรห์เก็บเอามาจากตะกร้าลอยในแม่น้ำแล้วเอาไปเลี้ยง  แบบที่เราเห็นในหนังเรื่อง “บัญญัติ 10 ประการ”

               ซึ่งสอดคล้องกับที่ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนเอาไว้ว่าในหนังสือ “ยิว”  ว่า โมเสส น่าจะเป็นเจ้าชายอียิปต์ มากกว่าจะเป็นชาวยิว  มิเช่นนั้น  ก็ยากที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในกองทัพ หรือ ผู้นำทางความคิดได้


(หน้ากากทองคำของมัมมี่ ฟาโรห์ ตุตอังอาเมน  ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ตุตอังอามุน)

               เมื่อ อาเมนโฮเทป ที่ 4 ประกาศศาสนาใหม่ที่นับถือเทพอะเตนแล้ว  ก็ได้เปลี่ยนพระนามของตนเองเป็น อัคเคนาเตน  นอกจากนี้  โอรสของพระองค์ซึ่งสืบทอดบัลลังก์ต่อมาก็ที่มีพระนามว่า  ตุตอังอาเมน  เป็นความหมายถึงการแสดงการนับถือเทพอะเตน  

               ซึ่ง ตุตอังอาเมน ต่อมาภายหลัง ก็ได้เปลี่ยนพระนามของตนเองเป็น  ตุตอังอามุน หลังจากพระองค์ได้ขึ้นครองราชแล้ว  เป็นการแสดงนัยยะว่า  เทพอามุนได้กลับมาเป็นเทพเจ้าหลักแทนเทพอะเตนแล้ว

               ย้อนมาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก อาเมนโฮเทป ที่ 3 และ ที่ 4

               อาเมนโฮเทป ที่ 3 ครองราชยาวนานประมาณ 39 ปี  และน่าจะสิ้นพระชนม์เพราะสาเหตุธรรมชาติ  แต่ดูเหมือนความรู้สึกที่มีต่อกันในเรื่องของศาสนา  และ  เรื่องส่วนตัวอาจจะไม่สู้ดีนัก


(ลานกว้างที่มีเสาแบบดอกปาปิรัสตูม ที่ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3 เป็นผู้สร้าง พระนามของพระองค์ที่สลักอยู่ในบนเสาเหนือดอกปาปิรัส ถูกกระเทาะออกไป สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของ อาเมนโฮเทป ที่ 4 หรือ อัคเคนาเตน)

               เพราะปรากฎหลักฐานในวิหารลักซอร์ เมืองลักซอร์ ว่า   พระนามของอาเมนโฮเทป ที่ 3 ที่อยู่หัวเสาสูงจากพื้นประมาณ 10 กว่าเมตร  ถูกทำลายด้วยสิ่ว  หรือ  โลหะแข็ง

               ทำไม ต้องทำลายพระนามของฟาโรห์


(ผู้เขียนกับรูปสลัก COLOSSI OF MEMNON  ของ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3)

               นักวิชาการระบุว่า  ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า  ดวงวิญญาณของฟาโรห์  ผู้ตายที่จะต้องเดินทางไปสู่โลกหน้า หรือ UNDERWORLD เพื่อไปพบกับเทพโอไซริส  และรับการตัดสินครั้งสุดท้าย(LAST JUGDEMENT) นั้น   เขายังต้องรักษา  มัมมี่  หรือ  รูปสลักของตัวเอง  หรือ  พระนามของตนเอง เพื่อให้เป็นที่พำนักของดวงวิญญาณอยู่


(โลงศพของ อาเมนโฮเทป ที่ 4 หรือ อัคเคนาเตน  หน้ากากทองคำถูกทำลายออกไปอย่างตั้งใจ   ด้วยหวังจะเป็นการสาปแช่งไม่ให้มีโอกาสไปผุดไปเกิดเลยทีเดียว  เขาเรียกว่า  กรรมตามทัน)

               ปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว  ดวงวิญญาณจะกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อน  ไร้ที่สิงสถิตย์  และ ไม่มีโอกาสไปพบกับเทพโอไซริส ได้เลย

               สันนิษฐานว่า  เมื่อฟาโรห์ทั้งสอง ต่างก็เคารพเทพเจ้าคนละองค์กันแล้ว   ก็เหมือนอยู่คนละโลก   จึงเป็นเหตุผลที่ อัคเคนาเตน ต้องทำลายพระนามของบิดาของพระองค์  เหมือนเจตนาจะไม่ให้ไปผุดไปเกิดกันอีกเลย

               พบกันใหม่สัปดาห์ครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .