อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 7-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 พฤษภาคม 2564)

อามาร์นา ที่น่าพิศวง(ตอน 7-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หากผมจะจบเรื่อง “อามาร์นา ที่น่าพิศวง” โดยไม่พูดถึงรูปสลักที่สวยงามประทับใจและโด่งดังไปทั่วโลกของ มเหสี เนเฟอร์ตีติ  บทความชุดนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์


(รูปสลักพระนางเนเฟอร์ตีติ)

               ในขณะที่ รูปสลักของฟาโรห์อัคเคนาเตน มีรูปร่างหน้าตาแปลกๆ  รูปสลักของมเหสีเนเฟอร์ตีติ  กลับเป็นตัวอย่างที่สวยประณีตงดงาม ของศิลปะยุคอามาร์นาอย่างไม่มีใดเทียบ

               ทำไมถึง  รูปสลักของฟาโรห์ กับ มเหสี  จึงแตกต่างกันมากขนาดนี้  ทั้งๆที่เป็นผลงานที่สร้างในช่วงเวลาเดียวกัน

               เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่สรุปได้   


(นาย ลุดวิก บอร์ชาร์ด กับ รูปสลักของพระนางเนเฟอร์ตีติ)

               รูปสลักของเนเฟอร์ตีติ   ถูก ลุดวิก บอร์ชาร์ด (LUDWIG BORCHARD) นักโบราณคดีชาวเยอรมันค้นพบภายในบ้านหลังหนึ่งที่ค่อนข้างเสียหายมากภายในเมืองโบราณ อัคเคเตเตน หรือ เมืองอามาร์นา ในปีค.ศ. 1912  ก่อนหน้าการค้นพบสุสานของฟาโรห์ ตุตอังอามุน ในหุบผากษัตริย์ ถึง 10 ปี

               จากนั้น  พวกเยอรมันก็ขนเอารูปสลักนี้ พร้อมด้วยรูปสลักเล็กๆน้อยๆอีกจำนวนมาก กลับไปยังประเทศของตัวเอง  และยังอยู่ที่นั่นจนทุกวันนี้


(นางอังเกลา แมร์เคิล กำลังชื่นชมความสวยงามของรูปสลัก เนเฟอร์ตีติ)

               และดูเหมือนว่า  เยอรมันจะไม่ยอมคืนรูปสลักนี้ให้แก่อียิปต์อย่างแน่นอน  ไม่ว่าอียิปต์จะเรียกร้องอย่างไรก็ตาม  เพราะมันช่างสวยงามเหลือเกิน  สวยงามกว่ารูปสลักใดๆที่อียิปต์โบราณเคยสร้างมา

               แล้วใครเป็นผู้รังสรรค์งานอันประณีตงดงามชิ้นนี้

               จากหลักฐานสำคัญที่นักโบราณคดีชาวเยอรมันค้นพบภายในบ้านหลังนั้นก็คือ หน้ากากบังตาของม้าที่ทำด้วยงาช้าง พร้อมกับมีชื่อ ธุทโมส (THUTMOSE) หรือ ธุทโมเซ สลักเอาไว้ด้วย  นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า  น่าจะเป็นชื่อของผู้สร้างงานชิ้นนั้น


(รูปสลักทำด้วยหินแกรนิต เป็นภาพใบหน้าของเนเฟอร์ตีติ ที่น่าจะยังไม่เสร็จ)

นอกจากชื่อแล้ว  ยังระบุตำแหน่งงานของธุทโมส เอาไว้ด้วยว่าเป็น ปฎิมากร

               ข้อมูลทางประวัติศาสตร์บอกว่า  ธุทโมส  น่าจะมีชื่อเสียงมากในราวปี 1350 ก่อนคริสตกาล   และเชื่อว่า  เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น  “ปฎิมากรของราชสำนักอย่างเป็นทางการ” ของฟาโรห์ อัคเคนาเตน ในช่วงปลายของรัชสมัยของพระองค์


(รูปสลักที่เชื่อว่าเป็นใบหน้าของ ฟาโรห์ อาเมนโฮเทป ที่ 3 )

               ภายในบ้านหลังที่มีการค้นพบรูปสลักของเนเฟอร์ตีตินั้น   ยังพบหลักฐานอื่นๆอีกมากมาย  เช่น  รูปสลัก   รูปหล่อ  ที่เป็นผลงานของปฎิมากรเจ้าของบ้านทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น  รูปสลักที่แกะจากหินแกรนิต ใบหน้าของพระนางเนเฟอร์ตีติ ,  รูปสลักใบหน้าของฟาโรห์อาเมนโฮเทป ที่ 3


(รูปสลักแบบลอยองค์ ของเนเฟอร์ตีติ)

หรือแม้กระทั่ง รูปสลักเต็มตัวแบบลอยองค์ทำจากหินปูน ของพระนางเนเฟอร์ตีติ ด้วย   

เขาจึงสรุปยืนยันว่า  บ้านหลังนั้นก็คือบ้านของนายช่างปฎิมากรของราชสำนักที่ชื่อ ธุทโมส แน่นอน


(อแลง ซีวีย์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบสุสานของ ธุทโมส)

               นอกจากนี้  ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1996  นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ที่นำโดย  อแลง ซิวีย์ (ALAIN ZIVIE) ได้ค้นพบสุสานที่เมืองซัคคารา ที่อยู่ใกล้กับพีระมิดแบบขั้นบันได  อันเป็นสุสานที่ฝังศพของอียิปต์โบราณมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่าแล้ว

               สุสานที่อแลง ค้นพบนั้น  คำนวนอายุว่าน่าจะสร้างอยู่ในช่วง 1350 – 1330 ปีก่อนคริสตกาล  คือหลังยุคอามาร์นา เพียงเล็กน้อย

               ช่วงเวลาของสุสานดังกล่าว สอดคล้องต้องกันกับช่วงเวลาของรัชสมัยของฟาโรห์อัคเคนาเตน

               ปัจจุบัน  รูปสลักของพระนาง เนเฟอร์ตีติ  และ  รูปสลักชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั้งหมดถูกจัดแสดงอยู่ใน พิพิทภัณฑ์ใหม่ (NEUES MUSEUM)ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันมี

               หลังจาก อัคเคนาเตน สิ้นพระชนม์เมื่อครองราชได้ 17 ปี  ศาสนาที่เคารพต่อเทพอะเตนของพระองค์ก็ถูกปฎิเสธจากฟาโรห์องค์ต่อๆมา  แล้วฟื้นฟูศาสนาที่นับถือพระเจ้าจำนวนมากกลับมาดังเดิม 

               แม้แต่โอรสของ อัคเคนาเตน เอง  ก็ยังต้องเปลี่ยนชื่อจาก  ตุตอังอาเมน  มาเป็น  ตุตอังอามอน เพื่อแสดงถึงการเคารพต่อเทพอามุน อีกครั้ง  

               ผมขอจบเรื่องเล่า  “อามาร์นาที่น่าพิศวง” ลงเพียงแค่นี้ครับ 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  ซึ่งจะขอเปลี่ยนบรรยากาศของท่านผู้อ่านไปทำ “ไวน์ เทสติ้ง” และ “บรั่นดี เทสติง” ครับ   

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .