คอนญัค เทสติ้ง กับเซียนพระ เช็ง สุพรรณ(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 มิถุนายน 2564)

คอนญัค เทสติ้ง กับเซียนพระ เช็ง สุพรรณ(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ท่านผู้อ่านคงได้ทราบจากบทความตอนที่แล้วว่า  คอนญัค  และ  อาร์มาญัค นั้นแตกต่างกันอย่างไร 

               แต่นอกเหนือจากแหล่งผลิตที่มาจากคนละพื้นที่กันแล้ว  ในตัวของ บรั่นดีเอง  ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของรสชาติ  และ  ความหอม ที่เกิดจากระยะเวลาของการหมักบ่มในถังไม้โอ๊คอีกด้วย

               ยิ่งบ่มนานอย่างถูกวิธี  ก็จะยิ่งทำให้ได้บรั่นดีมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น  ซึ่งภาษาของนักดื่มจะเรียกว่า MATURE

               แต่ความสมบูรณ์แบบก็จะแบ่งแยกออกได้หลายระดับ  ซึ่งจะใช้ตัวอักษรย่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ  เช่น V ย่อมาจาก VERY , S ย่อมาจาก SUPERIOR , O ย่อมากจาก OLD , P ย่อมาจาก PALE , E ย่อมาจาก ESPECIAL , F ย่อมาจาก FINE  และ  E ย่อมาจาก EXTRA


(เฮนเนสซี่ ขวานหงาย โดยปกติจะมาในขวดฐานใหญ่  แต่ขวดนี้เก่าเก็บมากๆ  จึงมาในรูปทรงสูง  อายุต้องมีไม่น้อยกว่า 30 ปีขึ้นไป)

               เมื่อเอาตัวอักษรมาผสมกัน  ก็จะสามารถบอกผู้ดื่มได้โดยประมาณ  เช่น  V.S  ย่อมาจาก VERY SUPERIOR หมายความว่า  บ่มประมาณ 5-9 ปี ,  V.S.O.P ย่อมาจาก  VERY SUPERIOR OLD PALE คือบ่มมานานประมาณ 12-20 ปี  และ X.O ย่อมาจาก EXTRA OLD  หรือ V.V.S.O.P ย่อมาจาก VERY VERY SUPERIOR OLD PALE คือบ่มนาน 20-40 ปี


(เฮนเนสซี่ ขวดนี้  ไม่ปรากฎอักษรกำกับถึงความเก่าแก่ในการบ่ม  ซึ่งน่าสนใจมาก)  

               จะเห็นว่า  ระยะเวลาของการบ่มสัมพันธ์โดยตรงกับรสชาติ และ  ความอ่อนนุ่มของบรั่นดีที่ได้  ดังนั้น   ยิ่งบ่มนานซึ่ง มีชื่อกำกับว่า  V.S.O.P  หรือ ขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ X.O  ก็ยิ่งทำให้รสชาตินุ่มยิ่งขึ้น

               แน่นอนว่า   ราคาของมันก็จะกระด้างกระเป๋าตามขึ้นไปด้วย


(อาร์มาญัค ในขวดทรงสูงแบบนี้  แค่จะดูยังหายากเลยครับ  ขนาดสแตมป์ยังเก่าคร่ำคร่าเลยทีเดียว)

               ในวันนั้น  คุณเช็ง สุพรรณ ได้เลือกเอา คอนญัค และ อาร์มาญัค ที่เขาเก็บเอาไว้นานแล้วออกมาอย่างละขวดมาทดสอบกัน  ขวดแรกเป็น เฮนเนสซี่ คอนญัค ที่คนไทยมักจะเรียกว่า “บรั่นดีขวานหงาย”  อีกขวดก็คือ บรั่นดีอาร์มาญัค


(เฮนเนสซี่ ขวานหงาย ที่คุ้นตาคนไทย มักจะอยู่ในขวดทรงนี้เป็นหลัก)

เห็นแค่ขวดก็อดรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้  เพราะไม่เคยเห็น ทั้งคอนญัค และ  อาร์มาญัค ในขวดทรงสูงแบบนี้มาก่อน

               เนื่องจากป้ายบนขวดไม่ระบุปีที่ผลิต  จึงไม่สามารถยืนยันแน่ชัดได้ว่า  เก่าแก่แค่ไหน  แต่ คุณเช็ง ผู้เป็นเจ้าของบอกว่า  น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 30 ปีขึ้นไป 


(ผู้เขียนกับ คอนญัค และ อาร์มาญัค ที่สำเร็จโทษไปในคืนนั้น)

               คอนญัค เฮนเนสซี เป็นคอนญัคที่ได้รับความนิยมมานาน  นอกเหนือจากการนิยมดื่มหลังอาหารแล้ว  ก็มักจะให้สุภาพสตรีดื่มหลังคลอดลูก  หรือ ใช้ประกอบอาหารประเภทไก่  นัยว่า  จะให้พลังงานความร้อนแก่คนหลังคลอดอย่างมาก

               เนื่องจากเป็นคอนญัค ที่เก่าเก็บมานานทั้งสองขวด  จุกคอร์กจึงขาดยุ่ยตอนเปิด จนต้องกระแทกจุกคอร์กลงไปในขวด


(อาจะเพราะเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่เข้มงวดในเรื่องชื่อ  และ  คนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นกับชื่อ คอนญัค จึงทำให้เรียก อาร์มาญัค ขวดนี้ว่า  คอนญัคไปด้วย)

               เฮนเนสซี่ คอนญัค  ยังมีกลิ่นแอลกอฮอลในระดับที่สะดุดความรู้สึก  แต่เมื่อทิ้งเอาไว้สักพักใหญ่ๆ  ความฉุนของแอลกอฮอลก็ลดลง  เมื่อลองจิบดู  เนื้อหาของเฮนเนสซี่ ก็ยังค่อนข้างบาดปาก บาดคอ ไม่กลมกล่อมนัก

               ในขณะที่ อาร์มาญัค มีกลิ่นสาบของจุกคอร์กที่รบกวนจมูกค่อนข้างมาก  ความหอมก็ไม่น่าประทับใจเท่ากับ เฮนเนสซี่  จิบแรกค่อนข้างบาดคอ บาดปาก  แต่เมื่อทิ้งไว้สักชั่วโมง  อาการบาดคอก็ค่อยๆอ่อนลง

               แต่กลิ่นสาบของจุกคอร์กก็ยังคงอยู่จนกระทั่งหมดขวด

               แม้ว่าจะเป็นบรั่นดีเก่าเก็บมากๆ  แต่การเก็บในขวดแก้ว ก็ไม่เหมือนกับการบ่มในถังไม้โอ๊ค  ซึ่งบรั่นดีจะพัฒนารสชาติของตัวเองไปตลอดเวลา   แต่เมื่อบรรจุในขวดแล้ว  การบ่มรสชาติก็จะน้อยลงไปจนแท้จะไม่ได้บ่มเลย  

               จากคำบอกว่าของ คุณเช็ง  ขวดที่สองที่เป็นอาร์มาญัคแน่นอน  แต่น่าแปลกใจว่า ทำไมฉลากที่ปิดอยู่บนขวดจึงระบุว่าเป็น คอนญัค

               อาจเป็นเพราะ  ในยุคนั้นผู้นำเข้าคงจะไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องชื่อเท่าไหร่นัก  จึงระบุเอาไว้บนฉลาดว่าเป็น “คอนญัค”  แทนที่จะเป็น อาร์มาญัค

               ขวดนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปี  เพราะหลังจากนั้น  นักดื่มไทยก็เริ่มจะแยก คอนญัค และ อาร์มาญัค ออกอย่างชัดเจนแล้ว


(เฮนเนสซี่ XXO ขวดนี้ให้ทั้งความหอม และ ความละมุนละไมของรสชาติสมราคาไม่ตกหล่น  ตามความเห็นของผม น่าจะเหนือกว่า คอนญัค LOUIS XIII ของ REMY MARTIN ด้วยซ้ำ ) 

               บรั่นดีทั้งสองขวดนี้   ราคาคงไม่ค่อยเป็นมิตรกับกระเป๋าเท่าไหร่นัก  แต่ถ้าหากให้ผมเลือกจากรสชาติที่ดื่ม และราคาที่น่าจะไม่ห่างกันนัก   ผมเลือก HENNESSY XXO มากกว่าครับ

               ที่สำคัญก็คือ  ราคาของ XXO สมน้ำสมเนื้อกับรสชาติของมันทีเดียวครับ

               ปิดท้ายก็ต้องขอขอบคุณเพื่อนเช็ง CONNOISSEUR ผู้พิสมัยในรสชาติอาหารและเครื่องดื่ม จนถึงกับลงมือเปิดร้านอาหารเอง  ชื่อ “ร้านนายเช็ง” ในซอยงามวงศ์วาน 27 ที่ทำให้ผมได้มีโอกาสทดลองเครื่องดื่มระดับโลกที่หายาก  ยากถึงขนาดว่า   มีเงินยังหาซื้อไม่ได้ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .