วิชาการตลาด ที่ลอกจากคัมภีรอุปนิษัท(ตอน2-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 มิถุนายน 2564)

วิชาการตลาด ที่ลอกจากคัมภีรอุปนิษัท(ตอน2-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนจะพูดถึงหลักวิชาการตลาดของตะวันตก  ผมขอนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ในช่วงที่อังกฤษเริ่มเข้ายึดครองอินเดีย ด้วยการใช้บริษัท อินเดีย ตะวันออก (EAST INDIA COMPANY) ซึ่งเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1600 เป็นหัวหอกในการบุกยึด

               หลังจากเริ่มครอบงำอินเดียเอาไว้ได้เกือบจะครบถ้วนแล้ว  อังกฤษก็ตั้ง สมาคมเอเชียติค ในปีค.ศ. 1784 โดยเซอร์ วิลเลี่ยม โจนส์ ที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น


(สมาคม เอเชียติค ในกอลกัตตา ในปัจจุบัน)

               นอกเหนือจากอินเดียแล้ว   อังกฤษยังตั้งสมาคมเอเชียติค ในหลายประเทศ  เช่น ญี่ปุ่น  เพื่อที่จะรวบรวมความรู้ ภูมิปัญญา ปรัชญา  และ ความเป็นไปของประเทศต่างๆ และ ภูมิภาคนั้นๆ และ ภูมิภาคโดยรอบ เพื่อส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษ

               ชาวอังกฤษจึงเริ่มศึกษาปรัชญา ความรู้  การศึกษา ของ อินเดีย อย่างลึกซึ้งตั้งแต่นั้นมาไม่น้อยกว่า 200 ปีแล้ว  

               คัมภีร์อุปนิษัท ถือเป็นคัมภีร์ของศาสนาฮินดูที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง  และอาจจะถือได้ว่า  เป็นจิตวิญญาณหลักของศาสนาฮินดูเลยก็ว่าได้  สันนิษฐานว่าเขียนในยุคพุทธกาล หรือ ประมาณ 2500 ปีที่แล้ว ต่อเนื่องเรื่อยลงมาจนถึงประมาณ 500 ปีที่แล้ว


(คัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งได้รับการแปลเป็นไทยด้วย)

               ในทั้งหมด 108 คัมภีร์อุปนิษัท  มีบทสวดอยู่บทหนึ่ง เรียกว่า ทริติยา อุปนิษัท , ชิคชาวาลี 1, 11.2 (TAITTIRIYA UPANISHAD SHIKSHAVALLI 1 , 11.2)  ได้เขียนเอาไว้ว่า 

MATRUDEVO  BHAVA ,  PITRUDEVO  BHAVA , ACHARYADEVO BHAVA , ATITHIDEVO BHAVA  อ่านโดยประมาณว่า  มาทรูเดโว  บาห์วา  ,  ปิตรูเดโว บาห์วา  ,  อัจชาร์ยาเดโว บาห์วา , อะทิติเดโว บาห์วา


(วยาสา (VYASA) นักพรตที่เชื่อว่า เป็นผู้รจนาคัมภีร์อุปนิษัท)

               ความหมายตามตัวอักษร ก็คือ “จงเป็นบุคคลที่มารดาเป็นเทพเจ้า ,  จงเป็นบุคคลที่บิดาเป็นเทพเจ้า  , จงเป็นบุคคลที่ ครูเป็นเทพเจ้า , จงเป็นบุคคลที่ แขกผู้มาเยือนเป็นเทพเจ้า”

               หากสรุปหลักการสำคัญของคัมภีร์อุปนิษัท บทนี้แล้ว ก็จะได้ความหมายถึง  การให้ความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่  บรรพบุรุษ  ผู้มีพระคุณ  ไม่ว่าเป็น พ่อแม่ครูบาอาจารย์

               เป็นการอบรมสั่งสอนให้ชาวฮินดูรู้จักพระคุณของคนรุ่นก่อน  จะว่าไปก็เหมือนกับแนวคิดของ ขงจื่อ ในประเทศจีน  ที่สอนให้เคารพบรรพบุรุษ  ผู้อาวุโส  ผู้มีพระคุณ  อันเป็นรากฐานแนวความคิดของวัฒนธรรมจีนก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ. 1949 


(สุสานของ ขงจื่อ ในมณฑลซานตง ของประเทศจีน)

ขงจื่อ  มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธ

หลักการทั้งสามหัวข้อแรกก็คือ  การสอนให้สำนึกในบุญคุณ  และ มีน้ำใจโอบอ้อมอารี  แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อที่ 4  จงเป็นบุคคลที่แขกผู้มาเยือนเป็นเทพเจ้า  เป็นการสอนให้เจ้าบ้านปฎิบัติต่อแขกผู้มาเยือนด้วยความเคารพ ซึ่งอยู่สูงกว่าการเอื้ออารี

คำสอนของศาสนาฮินดูสอนถึงรายละเอียดในการต้อนรับแขกผู้มาเยือนเอาไว้ว่า  ต้องทำการบูชาด้วยของ 5 อย่าง เรียกว่า ปัญโชปชารา บูชา(PANCHOPCHARA PUJA) ซึ่งตัดทอนให้สั้นลงจาก SHODASHA UPACHARA อันเป็นการบูชาแบบหรูหรา 16 ขั้นตอน

               ข้อแรกก็คือ เครื่องหอม(DHUPA) หรือที่คนไทยเรียกว่า ธูป  ที่จะสร้างความประทับให้แก่แขกผู้มาเยือนเป็นลำดับแรก


(ตะเกียงแบบโบราณ ที่ยังคงใช้งานในปัจจุบันในอินเดีย)

สอง คือ ตะเกียง(DIPA) ที่คนไทยเรียก ประทีป  ซึ่งก็คือตะเกียงดินเผาใช้น้ำมันเนยเป็นเชื้อเพลิงจะวางอยู่ระหว่างเจ้าบ้านและแขก  เพื่อว่า  ทั้งคู่จะสามารถเห็นกิริยาท่าทางของแต่ละฝ่ายได้อย่างชัดเจน  เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิด  

               ข้อที่สาม  คือของกิน(NAIVEDYA) ที่เจ้าบ้านจะต้องเตรียมไว้ต้อนรับ  เช่น ผลไม้  และของหวานที่ทำด้วยนม ความหมายตามตัวหนังสือ NAIVEDYA  แปลว่า สิ่งของที่ถวายแด่เทพพระเจ้า

ข้อที่สี่ คือข้าวสาร(RICE) ที่จะนำมาแต้มที่หน้าผากของแขก คู่กับสีแดงที่เรียกว่า ติลัค  ชาวฮินดูถือว่า  เมล็ดข้าว เป็นพื้นฐานของการดำรงชีพ  และ  เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่มีจิตวิญญาณอันสูงส่งสถิตอยู่

ชาวฮินดู นับถือว่า  ข้าวสารสามารถขับไล่วิญญาณชั่วร้ายได้  จึงถูกนำมาใช้ในพิธีแต่งงาน ซึ่งถือว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์  วัฒนธรรมไทยได้รับความเชื่อดังกล่าวมาใช้เป็นข้าวสารเสกเพื่อซัดใส่ผี หรือ วิญญาณร้าย 

ข้อที่ห้า คือ ดอกไม้(PUSHPA) หรือ บุษบา   เป็นสัญลักษณ์แห่งความปรารถนาดี เมื่อผู้มาเยือนกลับไปแล้ว  ดอกไม้จะเป็นความทรงจำที่ดีไปอีกนาน

               หัวใจของการตลาดสมัยใหม่ก็คือ  การบริการ  ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทร เป็นหลัก   แนวคิดทางการตลาดเหล่านี้เองที่ชาวตะวันตกได้ลอกไปจาก คัมภีรอุปนิษัท แล้วนำไปปรับเปลี่ยนชื่อ  และ  เปลี่ยนข้อความเสียใหม่  จนกลายเป็นศาสตร์ที่ดูเหมือนลึกลับ และ ยิ่งใหญ่ที่ชาวตะวันตกเป็นผู้คิดค้น

               ทั้งๆที่  ชาวฮินดูเรียนรู้ศาสตร์นี้มานานนับพันปีแล้ว

               คำว่า นมัสเต(NAMASTE) ที่ชาวอินเดียกล่าวต้อนรับนั้น  แปลว่า  ข้าฯขอค้อมศรีษะเคารพต่อเทพเจ้าที่อยู่ในตัวท่าน  และคำว่า  นารา นารายัน เชวา (NARA NARAYAN SEWA) ที่ชาวฮินดูมักพูดเมื่อช่วยเหลือคนอื่น  แปลว่า  ข้าพเจ้ารับใช้ หรือ ช่วยเหลือท่านในฐานะที่ท่านเป็นเทพวิษณุ

               “ลูกค้า คือ เทพเจ้า”  จึงไม่ใช่ความคิดของชาวตะวันตก  หากแต่เป็นของชาวฮินดูโบราณ

               ถ้าหากยังจำคำกล่าวในวัฒนธรรมไทยที่ว่า “ใครมาถึงเรือนชาน ต้องต้อนรับ”  นี่คือปรัชญาไทยที่รับมาจากวัฒนธรรมฮินดู   จนทำให้ความเอื้ออารีของคนไทยได้รับการยกย่องไปทั่วโลกจนทุกวันนี้  

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .