ชาวอินเดียรบชนะโควิด 19 อย่างไร

ชีวิตเป็นของมีค่า

ชาวอินเดียรบชนะโควิด 19 อย่างไร

โดยเสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด 19 ระบาดระลอก 2 ในประเทศอินเดีย  และเป็นการระบาดครั้งร้ายแรงมาก   จำนวนผู้ติดเชื้อจากเดิมที่มีแค่หมื่นคนเศษต่อวันพุ่งขึ้นไปที่ 4 แสนคนต่อวันอย่างทันทีทันใด  เป็นผลจากฉลองเทศกาลใหญ่ 2 เทศกาลติดต่อกัน

               มิพักต้องพูดถึงจำนวนผู้เสียชีวิต ที่เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งสถานที่เผาศพไม่เพียงพอ


(สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของการระบาดของโควิด 19 ก็คือ เทศกาล กุมภ์ เมลา)

               แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564   กลับลดลงอย่างไม่น่าเชื่อจนต่ำประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน  และจำนวนผู้เสียชีวิตลดเหลือประมาณ 2 พันเศษต่อวันเท่านั้น

               รัฐบาลอินเดียทำได้อย่างไร

               บังเอิญผมมีประสบการณ์ร่วมกับเพื่อนชาวอินเดีย ที่เมืองกอลกัตตา ที่โชคร้ายติดโควิค19 ทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก 3 คน  ทั้งๆที่ตัวเขาเองเพิ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มาครบ 14 วันแล้ว

               ซ้ำร้ายครอบครัวของพี่ชายของเขาก็ยังติดเชื้อเข้าไปอีก ที่น่าหวาดเสียวก็คือ  พี่ชายของเขาบังเอิญเป็นโรคปอดเรื้อรังด้วย  เป็นสถานการณ์ที่แสนจะบีบคั้น และ หดหู่ใจมาก  ทุกคนจะต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน  เพราะโรงพยาบาลไม่มีเตียงว่าง  


(MR.SWAPAN GUNGULI และ ANUSHKA ลูกสาวที่ผ่านวิกฤติโควิด ครั้งนี้มาได้)   

               ผมมีโอกาสพูดคุยรับทราบความเป็นไปของเขาตั้งแต่เริ่มติดโควิด จนกระทั่งรักษาหาย  จึงขออนุญาตเขาเอาเรื่องราวของเขามาเล่าต่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกัน

               เผื่อจะเป็นแนวทางในการรักษาด้วยตัวเอง  หากเกิดติดโควิด  และ โรงพยาบาลไม่สามารถรับตัวไปรักษาได้

               เพื่อนผมอาศัยอยู่นอกเมืองที่แออัดของ กอลกัตตา อากาศค่อนข้างโปร่ง  แต่วันหนึ่ง  เพื่อนบ้านสูงอายุก็ติดโควิด 19  จากลูกชายที่ทำงานต่างจังหวัด หลังจากนั้นไม่กี่วัน  เขาก็เสียชีวิต


(บรรยากาศในบริเวณบ้านของเพื่อนผม)

               ไม่กี่วันต่อมา  เขาก็มีอาการเจ็บปวดตามข้อต่อต่างๆ  ไข้ขึ้นสูงมากเกิน 100 ฟาเรนไฮต์ หรือ เกิน 38 องศาเซลเซียส   เขาทานยาพาราเซตตามอล (PARACETAMAL) ขนาด 650 มิลลิกรัมทุกๆ 7 ชม  อาการไข้ลดลงชั่วคราว แล้วก็กลับขึ้นมาใหม่  เขาจึงเพิ่มยาเป็น 1000 มิลลิกรัม  เพื่อคุมไข้ไม่ให้สูงเกิน 100 องศาฟาเรนไฮต์

จากนั้น  การรับรู้ทางจมูก และ ลิ้นเริ่มเสียไป

เป็นช่วงเวลาที่เขายอมรับว่า  จิตตก  ท้อแท้อย่างมาก  เพราะคิดว่า  คงจะติดโควิดแล้ว    

เขาจึงโทรหาห้องแล็บตรวจโรคเพื่อให้มาตรวจหาโควิดที่บ้าน  หลังจากตรวจเชื้อ 2 วัน  กระทรวงสาธารณสุขของรัฐเบงกอลตะวันตก ก็รายงานให้เขาทราบทางโทรศัพท์ว่า   เขาติดโควิด 19 พร้อมกับขอให้เขากักตัวอยู่แต่ในบ้าน  ให้ทานยาที่หมอจะสั่งให้ 

และยังบอกว่า  เขาจะหายเป็นปกติภายใน 7 วัน

เนื่องจากอินเดีย ปกครองด้วยระบบสาธารณรัฐ   ดังนั้น  แต่ละรัฐจึงมีระบบการบริหารงานภายในที่เป็นอิสระของตนเอง  เช่น  ระบบสาธารณสุขที่พูดถึงอยู่นี้

เมื่อผลการตรวจของเขาระบุว่า  เขาติดโควิด  ชื่อ  ที่อยู่  เบอร์โทรศัพท์ของเขา ก็เข้าไปอยู่ในระบบสาธารณสุขของรัฐ  หมอจึงพร้อมที่จะติดต่อให้คำแนะนำแก่เขาในทันที

เขายังไม่ค่อยแน่ใจคำพูดของหมอจากกระทรวงสาธารณสุข  จึงไปหาหมอที่คลีนิคเพื่อตรวจซ้ำอีกครั้ง  ซึ่งผลตรวจที่ได้ก็เช่นเดียวกัน  หมอที่คลินิคได้ออกใบสั่งยาให้เขาไปหาซื้อยา  และแนะนำวิธีการปฎิบัติตัวให้เขา


(ใบสั่งยาของหมออินเดีย ซึ่งละเอียดมาก ด้านซ้ายจะมีรายละเอียดของการตรวจร่างกายของผู้ป่วยด้วย)

ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของการรักษาโควิดของเพื่อนผม  ผมขอพูดถึงไวรัส โควิด 19 เสียก่อน

มนุษย์มีศัตรูร้ายที่คอยทำร้ายเราแบบที่เรามองไม่เห็นประมาณ 4 แบบใหญ่ด้วยกัน เรียกว่า MICROBES  หรือ  MICRORGANISM  ประกอบด้วย  ไวรัส ,  แบคทีเรีย ,  ฟังกัส ประเภทเชื้อราต่างๆ  และ  พาราไซต์ เช่น พยาธิ

โควิด 19 เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มุ่งทำร้ายระบบทางเดินหายใจ  จากนั้น มันก็จะตรงไปที่ปอด  หัวใจ  และ  ลงไปที่กระเพาะอาหาร  และ  ไต

เหยื่อหลักของไวรัสโควิดก็คือ คนที่เป็นโรคที่วินิจฉัยร่วม หรือ โรคเรื้อรัง (COMORBIDITY)  คือคนที่มีโรคคุกคามในตัวอยู่ก่อนแล้ว  เช่น  เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  ไตวาย และ โรคปอดเรื้อรัง (CHRONIC OBSTRUCTIVE PULMONARY DISEASE  หรือ COPD)

อันตรายที่สุดของไวรัสโควิด ก็คือ  ปอดจะลดการทำงานจนถึงขั้นหยุดทำงาน  หายใจไม่ได้เอง  ยังผลให้ระดับอ๊อกซิเจนในเลือดต่ำจนเกินไป  ทำให้เกิดโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย  และเสียชีวิต

นี่คือสมมติฐานของโลก

เราจะมาดูวิธีการรักษาอาการติดเชื้อโควิดของหมออินเดีย  โดยผ่านทางใบสั่งยาของหมอจากคลินิค  ซึ่งตรงกับใบสั่งยาของหมอจากกระทรวงสาธารณสุข   

การควบคุมโควิดของสาธารณสุขอินเดียถือว่า  มีประสิทธิภาพสูง  กล่าวคือ  หมอจากกระทรวงฯ จะใช้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้ป่วย และ  หมอจะเป็นฝ่ายโทรมาหาผู้ป่วยวันละ 2 ครั้ง  เพื่อติดตามสอบถามอาการอย่างใกล้ชิด  

ย้ำว่า   หมอเป็นฝ่ายโทรหาผู้ป่วย  ไม่ใช่ผู้ป่วยโทรหาหมอ

ยาที่หมอสั่งให้เพื่อนผมก็คือ  ด๊อกซี่ไซคลีน (DOXYCYCLINE)  ซึ่งเป็นยารักษาโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย  เช่น  หลอดลมอักเสบและบวม  ไซนัสอักเสบ  แต่ยาด๊อกซี่ไซคลีนที่หมอสั่งนี้  ได้เพิ่มตัวยาพิเศษคือ LB เข้าไป 

LB ก็คือ แบคทีเรีย แบคโตบาซิลัส (LACTOBACILLUS) ซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  หมออินเดียได้ลงความเห็นแล้วว่า  การให้ LB คู่กับ ด๊อกซี่ไซคลีน จะให้ผลในการรักษาที่ดีกว่า

ยาตัวที่สองที่หมอสั่งก็คือ MONTELUKAST และ/หรือ LEVOCETIRIZINE ซึ่งเป็นยารักษาโรคเยื่อจมูก และ เยื่อตาอักเสบจากอาการภูมิแพ้  อาการคัน หรือ  อาการลมพิษ

ยาตัวที่สาม คือ IVERMECTIN  เป็นยาฆ่า MICROBES ซึ่งก็คือ  พยาธิ หรือ ปรสิต หรือ  สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆในร่างกายโดยเฉพาะ  

แต่จากที่ได้อ่านจากบทความในประเทศไทยระบุว่า  มีการใช้ยาตัวนี้กับสุนัข  หรือ สัตว์เลี้ยง  จึงดูเหมือนว่า   คนไทยจะไม่ค่อยเชื่อถือในตัวยาตัวนี้นัก  

แต่ทำไม  หมออินเดียจึงใช้กับคนไข้โควิด

เรื่องนี้ได้รับข้อมูลจากข่าวสารในอินเดียว่า  หากร่างกายได้รับอ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ หรือ ต่ำเกินไป  เซลล์ในร่างกายจะอ่อนแอลง  เมื่อร่างกายอ่อนแอ  พยาธิ  หรือ ปรสิต ก็จะแข็งแรง และ ออกมาทำร้ายอวัยวะภายในของมนุษย์ทันที  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ระบบประสาทตรงบริเวณหน้าผาก  และ  ดวงตา  ยังผลทำให้ประสาทการทรงตัวเสียหายได้  


(นักร้องดัง PAROMA BANERGI ผู้โชคร้าย  ขอภาวนาให้เธอผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ไปได้)

มีข่าวในอินเดียระบุว่า  PAROMA BANERGI นักร้องดังคนหนึ่งโชคร้ายติดโควิดเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้เธอสูญเสียการมองเห็น  เมื่อหมอตรวจดูก็พบว่า  มีปรสิตไปทำร้ายดวงตาของเธอ อันเป็นผลจากไวรัสโควิด19

หมอบอกว่า  เธออาจจะสูญเสียการมองเห็นไปสัก 3 เดือน หากโชคดี   หรือ  อาจจะตลอดไป

หมอให้ยา IVERMECTIN แก่เพื่อนผม  และให้ทานเพียงวันละเม็ด เพียง 4-5 วันเท่านั้น ห้ามทานนานกว่านี้  เพราะยาตัวนี้จะช่วยฆ่า โปรโตซัว (PROTOZOA) เช่น พยาธิตัวเล็กๆ ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ


(โปรโตซัว หลายชนิด)

หมอยังให้ทานวิตามิน ซี  และ  สังกะสี (ZINC) ซึ่งช่วยฟื้นฟูปัญหาในเรื่องรับรู้กลิ่น และ  รสชาติที่ถูกทำลายไป  และ ช่วยแก้ปัญหาภูมิคุ้มกันที่ลดลง  และ  ยังช่วยให้การทำงานของเอ็นไซม์ในร่างกายกว่า 200 ชนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ยาอีกชนิดหนึ่งที่หมอได้สั่งไว้ก็คือ DOMPERIDONE ซึ่งเป็นยาแก้การอาเจียร หรือ  คลื่นไส้

หมอกำชับให้ดื่มน้ำวันละ 4 ลิตร เน้นเป็นน้ำอุ่น  ซึ่งอาจจะใส่ขิงและมะนาวลงไปด้วยก็ได้   ทานไข่วันละ 2 ฟอง  ทานซุปไก่ร้อนๆ  ทานผลไม้สด  ฟังดนตรีเบาๆที่ช่วยคลายเครียด

นอกจากนี้  ยังให้อบไอน้ำที่ใบหน้าด้วยมินต์ หรือ การะบูน เพื่อช่วยให้การหายใจดีขึ้น 

ตลอดเวลาที่อยู่ที่บ้าน   หากเขาต้องการยาเพิ่ม  หรือ  ต้องการจะจ่ายตลาดหาซื้อของกินของใช้  ก็จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เช่นพวกมอเตอร์ไซด์ ที่เป็นอาสาสมัคร คอยออกไปซื้อให้  โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แต่คนไข้ต้องจ่ายค่ายาเอง  


(ศาสตร์แห่งโยคะ ของอินเดียนั้น มีความสำคัญมาก จนกระทั่งมีวัน โยคะนานาชาติ ในวันที่ 21 มิถุนายน  สำคัญขนาดที่นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาร่วมพิธีด้วย)

และสุดท้าย   หากคนไข้เกิดอาการระดับอ๊อกซิเจนในเลือดลดต่ำมาก   หมอได้แนะนำวิธีการเพิ่มอ๊อกซิเจน ด้วยวิธีโยคะ  ซึ่งมีอยู่มากมายหลายวิธี   แต่วิธีที่หมอแนะนำเพื่อนผมก็คือ

ให้นอนคว่ำหน้าบนเตียง เอียงหน้าไปทางด้านใดด้านหนึ่ง  แล้วเอาหมอนอันหนึ่งสอดไว้ที่บริเวณหน้าท้อง   อีกอันหนึ่งวางไว้ที่ใต้หัวเข่า   แค่นี้ก็จะช่วยทำให้เพิ่มระดับอ๊อกซิเจนในเลือดได้แล้ว

ด้วยวิธีการรักษาแบบนี้   ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่หายเป็นปกติของอินเดียมีอัตราสูงถึง 97 เปอร์เซนต์ทีเดียว

เป็นช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่โหดร้ายสำหรับครอบครัวของเพื่อนผมอย่างมาก  แต่ก็ยังโชคดีที่ทุกคน รวมทั้งพี่ชายของเขาที่มีอาการป่วยทางปอดเรื้อรังหายเป็นปกติ   น่าจะเป็นเพราะ  ได้รับการรักษาทันเวลา

ผมหวังว่า  การถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้ที่สามารถพิชิตโควิด 19 มาได้แม้จะไม่ได้รักษาในโรงพยาบาลก็ตาม  จะเป็นประโยชน์ต่อการเอาตัวรอด  ในช่วงวิกฤติที่ห้องในโรงพยาบาลอาจจะไม่พอ

หากศัพท์ทางวิชาการจะผิดพลาดไปบ้าง  ก็ต้องขออภัยครับ

ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.