ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน7)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 สิงหาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน7)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เชื่อมั้ยครับว่า  อินเดียเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางการเมืองมากที่สุดในโลก  มากกว่าแม้กระทั่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถือกันว่า  เป็นต้นแบบของประชาธิปไตยด้วยซ้ำ  

               ท่านผู้อ่านอาจจะไม่เชื่อ  ผมจะเล่าต่อนะครับ

               ในช่วงเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งของประเทศต่างๆทั่วโลก  ต่างฝ่ายต่างก็พยายามบอกว่า  ตนเองดีอย่างไร  และ  ฝ่ายตรงข้ามไม่ดีอย่างไร  และ  จะคิดหาวิธีกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ที่มีคณะกรรมการควบคุมการเลือกตั้ง หรือ  กกต.  ที่เข้มงวด และ เคร่งครัดมากคอยเฝ้ามองอยู่

               แต่เชื่อมั้ยครับว่า  กกต. ของอินเดีย ผู้คุมการเลือกตั้ง จะไม่ว่าอะไรเลย  หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขึ้นเวทีหาเสียงปราศรัยด่าอีกฝ่ายหนึ่งว่า  โชร์(CHOR)  ซึ่งแปลว่า  โจร


(นาง มามตา เบอร์นาจี)

               ล่าสุด  ในการรณรงค์เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐเบงกอลตะวันตก เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่นางมามตา เบอร์นาจี  จากพรรคท้องถิ่น TMC กับพรรค BJP ที่มีผู้นำชื่อ นายนเรนทรา โมดี เป็นคู่แข่งกัน

               ปกติการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองของอินเดีย ก็มักจะดุเดือดเข้มข้นอยู่แล้ว  เพราะคนอินเดียค่อนข้างจะ “อิน” กับเรื่องการเมืองพอสมควร

               แต่คราวนี้  เป็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าของตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารรัฐคนเดิม คือ นางมามตา เบอร์นาจี  กับ พรรคของผู้ท้าชิงซึ่งมีศักดิ์ศรี และ แต้มต่อที่ดูดีกว่า  เพราะ นายนเนทรา โมดี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียอยู่


(นาย นเรนทรา โมดี)

               นางมามตา เบอร์นาจี ได้ปราศรัยด่านายโมดีว่า  เป็นโจร

               ถ้าเป็นเมืองไทย ก็คงจะมีการตัดสิทธิ์การลงสมัครผู้แทน  หรือ  มีการฟ้องร้องกัน  แจ้งความจับกันพัลวันแล้ว 

               แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่ กอลกัตตา เมืองหลวงของ รัฐเบงกอลตะวันตก  หรือ  ไม่ว่าจะรัฐไหนๆก็ตามในอินเดีย   เพราะ กกต. ของอินเดียถือว่า   การปราศรัยใครเป็นโจร  ถือเป็น “ทัศนคติ” ของผู้นั้นที่มีต่ออีกคนหนึ่ง  เขาไม่จำเป็นจะต้องมีทัศนคติว่า  อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนดี  เป็นพระ  เป็นผู้เสียสละ  เหล่านี้เป็นต้น


(ตราสัญลักษณ์ของ กกต. ของอินเดีย)

               หากฝ่ายที่ถูกเรียกว่าเป็นโจรไม่พอใจต่อการพูดกล่าวหานี้   ก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลเป็นผู้พิจารณาได้ 

               แต่ กกต.  จะไม่ใช้การปราศรัยนี้ไปตัดสิทธิ์ ผู้พูดออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแน่นอน

               เชื่อมั้ยครับว่า   นายกฯ นเรนทรา โมดี ก็ไม่ได้แต่งทนายไปฟ้องร้องต่อศาลแต่อย่างใด  ซึ่งถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย   แน่ๆก็คือ   จะมีการไปแจ้งความตามโรงพัก และ ฟ้องร้องต่อศาลในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศแน่นอน


(การแข่งขันของสองพรรคในรัฐ เบงกอล ตะวันตก)

               ซ้ำร้าย  ยังอาจจะถูกฟ้องร้องในคดีนำข้อความใส่ร้ายขึ้นสู่ระบบอินเตอร์เน็ต  ที่มีโทษหนักหนาสาหัสกว่าคดีธรรมดาเข้าไปอีก

               แม้ว่า  กกต. ของอินเดีย จะค่อนข้างผ่อนปรนในเรื่องการหาเสียงค่อนข้างจะมาก   ซึ่งจะว่าไปแล้ว มากๆๆๆๆ เอาทีเดียวในสายตาของคนต่างชาติ   แต่สิ่งที่ กกต. รับไม่ได้ และจะต้องลงโทษในทันทีทันใดก็คือ

               การกล่าวอาฆาตมาตร้ายต่อคู่แข่งทางการเมือง  ทั้งโดยตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจก็ตาม

               เช่นพูดว่า  อยากให้ไอ้ เ-ย นี้ ตายจริงๆ   หรือ  ไม่อยากเห็นมันมีชีวิตอยู่  เป็นต้น 

               ถ้าพูดแบบนี้  และมีการนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อ  กกต.  เขาผู้นั้นจะถูกลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์ในการลงเลือกตั้งทันที

               การเลือกตั้งครั้งที่ล่าสุดเดือนพฤษภาคมระหว่าง มามตา เบอร์นาจี เจ้าของตำแหน่งเดิม กับ  พรรคของนายนเรนทรา โมดี  ผลปรากฎว่า  พรรค TMC ของ นางมามตา เบอร์นาจี เป็นฝ่ายชนะได้เสียงข้างมากของสภาท้องถิ่นของรัฐเบงกอล

               เข้าใจว่า  กกต. ของอินเดีย คงต้องการให้ประชาชนเป็นผู้เรียนรู้ระบบประชาธิปไตย  และ  ตัดสินเอาเองว่า  จะเชื่อคำพูดใครระหว่างผู้สมัครสองคน  แล้วไปลงคะแนนเลือกผู้ที่เขาเชื่อถือในคูหาลงคะแนน

               เรื่องนี้  อาจจะขัดกับความรู้สึกของคนไทยสักหน่อย   แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบอินเดีย  ที่ได้รับการยอย่องว่า  เป็นชาติประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก

               แต่ยังมีกรณีแบบนี้อยู่อีก  ซึ่งสนุกกว่า  และ  ตัวแสดงก็ระดับบิ๊ก เพราะเป็นเรื่องระหว่าง นายราจีฟ คานธี กับ นาย วิศวนาถ ประตาป ซิงก์ 

               รออ่านในสัปดาห์หน้านะครับ  

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .