จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 กันยายน 2564)

จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน3)

โดย               เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

ช่วงเวลาของเทศกาล รถะ ยาตรา ในอินเดียนั้น  จะอยู่ในเดือนกรกฎาคม ตามปฎิทินแบบเกรกอเรียน ซึ่งจะตรงกับฤดูมรสุมของอินเดียพอดี  ดังนั้น เช้าวันแรกของเทศกาลดังกล่าว  จึงมักจะมีฝนโปรยปรายลงมาเสมอ

แต่ว่ากันว่า  ในวันที่เคลื่อนขบวนราชรถทั้งสามนั้น  ตั้งแต่ในอดีตเป็นต้นมาไม่เคยปรากฎมีฝนตกลงมาเลย  ทำให้ชาวฮินดูผู้มีศรัทธาต่อ เทพจักกานนาถ เชื่อว่า  เป็นอภินิหารของพระองค์ท่าน  


(วิหารจักกานนาถ แห่งปูรี รัฐโอดิสสา)

หลังจากอัญเชิญเทพเจ้า 3 องค์ขึ้นประทับในราชรถเรียบร้อย  ขบวนจะค่อยๆเคลื่อนตัวออกไปอย่างช้าๆด้วยแรงศรัทธาของชาวฮินดูที่ช่วยกันลากจูงด้วยเชือก ที่มีชื่อเรียกว่า  ชังกาห์ชุดา(SHANKACHUDA)

ในเวลาปกติ  ทางวิหารปูรี จะทำอาหารจำนวนมากมายนับหมื่นชุดเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมงาน  แต่เนื่องจากปีนี้ (พ.ศ.2564)  เป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโควิด 19 อย่างหนัก   เขาจึงอนุญาตให้คนมาร่วมในการดึงเชือกน้อยที่สุด  รวมทั้งห้ามทำอาหารบุญเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงานด้วย

ระหว่างทางจะมีผู้ศรัทธาออกมาทำการเคารพกราบไหว้ต่อเทพเจ้าทั้งสาม    ดังนั้น  กว่าที่ขบวนรถทั้งสามองค์จะไปถึงวิหารกันดิชา ก็เป็นเวลาเย็นแล้ว 


(วิหารกันดิชา เป็นวิหารที่ดูเรียบง่ายมาก) 

ขบวนรถจะเคลื่อนเข้าไปในวิหารโดยใช้ประตูทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งก็คือประตูด้านหลังนั่นเอง   จากนั้นก็ไปจอดรอเอาไว้ในบริเวณวิหาร

               รูปเคารพของเทพทั้งสามจะประดิษฐานอยู่ในราชรถตลอดคืน  กระทั่งรุ่งเช้า  จึงจะอัญเชิญเข้าไปในวิหาร และ ประทับอยู่ในวิหารไปตลอด 7 วัน  เพื่อให้ชาวฮินดูที่เคารพต่อเทพจักกานนาถ และ พระกฤษณะ ได้เข้าไปกราบไหว้บูชา

               ชาวฮินดูเชื่อกันว่า  ในวันที่ 4 ของเทศกาล รถะ ยาตรา  ตรงกับวัน ฮีรา ปัญจามิ(HERA PANCHAMI) ซึ่งก็คือ  วันขึ้น 5 ค่ำ   พระแม่ลักษมี  มเหสีของ เทพจักกานนาถ จะเข้าไปในวิหารกันดิชา เพื่อพบกับ สวามีของพระแม่

               เทพ และ เทพี ทั้งสองจะอยู่ด้วยกันในวิหารเสมือนเป็นการฮันนีมูน  จนกระทั่งวัน DASHAMI SHUKLA หรือ วันขึ้น 10 ค่ำ ตามปฎิทินฮินดู  ตรงกับวันที่ 19 กรกฎาคม 2564  จะมีการอัญเชิญรูปเคารพของเทพเจ้าทั้งสามองค์กลับมาขึ้นมาบนราชรถอีกครั้ง  จากนั้น  ราชรถทั้งสามก็จะถูกลากกลับไปที่วิหาร จักกานนาถ ปูรี 


(เทพวัลลารัม  เทพี สุพัตตรา และ เทพจักกานนาถ)

               โดยในคราวนี้   ขบวนรถจะออกทางประตูทางทิศตะวันออก  ซึ่งเป็นประตูหน้า

               เมื่อขบวนไปถึงวิหารปูรี แล้ว   เทพทั้ง 3 องค์ ก็จะได้รับการอัญเชิญกลับเข้าไปในวิหาร  จากนั้น  เทพจักกานนาถ จะนอนหลับยาวนาน 4 เดือน

               หลังจากพิธี รถะ ยาตรา จบลง  ราชรถทั้ง สามคัน จะถูกนำไปรื้อถอน  และนำชิ้นส่วนของไม้ที่ประกอบขึ้นเป็นรถไปแจกจ่ายให้แก่บรรดาผู้เคารพเทพจักกานนาถ  เพราะถือว่า เป็นสิ่งมงคลตามศาสนาฮินดู 

               บางส่วนก็จะนำไปประมูลเพื่อนำเงินไปใช้ในการกุศล

               พิธี รถา ยาตรา ครั้งต่อไปในปีหน้าจะตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม ปีพ.ศ. 2565   ซึ่งก็คือ  วันขึ้น 2 ค่ำ ของเดือนอัษฎา (ASHADHA) ตามประเพณีที่เชื่อถือมาช้านาน

               ประเพณี รถะ ยาตรา ได้รับการเผยแพร่ออกไปหลายประเทศทั่วโลก  แทบจะทุกทวีปในโลก   ทั้งนี้โดยองค์กรที่เรียกว่า อีสคอน หรือ ISKCON  ที่ย่อมาจากคำว่า  INTERNATIONAL SOCIETY FOR KRISHNA CONSCIOUSNESS 


(ISKCON สำนักงานใหญ่ที่ มายาปูร์ รัฐเบงกอลตะวันตก)  

อีสคอน  ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966  ในนิวยอร์ค  และขณะนี้มีสาขาอยู่ทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศไทย โดยอิสคอน ที่เป็นสำนักงานใหญ่จะอยู่ที่เมือง มายาปูร์(MAYAPUR) รัฐเบงกอลตะวันตก  เป็นวิหารขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยมีนายอัลเฟรด  บี  ฟอร์ด(ALFRED B. FORD)  เหลนของ  นายเฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ฟอร์ด ของอเมริกา เป็นผู้บริจาคเงินสร้าง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  ผมจะนำท่านผู้อ่านเดินทางย้อนอดีตไปสู่ยุคอียิปต์โบราณ เพื่อชมพิธีกรรมที่คล้ายๆกับ พิธีรถะ ยาตรา ของฮินดู ครับ

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .