จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 กันยายน 2564)

จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน2)

โดย               เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               พิธีเฉลิมฉลองเทศกาลรถะ ยาตรา  เริ่มต้นตั้งแต่ตอนเช้าของวันขึ้น 2 ค่ำเดือน อัษฎา ตามปฎิทินของชาวฮินดู หรือ วันที่ 12 กรกฎาคม 2564  เริ่มด้วยการอัญเชิญรูปเคารพของ เทพจักกานนาถ , เทพวาลารัม(BALARAMA)พี่ชายของพระกฤษณะ  และ เทพีสุพัตตรา (SUBHADRA) น้องสาวของพระกฤษณะ  ออกมาจากวิหารจักกานนาถ ของเมืองปูรี แล้วนำไปประดิษฐานบนราชรถที่ตกแต่งอย่างสวยงาม 3 คันที่จอดรออยู่


(ราชรถ  ทั้งสามคัน ของ เทพ และ เทพี 3 องค์)

               ราชรถ ทั้ง 3 คันนี้  มีฐานเป็นทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 35 คูณ 35 ฟุต ความสูงจะแตกต่างกัน สร้างด้วยไม้ตระกูลสะเดา (NEEM)  ใช้เวลาสร้างนาน 2 เดือน

               สาเหตุที่เลือกใช้ไม้สะเดา ก็เพราะมีความเชื่อว่า ปลวกไม่สามารถกัดกินไม้สะเดาได้   เพราะสะเดาเป็นไม้ตระกูลเดียวกับไม้มะฮ๊อกกานี

               ราชรถทั้ง 3 คัน มีขนาดใหญ่เล็กลดหลั่นกันเล็กน้อย  คันที่ใหญ่สุดจะสูง 45 ฟิต และมี 16 ล้อ  เป็นราชรถสำหรับ เทพจักกานนาถ  ราชรถคันนี้มีชื่อว่า  นานดิโกชา

               ราชรถคันนี้  นอกจากจะตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามแล้ว  ที่โดดเด่นก็คือ กงจักร ที่เรียกว่า สุทัศนจักร (SUDARCHANA CHAKRA) ซึ่งเป็นอาวุธของพระวิษณุ


(เทพจักกานนาถ (ขวา)  เทพีสุพัตตรา (กลาง) และ เทพ  วาลารัม (ซ้าย) )

               ชาวฮินดูเชื่อว่า  จักกานนาถ เป็นอวตารในรูปแบบที่เหนือจริง ของพระกฤษณะ  และ พระกฤษณะ ก็คือ อวตารที่ 8 ของพระวิษณุ  ดังนั้น  จึงปรากฎกงจักรของพระวิษณุ ในราชรถของ เทพจักกานนาถ

               ราชรถคันที่สองมีขนาดเล็กกว่าคันแรกเล็กน้อย  คือ จะมีความสูงแค่ 44 ฟิต  และมี 14 ล้อ เป็นราชรถ สำหรับ เทพวาลารัม (BALARAMA)พี่ชายของพระกฤษณะ  ราชรถคันนี้มีชื่อว่า  ทาลาดห์วาจา 

               คันที่สามมีขนาดเล็กที่สุด คือมีความสูง 43 ฟิต และมี 12 ล้อ เป็นราชรถสำหรับ เทพีสุพัตตรา (SUBHADRA) น้องสาวของพระกฤษณะ  ราชรถคันนี้ มีชื่อว่า เดวาดาลานา 

               ราชรถทั้งสามคัน  จะมีเชือกผูกโยงให้ชาวฮินดูผู้มีจิตศรัทธามาร่วมใจกันลาก  แม้ว่า  ในอดีต  เชื่อกันว่าใช้ม้าในการลากก็ตาม

               เมื่อรูปเคารพทั้งสามถูกนำไปประดิษฐานในราชรถเรียบร้อยแล้ว  บรรดาผู้มีจิตอาสาในงานกุศลจำนวนมาก คัดเฉพาะบุคคลสำคัญของเมือง หรือ ผู้มีอุปการะคุณต่อวิหาร จะช่วยกันลากราชรถดังกล่าวตามกันไปเป็นขบวน  มุ่งหน้าไปยังวิหาร กันดิชา(GUNDICHA TEMPLE)

               เมื่อขบวนเริ่มเคลื่อน จะมีผู้มีจิตศรัทธาสูงส่ง และ  ผู้มีอุปการะคุณต่อวิหารในระดับสูง เดินนำหน้าขบวนรถแล้วช่วยกันใช้ไม้กวาด  ทำการปัดกวาดพื้นถนนก่อนที่ล้อของราชรถจะเคลื่อนมาถึง

               ตำนานกล่าวว่า  กษัตริย์ในอดีตจะเป็นผู้ทำหน้าที่กวาดพื้นถนนด้วยไม้กวาดทองคำ   ถือว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ และ เป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าอย่างสูงสุดด้วย

               เชื่อกันว่า  ใครก็ตามได้ทำหน้าที่นี้  จะได้บุญกุศลอย่างยิ่ง  


(ภาพจำลองจินตนาการรำลึกถึงกษัตริย์ในอดีตที่ใช้ไม้กวาดทองคำกวาดถนน)

               ถนนที่เชื่อมระหว่างวิหารจักกานนาถ กับ วิหารกันดิชา มีชื่อในภาษาสันสกฤติว่า  บาดา กันดา(BADA GANDA) แปลว่า  วิถียิ่งใหญ่(GRAND AVENUE) มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

               รูปแบบของสถาปัตยกรรมของวิหาร กันดิชา เป็นสไตล์ศิละปะที่เรียกว่า ศิลปะนาการา ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมวิหารฮินดูทางเหนือ  และเป็นรูปแบบที่ปรากฎในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นนครวัด ของเขมร หรือ ของไทย


(ครรภคฤห์  ส่วนที่มีสีเหลือง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานของเทพประจำวิหาร)

ที่น่าสนใจก็คือ   วิหารหลังนี้ตั้งอยู่ใจกลางสวนต้นไม้ที่ร่มรื่น  และไม่มีรูปเคารพของเทพเจ้าองค์ใดอยู่ภายในห้องศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า  ครรภคฤห์  หรือ  GARBHAGRIHA  ที่ปกติจะมีรูปเคารพของเทพเจ้าประจำวิหารสถิตอยู่ในห้องนี้

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมวิหารแห่งนี้จึงไม่มีเทพเจ้าประดิษฐานอยู่ภายใน   มันมีที่มาแน่นอน  แล้วผมจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไปครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .