วันไหว้พระจันทร์

สัพเพเหระ

วันไหว้พระจันทร์

โดย                       เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ 

วันนี้ (21 กันยายน 2564) ตรงกับเทศกาลที่ชาวจีนส่วนใหญ่ถือว่า  มีความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากวันปีใหม่ของจีน หรือที่เรียกว่า ตรุษจีน


เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ครับ

วันไหว้พระจันทร์ของจีน จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฎิทินจีน ซึ่งเป็นปฎิทินที่เรียกว่า สุริยจันทรคติ คือ อ้างอิงทั้ง การโคจรของพระอาทิตย์ ผสมกับ การโคจรของพระจันทร์

คล้ายๆกับแนวคิดของปฎิทินของชาวฮินดู ที่เรียกว่า  ปฎิทินแบบ สุริยจันทรคติ เหมือนกัน แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในรายละเอียด


(วันที่ 21 กันยายน 2564 ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฎิทินจีน)

ชื่อของเทศกาลนี้ในภาษาจีนเรียกว่า  จงชิวเจี๋ย (中秋節) หรือ  เทศกาล กลางฤดูใบไม้ร่วง  หรือ MID AUTUMN FESTIVAL  เป็นวันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง  จึงถูกกำหนดให้เป็นวันไหว้พระจันทร์

เป็นคืนที่พระจันทร์ สวยงามมากเป็นพิเศษ  

เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ได้รับการสืบทอดกันมายาวนาน  จึงมีรายละเอียดมากมายที่อาจจะต่อเติมเสริมแต่งขึ้นมาเรื่อยๆ  เช่น  เรื่องเทพธิดาฉางเอ๋อ  หรือ  แม้กระทั่งเรื่องความพยายามในการโค่นล้มการปกครองของพวกแมนจูต่อชาวจีน  ที่ชาวจีนพยายามส่งข้อความสื่อสารถึงกันด้วยจดหมายยัดไส้ในขนมไหว้กระจันทร์ เป็นต้น


(ขนมไหว้พระจันทร์ที่มีรูปลักษณ์แทบจะเหมือนกันในภูมิภาคเอเชีย  ทานกับน้ำชาแก่ๆร้อนๆ อร่อยนักแล)

เรื่องเหล่านี้  ล้วนช่วยสร้างสีสรร และ ย้ำถึงคุณธรรม  จริยธรรม ความรักชาติของชาวจีน 

แต่ที่น่าสนใจก็คือ เทศกาลนี้ จะอยู่ในเดือน 8 ตามปฎิทินจีน  ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน ตามปฎิทินสากลเกรกอเรียน โดยประมาณ

และ เทศกาลนี้ก็จะอยู่ใกล้เคียงกับปรากฎการณ์บนท้องฟ้าที่เรียกว่า  อีควิน๊อกซ์ฤดูใบไม้ร่วง(AUTUMNAL EQUINOX)  หรือ  อีควิน๊อกซ์เดือนกันยายน(SEPTEMBER EQUINOX) ที่ตรงกับวันที่ 22 กันยายน 2564 

อันเป็นปรากฎการณ์บนท้องฟ้า ที่พระอาทิตย์(ดูเหมือน)จะเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรของโลกจากซีกโลกเหนือลงไปสู่ซีกโลกใต้  ทำให้ซีกโลกเหนือเริ่มจะค่อยๆเปลี่ยนเข้าสู่ฤดูหนาว  ในขณะที่  ทางซีกโลกใต้จะค่อยๆเข้าสู่ฤดูร้อน


(ภาพแสดงตำแหน่งความสัมพันธ์กันระหว่าง พระอาทิตย์ กับ โลก ในตำแหน่งของ อีควิน็อกซ์ในเวลาที่ต่างกัน)

ทำให้ประเทศออสเตรเลีย และ  นิวซีแลนด์ จะค่อยๆเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงปลายปี เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และ  มกราคม 

ทำให้ทั้งสองประเทศนี้ที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่  จะไม่สามารถฉลองคริสต์มาสสีขาว(WHITE CHRISTMAS)  ได้เช่นเดียวกับชาวคริสต์ในซีกโลกเหนือ

ที่ผมบอกว่า  พระอาทิตย์(ดูเหมือน) จะเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรนั้น   ก็เพราะ  ความจริงพระอาทิตย์ไม่ได้เคลื่อนที่  แต่โลกของเราต่างหากที่เคลื่อนที่ไปรอบๆดวงอาทิตย์   แต่ด้วยเหตุที่แกนของโลกเอียงเป็นมุมประมาณ 23 องศา   จึงทำให้เกิดปรากฎการเหมือนพระอาทิตย์เคลื่อนที่ข้ามเส้นศูนย์สูตร  

ประเทศจีนอยู่ในซีกโลกเหนือ  เทศกาลต่างๆของจีนจะยึดถือตามปรากฎการณ์ของธรรมชาติของซีกโลกเหนือเป็นหลัก


(พระจันทร์ ในจินตนาการของชาวจีน)

ที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระจันทร์ของแต่ละประเทศก็คือ  ชาวจีนถือว่า  พระจันทร์ เป็นเทพผู้หญิงมีชื่อว่า  ฉางเอ๋อ , พระจันทร์ของญี่ปุ่น(Tsukuyomi Otoko) เป็นเพศชาย , พระจันทร์ของยุโรป คือ ไดอานา หรือ อาร์เธมิส เป็นเพศหญิง , พระจันทร์ของอินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์  เกาหลี  ก็เป็นเพศหญิง ,  เทพพระจันทร์ของฮินดูเป็นเพศชาย  

พระจันทร์ ของไทยเป็นเพศหญิง  ที่นักประพันธ์มักจะเปรียบเทียบความงามของสุภาพสตรี ดั่งพระจันทร์ที่สุกใสสว่าง

ว่ากันว่า  วันไหว้พระจันทร์ของจีน  เกิดจากความเชื่อของลัทธิขงจื่อ  ผสมผสานกับลัทธิเต๋า  และ  ความเชื่อพื้นบ้าน  เพื่ออ้อนวอนขอพรจากพระจันทร์ ให้การเก็บเกี่ยวในปีนั้นๆมีความอุดมสมบูรณ์  โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในพิธีก็คือ  จักรพรรดิ  ผู้เป็นศูนย์รวมของอำนาจ  และ  เป็นโอรสแห่งสวรรค์ตามความเชื่อของจีน  

เป็นประเพณีหลวง  ที่ไม่เพียงแต่กราบไหว้ของพรจากพระจันทร์เท่านั้น  แต่มักจะกราบไหว้ขอพรจาก เทพแห่งสวรรค์  เทพพระอาทิตย์  และ พระแม่ธรณี ด้วย

แต่ชาวบ้านทำพิธีไหว้พระจันทร์  ก็ยังต้องไหว้เทพยดาฟ้าดินก่อนเสมอ

เนื่องจากวันไหว้พระจันทร์ของจีน จะยึดตามปฎิทินจันทรคติ  ดังนั้น  ในปีหน้าคือ 2565  วันไหว้พระจันทร์จะตรงกับวันที่ 10 กันยายน  ในขณะที่ปีหน้า  วันอีควิน๊อกฤดูใบไม้ร่วง จะตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2565


(ไกด์ บุ๊ค ที่ผมเขียน 2 เล่ม  สนใจสั่งซื้อได้ที่ โทร 0885786666)

ขอให้ชาวจีน  หรือ  ใครก็ตามที่จะไหว้พระจันทร์ในคืนนี้  ขอให้ดำเนินการด้วยความปลอดโปรง  ฟ้าฝนไม่มี  และ  ขอให้มีความสุข  ความมั่งคั่ง สมหวังตลอดไปครับ

หากชอบบทความนี้   รบกวนกดไลค์  กด  แชร์ด้วยนะครับ

Posted in สัพเพเหระ.