จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 กันยายน 2564)

จากพิธี รถะ ยาตรา ของฮินดู ย้อนกลับไปสู่พิธีโอเปต ของอียิปต์โบราณ(ตอน1)

โดย               เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา   ตรงกับเทศกาลยิ่งใหญ่อีกเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดู ในประเทศอินเดีย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับรัฐทางภาคตะวันออก  เป็นเทศกาลที่เรียกว่า รถะ ยาตรา (RATHA YATRA)

               รถะ ยาตรา  เป็นคำสองคำในภาษาสันสกฤติที่มารวมกัน

รถะ แปลว่า  รถเทียมม้า(CHARIOT) หรือ เกวียน(CARRIAGE)  ภาษาไทยได้ยืมคำมาใช้เป็นคำว่า  รถ   ส่วนคำว่า  ยาตรา  แปลว่า การเดินทาง(JOURNEY)  หรือ  การแสวงบุญ(PILGRIMAGE) ภาษาไทยก็ยืมคำนี้มาใช้ในความหมายเดียวกัน


(ราชรถ แสวงบุญ ที่เมืองปูรี ของปีก่อนๆ)

               รวมความหมายได้ประมาณว่า  รถแสวงบุญ  หรือ พูดให้เพราะก็คือ  ราชรถแสวงบุญ 

               เทศกาล รถะ ยาตรา  ประจำปี พ.ศ. 2564  เริ่มขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม 2564  ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูฝน หรือ ฤดูมรสุมของอินเดีย 


(ปฎิทินของฮินดู ซึ่งอาจจะแตกต่างจากปฎิทินไทย  และ  แม้แต่ปฎิทินฮินดูในแต่ละท้องที่  ก็อาจจะแตกต่างกันด้วยเช่นกัน)

เทศกาล รถะ ยาตรา ของทุกปีจะยึดถือตามปฎิทินของฮินดู ซึ่งเป็นปฎิทิน สุริยคติ-จันทรคติ เป็นหลัก  จะถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ (DWITIYA SHUKLA) ของเดือนอัษฎา (ASHADHA)  เป็นวันเริ่มต้นของเทศกาล

คนไทยเรียกเดือนนี้ว่า  อาสาฬหะ เพราะมีวันสำคัญทางศาสนาพุทธคือ  วันอาสาฬหะ อยู่   ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

               เทศกาล รถะ ยาตรา จะฉลองกันไปจนถึงวันขึ้น 10 ค่ำ(DASHAMI SHUKLA) ตามปฎิทินฮินดู  หมายความว่า  เทศกาลจะมีช่วงเวลายาวประมาณ 9 วัน   (แต่บางปีอาจจะเหลือเพียง 8 วัน  หรือ บางปีจะเพิ่มเป็น 10 วัน ขึ้นอยู่กับปฎิทิน)


(เทศกาลรถะ ยาตรา ที่เฉลิมฉลองกันในกรุงแมดริด ของสเปน)

               ปัจจุบัน  การเฉลิมฉลองเทศกาล รถะ ยาตรา กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก  ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ   อิตาลี  สเปน  เนปาล  เป็นต้น 

               แต่การเฉลิมฉลองในประเทศอินเดีย จะยังคึกคักเป็นพิเศษในหลายรัฐทางภาคตะวันออกของอินเดีย  เช่น รัฐโอดิสสา(ODISHA) รัฐจาร์กหานด์(JHARKHAND) รัฐเบงกอลตะวันตก (WEST BENGAL) เป็นต้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ที่รัฐโอดิสสา 


(แผนที่อินเดีย แสดงที่ตั้งของวิหารปูรี ในรัฐโอดิสสา และ 4 วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า  ชาร์ดามห์)

               ในรัฐโอดิสสา  มีวิหารที่ชาวฮินดูนับถือกันว่า ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ วิหาร ศรี จักกานนาถ(SHRI JAGANNATH TEMPLE) ที่เมืองปูรี  ถือเป็นวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดหนึ่งในสี่แห่งของอินเดีย ที่เรียกว่า  ชาร์ ดามห์(CHAR DHAM)

               วิหาร ศรี จักกานนาถ แห่งนี้  สร้างขึ้นในราวศตวรรษ ที่ 10  หรือเมื่อประมาณ 1 พันปีที่แล้ว  บนสถานที่ที่เชื่อว่า  เคยเป็นที่ตั้งของวิหารอื่นมาก่อน

               จักกานนาถ ก็คือ เทพเจ้าแห่งจักรวาล เชื่อกันว่าเป็นอีกอวตารหนึ่งของพระกฤษณะ หรือ  พูดอีกอย่างก็คือ   เป็นอีกอวตารหนึ่งของพระวิษณุ  และในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ชาวฮินดูถือกันว่า เป็นวันประสูติของพระกฤษณะ  ซึ่งผมได้เขียนเรื่องราวของวันดังกล่าวเอาไว้ในเฟซบุ๊ค ของ white elephant travel แล้ว  สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ครับ 


(พระกฤษณะ ตอนเด็ก)

(โอกาสหน้า  ผมจะเล่าเรื่องแปลกประหลาดที่ไม่น่าเชื่อของวิหาร ศรี จักกานนาถ แห่งปูรี ให้ฟังกันครับ)

               ประเพณี รถะ ยาตรา มีความเป็นมาที่ยาวนาน ถูกบันทึกในคัมภีร์ปุราณะ (PURANA) หลายฉบับที่ล้วนมีอายุนับพันปี   บางบันทึกบอกว่า  เป็นขบวนแห่ของสุริยะเทพ , ของเทวี หรือ ที่เรียกกันว่า พระแม่  และ  ของพระวิษณุ


(สุริยเทพ  ที่รถเทียมม้า 7 ตัว ที่ว่ากันว่า  มีความหมายของ 7 วัน ใน 1 สัปดาห์)

               ตามความเชื่อของชาวฮินดูระบุว่า  สุริยเทพ มีความเชื่อมโยง  และ เป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ ด้วย  จึงทำให้ในเวลาต่อมา  เทศกาลนี้จึงเน้นไปในทางเฉลิมฉลองต่อ พระวิษณุ หรือ พระกฤษณะ เป็นหลัก

               หลักฐานรูปสลักหินในวิหาร ธานมานดาล (DHANMANDAL TEMPLE) ที่อยู่ทางเหนือของรัฐ โอดิสสา มีภาพ ราชรถ 3 คันจอดเรียงกัน   อ้างถึงเรื่องราวในภาพว่าคือ เทศกาล รถะ ยาตรา

นักโบราณคดีเชื่อว่า  ภาพสลักนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัย ราชวงศ์ คงคา(GANGA DYNASTY) ซึ่งอยู่ในราว ศตวรรษที่ 13 – 14

               หมายความว่า   เทศกาล รถะ ยาตรา  น่าจะมีการเฉลิมฉลองกันมาอย่างน้อยก็ 600 – 700 ปีแล้ว  เป็นช่วงเวลาเดียวกับยุคสุโขทัยของเราโดยประมาณ

               พบกับ เทศกาล รถะ ยาตรา ตอนที่ 2 ในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .