ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน9-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 กันยายน 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน9-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จะว่าไป นายวิศวนาถ ประตาป ซิงก์ ถูกย้ายมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพียงช่วงเวลาสั้นๆ คือตั้งแต่ 24 มกราคม ถึง 12 เมษายน ปีค.ศ. 1987

               ขณะนั้น  เรื่องอื้อฉาวโบฟอร์ส น่าจะเริ่มคุกรุ่นขึ้นมาแล้วในอินเดีย   บันทึกบอกว่า   นาย วี.พี.ซิงก์ ได้สั่งให้สอบสวนเรื่องอึมครึมโบฟอร์ส นี้  และเชื่อว่า  เขามีข้อมูลเรื่องอื้อฉาวโบฟอร์ส เอาไว้มากทีเดียว


(นาย วี.พี.ซิงก์)

               นายกรัฐมนตรี ราจีฟ ประกาศขึ้นบัญชีดำกับบริษัท โบฟอร์ส ไม่ให้ทำการค้ากับรัฐบาลอินเดียทันที  

               หลังจากถูกย้ายจาก รมต.คลังไปเป็น รมต.กลาโหม  นายวี.พี.ซิงก์ ก็มีปฎิกิริยาด้วยการลาออก  บางกระแสบอกว่า  นายวี.พี.ซิงก์ ถูกนายราจีฟ คานธีปลดออกจากรัฐมนตรี  แต่บางกระแสบอกว่า  เขาชิงลาออกก่อน 

อย่างไรก็ตาม   หลังจากนั้นนาย วี.พี.ซิงก์ ก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค คองเกรสของตระกูลคานธี ซึ่งใครๆก็มองออกว่า  พรรคคองเกรสเสียหายหนัก เพราะ นายวี.พี.ซิงก์ มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับตระกูลคานธีอย่างยิ่ง

               ในช่วงนั้น  เป็นครึ่งหลังของวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายราจีฟ ที่จะหมดอายุในช่วงเดือน ตุลาคม ปีค.ศ. 1989  จึงเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในแวดวงการเมือง  เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบของการเลือกตั้งที่จะมาถึงในช่วงปลายปี ค.ศ. 1989

               ข่าวเริ่มกระพือออกไปว่า  นายราจีฟ คานธี มีส่วนในการรับเงิน KICK BACK จากการซื้ออาวุธของบริษัทโบฟอร์ส   และอาจจะเป็นไปได้ว่า  ข่าวนี้มาจากนาย วี.พี.ซิงก์

               เมื่อเข้าสู่โหมดการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปของปีค.ศ. 1989  ปี่กลองเริ่มโหม  โดยพรรคการเมืองหลักก็คือ  พรรคคองเกรส ที่ได้ชัยชนะมาอย่างถล่มทลายในปีค.ศ. 1984 

               พรรคเล็กพรรคน้อยที่เหลือจึงหันมาจับมือกัน  ประกอบด้วย พรรค BJP ซึ่งขณะนั้นมีผู้นำคือ นายอะตาล บิฮารี วัชปายี , พรรคคอมมิวนิสต์มาร์กซิส  และ พรรค JANATA DAL ที่นาย วี.พี.ซิงก์ ได้ก่อนตั้งขึ้นมา

               พรรคคองเกรส เจอมรสุมคะแนนเสียงตกต่ำหลายด้าน  อันแรกก็คือ  ผลจากกรณีรื้อทำลายมัสยิดที่เคยเป็นที่ตั้งของวิหารพระรามมาก่อนที่เมืองอโยดยา  และ  คดีชาห์ บาโน คดีหย่าร้างสามีภรรยามุสลิมที่ผู้หญิงฮินดูเห็นว่า การแทรกแซงของรัฐบาลคองเกรส ไม่เป็นธรรมต่อเพศหญิง

(ทั้งสองเรื่องสามารถกลับไปอ่านย้อนหลังได้ ที่ผมได้เขียนเอาไว้เมื่อหลายเดือนก่อน)

               เมื่อ 3 พรรคประชุมร่วมกันแล้ว  ก็เห็นว่าจะต้องจี้ลงไปที่สุดอ่อนของพรรคคองเกรส คือ  นายราจีฟ คานธี แล้วร่วมกันยกให้นาย วี.พี.ซิงก์ เป็นหัวหน้าในการต่อสู้กับพรรคคองเกรส  เพราะนายวี.พี.ซิงก์ มีความใกล้ชิดกับกับนายราจีฟมากที่สุด  น่าจะมีข้อมูลลับมากพอสมควร  


(ภาพตอนที่นายราจีฟ และ นาย ซิงก์ ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน ภาพจาก TIMESCONTENT.COM)

               ทุกครั้งที่นาย วี.พี.ซิงก์ ออกหาเสียงทางทีวี หรือ ที่ไหนๆก็ตาม  เขามักจะควักสมุดพกเล็กๆออกมาจากระเป๋าเสมอ  และ  บอกว่า  ในสมุดเล่มนี้ มีรายละเอียดของเบอร์บัญชีธนาคารที่สวิสฯ ของนายราจีฟ  และยังระบุถึงจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชีนี้ด้วย

               ยิ่งไปกว่านั้น  นายวี.พี.ซิงก์ ยังกล่าวหาว่า  นายราจีฟ เป็น “โจร”  และยังบอกอีกว่า  หากได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อใด  เขาจะนำตัวนายราจีฟขึ้นดำเนินคดีคอรัปชั่น

ตอนนั้น  นายราจีฟกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

               กกต. มิได้ตัดสิทธิ์การลงเลือกตั้งของนาย วี.พี.ซิงก์  เพราะ กกต. ถือว่าคำพูดกล่าวหาว่า  นายราจีฟ เป็นโจรเป็นทัศนคติส่วนตัวของนาย ซิงก์ ที่มีต่อ นายราจีฟ   หากนายราจีฟ ไม่พอใจ ก็ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลเอง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย


(ข่าวการลอบสังหารนายราจีฟ คานธี)

               แน่นอน นายราจีฟ นำเรื่องขึ้นฟ้องศาล  แต่จนกระทั่งนายราจีฟถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1991 และ นาย วี.พี.ซิงก์ เสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 2008  คดีความก็ยังไม่มีการตัดสิน

               แต่ที่แน่ๆ  ประชาชนได้ลงคะแนนตัดสินการเลือกตั้งปีค.ศ. 1989 เรียบร้อย  โดยนาย วี.พี.ซิงห์ ได้รับเสียงข้างมากขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ส่วนพรรคคองเกรส พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ  จากที่เคยมีที่นั่ง 414 นั่ง ลดลงเหลือ 197 ที่นั่งเท่านั้น

               หลังจากนาย วี.พี.ซิงห์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ข้อกล่าวหาที่มีต่อนายราจีฟ ก็เงียบหายไป  และ  ข้อกล่าวหาที่ว่า  นายราจีฟ คอรัปชั่นก็มิได้ถูกนำมาพูดถึงอีกเลย  จวบจนสิ้นสมัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนาย วี.พี.ซิงห์

               เขาทำให้ประชาชนลงคะแนนเสียงให้เขาได้สำเร็จด้วยข้ออ้าง ข้อกล่าวหาที่เขาโกหกประชาชนล้วนๆ ซึ่งต่อมาประชาชนอินเดียก็ลงโทษเขาอย่างสาสม ด้วยการไม่เลือกเขากลับเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองใดๆอีกเลย

               นาย วี.พี. ซิงห์ ถูกประชาชนประหารทางการเมืองไปเรียบร้อย

               กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเข้มแข็งอย่างไร   หากประชาชนไม่รู้สึกรู้สา หรือ ไม่สนใจใยดี หรือไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง  ประชาธิปไตยของประเทศนั้นๆก็ไม่มีทางที่จะเดินหน้าไปได้ 

               ถึงจุดนี้   ผมคิดว่า   มาตรฐานของคนอินเดีย ต่อระบบการปกครองในระบบประชาธิปไตย  น่าจะสูงกว่ามาตรฐานของคนไทยจริงๆ

               ถึงเวลาที่ต้องหันมาดูตัวเอง  และ เลิกคิดดูหมิ่นดูแคลนคนอินเดียได้แล้ว 

               นี่คือระบบประชาธิปไตยของอินเดีย  ที่ให้สิทธิต่อประชาชนค่อนข้างมาก   จนบางคนอาจจะคิดว่า  คนอินเดีย มีเสรีภาพในระบบประชาธิปไตย มากเกินไปหรือเปล่า

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .