เทศกาล คเณศ จตุรถี

สัพเพเหระ               (10 กันยายน 2564)

เทศกาล คเณศ จตุรถี

โดย               เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 ตามปฎิทินสากล  หรือ ปฎิทินเกรกอเรียน  ถือเป็นวันคเณศ จตุรถี หรือ วันที่พระพิฆเณศวร เสด็จลงมาสู่โลก   พูดให้ง่ายก็คือ  วันเกิดของพระพิฆเณศวร นั่นเอง

               คเณศ จตุรถี (GANESHA CHATURTHI) เป็นเทศกาลสำคัญอีกเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดู มีช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองนาน 10 วัน  ตามประเพณีจะเริ่มต้นในวันขึ้น 4 ค่ำ(CHATURTHI SHUKLA) เดือน บาห์ดราปาดา (BHADRAPADA) และไปจบในวันขึ้น 13 ค่ำ (TRAYODASHI SHUKLA) ตามปฎิทินปัญจางของฮินดู  ซึ่งตรงกับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564


(วันเริ่มต้นของเทศกาล คเณศ จตุรถี จากปฎิทินปัญจางของชาวฮินดู)

               ในปีหน้า  วันแรกของเทศกาล คเณศ จตุรถี จะตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม 2565   ซึ่งตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ ถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนบาห์ดราปาดา  ตามปฎิทินของฮินดู  เช่นเดียวกันกับปีนี้

               พระพิฆเณศวร  เป็นเทพอีกองค์หนึ่งของฮินดู ที่ได้รับความรัก  ความเคารพ  และ  ความใกล้ชิดจากผู้คนอย่างมาก  พอๆกับของเทพกฤษณะเลยทีเดียว


(พระพิฆเณศวร – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ความรัก  ความเคารพ ดังกล่าว   ไม่จำกัดแต่ในเพียงแต่ชาวฮินดูเท่านั้น  แต่รวมไปถึงผู้นับถือศาสนาเชน  ศาสนาพุทธ  และ  แม้กระทั่งชาวมุสลิม

เพราะปรากฎรูปเคารพของพระพิฆเณศวร บนธนบัตรของประเทศอินโดนีเซีย  ซึ่งเป็นประเทศมุสลิม เพราะ 87 เปอร์เซนต์ของประชากร 270 ล้านคนนับถือศาสนาอิสลาม


(ธนบัตร ของอินโดนีเซีย ที่มีรูปพระพิฆเณศวรปรากฎบนธนบัตร)

อาจเป็นเพราะประชากรประมาณ 1 เปอร์เซนต์เศษๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่บนเกาะบาหลีนับถือศาสนาฮินดูก็เป็นได้  ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บาหลีกลายเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์  น่าท่องเที่ยว เพราะมีความผสมผสานกันระหว่างความเชื่อพื้นเมืองที่นับถือภูติผี กับ ความเชื่อในศาสนาฮินดู

ทำไม  ผู้คนจึงหลงรัก  และ  ให้ความเคารพนับถือต่อพระพิฆเณศวรอย่างมาก  จนอาจเรียกได้ว่า  มากกว่าแม้กระทั่งเทพเจ้าหลักทั้งสามองค์ของฮินดูด้วยซ้ำ 

นอกเหนือจากการที่พระพิฆเณศวร มีความน่ารักในตัว เนื่องจากมีเศียรเป็นช้าง  และ มีรูปร่างอ้วนตันแบบเด็กๆ   พระพิฆเณศวร ยังได้รับการเคารพว่า  เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรคต่างๆ  และ  เป็นเทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา และ ความเฉลียวฉลาด อีกด้วย

บางตำราบอกว่า  พระพิฆเณศวร เป็นเทพอุปถัมภ์ของศิลปะ และ วิทยาศาสตร์  ซึ่งเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สถาปนารูปเคารพของพระพิฆเณศวรมาเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย


(ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร)

แต่อาจารย์สุจิตต์ วงศ์เทศ ได้แย้งว่าไม่จริง  เพราะพระพิฆเณศวรที่เป็นองค์อุปถัมภ์ทางศิลปะนั้น  ถูกกำหนดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6  โดยไทยรับเอาวัฒนธรรมนี้มาจากอินโดนีเซีย

เรื่องนี้  ใครอยากจะเชื่ออย่างไรก็ตามแต่สะดวก

แต่ในวิหารฮินดู  ทุกครั้งก่อนที่จะมีการสวดมนต์ทำพิธี จะต้องมีบทสวดที่ถวายแด่พระพิฆเณศวรเป็นอันดับแรก  เพื่อความเป็นสิริมงคล  เพราะชาวฮินดูนับถือว่า  พระองค์เป็นเทพเจ้าแห่งการริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ

การสวดมนต์ดังกล่าว  ก็เพื่อขอพรให้กิจกรรมที่จะทำต่อไปมีความราบรื่น  และประสบความสำเร็จ

เทศกาล คเณศ จตุรถี จะเริ่มด้วยผู้ที่นับถือในพระพิฆเณศวร จะจัดหาซื้อรูปเคารพที่ทำด้วยดินเหนียวปั้น ที่เรียกว่า  มูรติ (MURTI)  ขนาดที่แต่ละครอบครัวจะเลือกตามแต่ความต้องการ


(โรงงานผลิตรูปปั้นดินเหนียว ในเขต คูมอร์ตุลี ของ กอลกัตตา)

ช่วงนี้  โรงงานผลิตรูปปั้นดังกล่าว ที่อยู่ในย่านที่เรียกว่า คูมอร์ตุลี (KUMORTULI) ของเมืองกอลกัตตา จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจนช่างฝีมือมีงานเต็มมือตั้งแต่ 2 – 3  เดือนก่อนหน้าเป็นอย่างน้อย

               เทศกาลเฉลิมฉลองจะจัดขึ้นทั่วทั้งประเทศอินเดีย  แต่จุดสำคัญที่มีความหมายแก่ชาวอินเดียอย่างมากก็คือ เมืองปูเน (PUNE) ในรัฐมหาราษฎระ

ผู้จัดงานจะสร้างอาคารชั่วคราว ที่เรียกว่า พันดัล (PANDAL) เพื่อสร้างบรรยากาศการเฉลิมฉลองให้คึกคัก  เพราะจะประดับประดาอย่างงดงาม  หรูหรา  บางแห่งจะทำให้สวยงามราวกับดินแดนในฝันเลยทีเดียว


(พันดัล ในเทศกาล ทุรคา ปูจา ในเดลี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชาวบ้านที่ออกมาร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลนี้  มักจะเพลิดเพลินกับความวิจิตรพิสดารของการตกต่างดังกล่าว  ทำให้ผมนึกถึงงานชักพระเดือน 10 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  และ งานชักพระทอดผ้าป่า เดือน 11 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจมากเช่นกัน

แต่ละบ้านจะซื้อหารูปเคารพของพระคเณศวร ที่มีขนาดไม่ใหญ่นักเข้ามาในบ้านเพื่อทำการบูชา  โดยจะอัญเชิญรูปเคารพของพระพิฆเณศวรเข้าบ้านก่อนหน้าวัน คเณศ จตุรถี 1 วัน  หรือ ในวันนั้นเลยก็ได้

สมาชิกในบ้านจะช่วยกันทำความสะอาดบ้าน  และตกแต่งประดับประดาด้วยสีสรรที่สดใส  ฉูดฉาด  และ ด้วยดอกไม้หลากชนิด


(การร่วมกันสวดมนต์ ประกอบดนตรี ของชาวฮินดู ที่เรียกว่า บาห์จัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมื่อถึงวันขึ้น 4 ค่ำ อันเป็นวัน คเณศ จตุรถี  แต่ละบ้านก็จะมีพิธีกรรมของตัวเองในการบูชาพระพิฆเณศวร  จะมีการถวายของเซ่นไหว้ เช่น ขนมหวาน  เพราะเชื่อกันว่า  พระพิฆเณศวรชอบขนมหวาน  จากนั้นก็มีการสวดมนต์ และ  การบูชาด้วยการร้องเพลงทางศาสนาที่เรียกว่า  บาห์จัน(BAHJAN) ในช่วงเวลาที่ต้องดูฤกษ์ยามว่าเป็นช่วงเวลาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด  ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคของอินเดีย  

เมื่อเทศกาลเฉลิมฉลองผ่านไปครบ 10 วัน  ก็จะถึงวันที่เรียกว่า  วิสาร์จัน(VISARJAN)  เป็นภาษาสันสกฤติ แปลว่า “จุ่มลงไปในน้ำ” 


(พิธี วิสาร์จัน- ภาพจากวิกิพีเดีย)

ชาวฮินดูจะช่วยกันแห่แหนรูปเคารพของพระพิฆเณศวร ไปลอยในแม่น้ำ  ทะเล  หรือ  ทะเลสาบ ใกล้บ้านหรือชุมชน   ด้วยหวังว่า  พระพิฆเณศวร จะเดินทางย้อนกลับไปทางแม่น้ำคงคงไปสู่เขาพระสุเมรุ  อันเป็นที่สถิตของบรรดาเทพเจ้าทั้งปวง 

เป็นอันจบพิธีของเทศกาล คเณศ จตุรถี

แต่เนื่องจากรัฐบาลอินเดียตระหนักถึงมลภาวะที่จะเกิดขึ้น  หากทุกคนเอารูปเคารพของเทพ  แม้จะทำด้วยดินเหนียวที่สามารถละลายน้ำได้ไปลอยในน้ำ  ก็อาจจะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศน์ได้  เพราะลำพังในเมืองมุมไบที่เดียว มีการลอยรูปปั้นดินเหนียวนี้ประมาณ 150,000 รูปทีเดียว  

รัฐบาลจึงรณรงค์ขอร้องแกมบังคับให้งดพิธีกรรมการจุ่มน้ำนี้เสีย

นี่คือ  เทศกาล คเณศ จตุรถี  ของชาวฮินดูครับ

ในโอกาสหน้า  ผมจะนำเรื่องราวของพระพิฆเณศวร และ เบื้องหลังของเทศกาล คเณช จตุรถี ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา  และ  การเมือง มาเล่าให้ฟังครับ

หากชอบบทความนี้  กรุณากดไลค์ และ กดแชร์ด้วยนะครับ

Posted in สัพเพเหระ.