ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน8)

ซอกซอนตะลอนไป                           (29 สิงหาคม 2564)

ทำไม อินเดียจึงเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน8)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กรณีการกล่าวร้ายต่อคู่แข่งในแวดวงการเมืองของอินเดีย  กรณีต่อไปนี้ถือเป็นกรณีคลาสสิค ซึ่งผมพยายามจะรวบรัดจับเอาเฉพาะเหตุการณ์สำคัญมาเล่าเท่านั้น

               วันที่ 31 ตุลาคม ปีค.ศ.1984  นายกรัฐมนตรี นางอินทิรา คานธี ถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยเชื้อสายซิกห์ 2 คนลอบสังหาร  ท่านประธานาธิบดีไซ ซิงห์(ZAIL SINGH) และนักการเมืองคนอื่นๆจึงผลักดันให้ราจีฟ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนมารดาของเขา

               ราจีฟจึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียแทบจะในทันที  หลังจากนั้น  เขาก็ขอให้ท่านประธานาธิบดี ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ให้ประชาชนได้ตัดสินแนวทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง  ว่าต้องการอย่างไร

               ผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ.1984 เพื่อสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน นางอินทิรา ปรากฎว่า  พรรคคองเกรสของตระกูลคานธีได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย  โดยกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 414 ที่นั่งจากทั้งหมด 514 ที่นั่ง


(นายราจีฟ คานธี และ นางโซเนีย คานธี ต้อนรับ ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน และ สภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง – ภาพจากวิกิพีเดีย)

(นายราจีฟ คานธี และ นางโซเนีย คานธี ต้อนรับ ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน และ สภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง – ภาพจากวิกิพีเดีย)

วันที่ 31 ธันวาคม ปีเดียวกัน  ราจีฟ คานธี สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ขณะอายุเพียง 40 ปี  เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ มีวาระในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ปี  

นอกจากเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดแล้ว  วงการเมืองอินเดียยังปรามาทว่า  เขาเป็นนักการเมืองอ่อนหัดไร้ประสบการณ์  เพราะเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก่อนหน้านั้นเพียงแค่ 3 ปี

งานแรกที่ ราจีฟ ทำในเดือนมกราคมปีถัดมาก็คือ  การผ่านกฎหมายที่เรียกว่า ANTI-DEFECTION LAW ซึ่งในเนื้อหาระบุ  ห้ามไม่ให้ผู้แทนราษฎรย้ายพรรคในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง  จะสามารถย้ายพรรคก็ต่อเมื่อ  จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นักประวัติศาสตร์ระบุว่า  สาเหตุที่ราจีฟ ผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็เพราะต้องการจะขจัดการรับเงินสินบนเพื่อให้รัฐมนตรีแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม   แสดงว่า   ก็มีการขายตัวในรัฐสภาอินเดียเหมือนกัน


(ปืน HAUBITS FH77 HOWITZER ของบริษัทโบฟอร์ส ที่สร้างกรณีอื้อฉาว -ภาพจากวิกิพีเดีย)

วันที่ 16 เมษายน ปีค.ศ. 1987หลังจากรัฐบาลของนายราจีฟ ทำงานไปได้ประมาณ 3 ปี   สถานีวิทยุแห่งหนึ่งของสวีเดนรายงานว่า ตำรวจสวีเดนได้กล่าวหาโรงงานผลิตอาวุธ โบฟอร์ส ว่าได้จ่ายสินบนให้แก่นักการเมือง และ ผู้นำของหลายประเทศ  หนึ่งในนั้นก็คือ  อินเดีย

สินบนดังกล่าว มาจากการทำสัญญาขายปืนคาลิเบอร์ เฮาวิตเซอร์ ขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 410 กระบอกให้แก่กองทัพอินเดีย

บังเอิญช่วงเวลานั้น  จิตรา สุบรามาเนียม(CHITRA SUBRAMANIAM) นักข่าวหญิงของ THE HINDU กำลังอยู่ในสวีเดนพอดี  เธอจึงติดตามข่าวเรื่องนี้ต่อ  และนำมาเปิดเผยในอินเดีย  

เดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1987  สถานวิทยุของสวีเดน ได้เปิดเผยอีกว่า  บริษัท โบฟอร์ส ได้จ่ายเงินสินบนจำนวน 92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่นักการเมืองอินเดีย  สมาชิกรัฐสภาบางคน  และ  ข้ารัฐการของอินเดียจำนวนหนึ่งด้วย

กระแสข่าวบอกว่า  มีการลงนามสั่งซื้ออาวุธมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1986 แล้ว   แต่ไม่มีหนังสือพิมพ์แม้แต่ฉบับเดียวในอินเดียรู้ข่าวการเซ็นต์สัญญานี้เลย


(นาย วี.พี.ซิงก์)

ช่วงเวลาที่มีมีการลงนามซื้อขายอาวุธกันนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ของนายราจีฟ คานธี ก็คือ นาย วิศวนาถ ประตาป ซิงก์ (VISHWANATH PRATAP SINGH)  ซึ่งเป็นนักการเมืองเก๋าเกมส์มากที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย 

เขาเคยดำรงตำแหน่ง หัวหน้าผู้บริหารของรัฐอุตตาร์ ประเทศ(UTTAR PRADESH)  แล้วได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของวุฒิสภา  และ ประธานวุฒิสภา จากนั้น  ก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วลาออกไปเป็นหัวหน้าผู้บริหารรัฐ แล้วก็หมุนไปเป็นวุฒิสมาชิก  และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง และ การบริหาร มากที่สุดคนหนึ่ง

ที่สำคัญก็คือ  ถือเป็นนักการเมืองผู้มีประวัติสะอาดคนหนึ่งของอินเดีย  จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยนายราจีฟ คานธี ในปีค.ศ. 1984

จุดหักเหเกิดขึ้นในเดือน มกราคม ปีค.ศ. 1987  เมื่อนายราจีฟ คานธี  ย้าย นายวิศวนาถ ประตาป ซิงก์ จากรัฐมนตรีคลัง ไปดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

แล้วเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการซื้ออาวุธก็ตามมา

โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

               ท่านที่ต้องการอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังทั้งหมด 7 ปี  สามารถไปที่ www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  “ซอกซอนตะลอนไป” ได้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .