เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน3-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 พฤศจิกายน 2564)

เทศกาล ปิตรุ ปักษา ก่อนเทศกาลนวราตรี(ตอน3-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในช่วงเดือนกันยายน ต่อเนื่องเดือนตุลาคม  น้ำในแม่น้ำฟัลกู หรือ เนรัญชรา จะมีระดับสูงหน่อย เพราะเป็นช่วงที่หิมะบนเทือกเขาหิมาลัยละลายกลายเป็นน้ำไหลลงมากลายเป็นแม่น้ำคงคา

               ชาวฮินดูเชื่อว่า  แม่น้ำฟัลกู เป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา  เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์   คำถามต่อมาก็คือ  ทำไม  ชาวฮินดูจึงนับถือว่า  แม่น้ำคงคง เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 

ผมขอนำตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำคงคามาให้อ่านกันครับ


(ภาพในจินตนาการของกษัตริย์ ซาการ์- ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ในตำนานของศาสนาฮินดูเล่าว่า  มีกษัตริย์องค์หนึ่งจากราชวงศ์ สุริยะวันชา  นามว่า  ซาการ์(SAGARA)   วันหนึ่ง  พระองค์ต้องการจะตรวจเช็คว่า  เมืองใดที่ยังเป็นพันธมิตรกับพระองค์  ด้วยการปล่อยม้าขาวออกเดินทางออกไปเยี่ยมเมืองต่างๆ

หากเมืองใดให้การต้อนรับขับสู้ม้าขาวตัวนี้เป็นอย่างดี ก็หมายถึงเมืองนั้นยังเป็นพันธมิตรกับพระองค์

               การกระทำดังกล่าวไม่เป็นที่สบอารมณ์ของพระอินทร์นัก  เพราะพระอินทร์อิจฉากษัตริย์ซาการ์  จึงวางแผนพาม้าตัวดังกล่าวไปปล่อยที่หน้าอาศรมของ นักพรตที่ชื่อ  คาปิละ


(รูปสลักของ นักพรต คาปิลา- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               กษัตริย์ ซาการ์ เห็นว่าม้าของพระองค์หายไป   จึงสั่งให้โอรสทั้ง 60,000 พระองค์(อ่านว่า หกหมื่น) ที่ถือกำเนิดด้วยวิธีพิเศษออกตามหาม้าตัวดังกล่าว

(ในโอกาสหน้าผมจะเล่าเรื่อง  การมีลูก 6 หมื่นคนของอินเดียโบราณว่าเป็นอย่างไร)

               บรรดาโอรสของ กษัตริย์ ซาการ์ออกตามหาม้าจนกระทั่งพบว่า  ม้ามาอยู่ที่หน้าอาศรมของนักพรต คาปิละ  ซึ่งเป็นนักพรตที่บำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลาช้านาน

               ตามประวัติระบุว่า  ท่านคาปิละ มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 7 – 6 ก่อนคริสตกาล  หรือ ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า  ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางหลักคิดที่สำคัญของปรัชญาฮินดูในตระกูล สางขยะ (SAMKHYA)  ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดของหลายศาสนา  ไม่ว่าจะเป็น ศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาเชน

               บรรดาโอรสของกษัตริย์ซาการ์ ส่งเสียงเอะอะที่หน้าอาศรมของ คาปิละ  จน คาปิละ ต้องละออกจากสมาธิ และลืมตาขึ้น


(นักพรต คาปิละ ลืมตา ทำให้โอรสทั้ง 6 หมื่นองค์ของ กษัตริย์ ซาการ์ ถูกเผาเป็นจุล- ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ด้วยพลังแห่งสมาธิของคาปิละ  ทำให้เจ้าชายทั้งหมด ถูกไฟเผาไหม้เป็นจุลไปในพริบตา

               เวลาผ่านไปนานหลายสิบปี  เมื่อกษัตริย์ วากิรัต (BHAGIRATHA)ขึ้นครองราช  และได้ทราบถึงเรื่องราวการเสียชีวิตของโอรสทั้ง 6 หมื่นองค์ที่มีฐานะเป็นปู่ของพระองค์  ก็เกิดความเสียใจ


(นักพรต วากิรัต(ซ้ายมือ)  และ  พระศิวะ- ภาพจากวิกิพีเดีย )

               ด้วยคำแนะนำของ ครูท่านหนึ่ง  วากิรัต จึงออกบวช และบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดถวายแด่พระแม่คงคา  เพื่อหวังให้ช่วยฟื้นคืนชีพบรรพบุรุษทั้ง 6 หมื่นองค์

               พระแม่คงคาเห็นใจ  จึงอวตารมาเป็นแม่น้ำคงคาไหลลงมาจากสวรรค์เพื่อช่วยชุบชีวิต

แต่ด้วยความแรงของสายน้ำ   ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน และ มนุษย์เป็นมากมาย  วากิรัต จึงทูลขอพระแม่คงคาว่า จะทำอย่างไรที่จะลดความแรงของแม่น้ำได้

               พระแม่คงคาบอกว่า  มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น  คือผู้มีคอสีน้ำเงิน และ มีผมยาว ที่จะช่วยได้  ชายผู้นี้ก็คือ  พระศิวะ


(พระศิวะ  ใช้มวยผมเพื่อรองรับแม่น้ำคงคา  เพื่อลดความรุนแรงของกระแสน้ำ โดยมี วากิรัต ยืนข้างๆ – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               วากิรัต จึงอ้อนวอนต่อพระศิวะขอให้มาช่วย  พระศิวะ ใจอ่อนยอมรับที่จะช่วยด้วยการคลี่ผมออกมาเป็นเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลแรง  ให้น้ำไหลไปตามเส้นผมของพระองค์ก่อนจะถึงโลก  ทำให้ความแรงของน้ำลดลงเป็นปกติ

               เมื่อแม่น้ำคงคาไหลลงมาสู่โลก  ก็ได้ชะโลมไปยังเถ้าอัฐิของโอรสทั้ง 6 หมื่นองค์ของกษัตริย์ซาการ์ โอรสทั้ง 6 หมื่นองค์จึงฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ 

               ด้วยเหตุนี้  ชาวฮินดูจึงนับถือกันว่า  แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ตราบจนทุกวันนี้   เมื่อชาวฮินดูจะประกอบพิธีเผาศพ หรือ  ประกอบพิธี ทาร์พาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษ ก็จะต้องไปยังแม่น้ำคงคา  เพราะเชื่อว่า  แม่น้ำคงคาเป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อโลกมนุษย์กับ สวรรค์

               และต้องเป็นที่เมืองกายา  ด้วยเหตุผลของ กายาสูร ตามที่ว่ามา

               ในช่วงของเทศกาล ปิตรุ ปักษา ระหว่างวันที่ 22 กันยายน ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2564  สำหรับชาวฮินดูผู้มีฐานะดีหน่อย  ก็จะเดินทางไปยังเมืองพุทธคยา เพื่อประกอบพิธีนี้   แน่นอนว่าจะต้องมีพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพิธีให้ เพราะชาวฮินดูนับถือว่า  พราหมณ์เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง มนุษย์ กับ สวรรค์  

หลังจากประกอบพิธีเสร็จ  ชาวบ้านจะมอบเงินทอง  และ อาหารให้แก่พราหมณ์ เรียกว่า ทักษิณา

บางรายก็ถึงขนาดซื้อวัวทั้งตัวเพื่อมอบให้แก่พราหมณ์เลยทีเดียว  ด้วยหวังว่า เมื่อพราหมณ์รีดนมวัวมาดื่ม  น้ำนมที่พราหมณ์ดื่มเข้าไปจะไปถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับของเขาด้วย

แต่หารู้ไม่ว่า  หลังจากผู้ประกอบพิธีกลับไปแล้ว  พราหมณ์ก็จะขายวัวตัวนั้นกลับไปให้คนขายวัวอีกครั้ง   เป็นไปตามหลักการตลาด และ เศรษฐศาสตร์ท้องถิ่น

ทำให้ผมนึกถึง  การตักบาตรเวียนเทียนที่ตลาดเช้าขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ 

ผมเตรียมแผนที่จะเดินทางไปอินเดีย รัฐกุจราฎ และ โอดิสสา  ช่วงเดือนมกราคม ปีหน้า  หากสนใจร่วมเดินทางด้วย  ติดต่อ 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .