น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน6)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 มกราคม 2564)

น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน6)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ต่อให้มีตำแหน่งสูง  มีเกียรติ  เป็นที่เคารพของสังคมขนาดไหน  มนุษย์ก็มีสิทธิ์ถูกครอบงำด้วยกิเลส หากไม่มีหิริโอตัปปะ

               นี่คือกรณีของนางอินทิรา คานธี  ได้แต่งตั้งนาย เอ.เอ็น.เรย์ หรือ  นายอะจิต นาถ เรย์ (AJIT NATH RAY)ข้ามหัวผู้พิพากษาที่มีอาวุโสมากกว่าถึง 3 คน เพื่อไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะตุลาการของอินเดียเมื่อเดือนเมษายน ปีค.ศ. 1973  


(ที่ทำการของศาลฎีกาของประเทศอินเดีย)

               เป็นการกระทำที่ผิดหลักการ และ เป็นการแทรกแซงขบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงที่สุด

               ก่อนหน้านั้นในปีค.ศ.1969  นาย เอ.เอ็น.เรย์ เคยแสดงบทบาทที่แหวกแนว  เพราะเขาเป็นคนเดียวในคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดจำนวน 11 คนที่ลงคะแนนสวนกับเสียงส่วนใหญ่ 10 คนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญให้รัฐยึดธนาคารพาณิชย์มาเป็นของรัฐ

               กฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอเข้าสู่สภาโดยรัฐบาลของนางอินทิรา คานธี และผ่านออกมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย  จนทำให้ธนาคารในประเทศอินเดียที่ก่อนหน้านี้เป็นของเอกชนกว่า 20 แห่ง  (ยกเว้นธนาคารชาติ) กลายมาเป็นของรัฐ

               หลังจากนั้นมีผู้ร้องเรียนไปยังศาลฎีกา  เพื่อให้พิจารณาว่าการผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

               ผลปรากฎว่า  ผู้พิพากษาในในศาลฏีกาคนลงมติว่า  กฎหมายดังกล่าวไม่ผิดหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญถึง 10 คน  อีก 1 คนลงมติว่าผิดหลักการ


(นาย เอ.เอ็น.เรย์ ผู้สร้างความอื้อฉาวในแวดวงตุลากาลศาลฎีกาของอินเดีย)

               ตุลาการศาลฏีกาที่ลงมติสวนมติของส่วนใหญ่ก็คือ  นาย เอ.เอ็น.เรย์

               ก่อนอื่นต้องทราบภูมิหลังทางการเมืองนับตั้งแต่อินเดียประกาศอิสรภาพในปีค.ศ. 1947 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1970   อำนาจทางการเมืองอยู่ในมือของพรรคคองเกรส หรือ พรรคของตระกูลคานธีมาโดยตลอด

               นายกรัฐมนตรีทุกคนล้วนมาจากพรรคคองเกรสทั้งสิ้น นางอินทิรา คานธี จึงสามารถสั่งการ และ ทำการได้ทุกอย่างตามใจปรารถนา

               เช่นในปีค.ศ.1973  นางดึงนาย เอ.เอ็น.เรย์ ซึ่งเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามให้กลายมาเป็นพวกของตนเอง  ด้วยการมอบตำแหน่งหัวหน้าคณะตุลาการของศาลฎีกาให้  โดยไม่สนใจเสียงวิจารณ์จากประชาชนทั้งประเทศ  เพราะเป็นการแต่งตั้งข้ามหัวผู้อาวุโสจำนวน 3 คน  ซึ่งนาย เอ.เอ็น.เรย์ ก็ตอบแทนนางอินทิรา อย่างสาสมด้วยการออกมาพูดจาชมเชยนางอินทิรา จนราวกับว่า  นางมิใช่มนุษย์ แต่เป็นเทพธิดาเลยทีเดียว

               วิกฤติการณ์นี้ได้กระตุ้นให้สมาคมนักกฎหมายของอินเดีย และ กลุ่มนักกฎหมายอื่นๆออกมาประท้วง  และ แสดงความไม่เห็นด้วย

วันที่ 3 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1976 นักกฎหมายอินเดียที่ออกมาประท้วงได้ประกาศให้วันนี้เป็นวัน “รวมพลังนักกฎหมาย” และเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “วันที่มืดมิดที่สุดของประชาธิปไตยอินเดีย” 

               เหตุการณ์ในประเทศวุ่นวายขนาดนี้  ทหารอินเดียก็ยังคงนิ่งเงียบ  ไม่ออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ยึดอำนาจ

               ทหารทุกหน่วยทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างเคร่งครัด  ซึ่งรวมถึง  ผู้บังคับบัญชาที่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง อินทิรา คานธี

               ก่อนหน้านั้น  เจ้าหน้าของรัฐอินเดียแทบทุกคน มักจะมาทำงานสาย  กลับบ้านก่อนเวลา  ออกไปกินอาหารเที่ยงก่อนเวลา แต่กลับมาสาย  ไม่ใส่ใจในการบริการประชาชน  ซึ่งเป็นสภาพที่พบเห็นได้ทั่วโลก  

               เมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐบาล  ทหารอินเดียเข้าควบคุมพนักงานของรัฐอย่างจริงจัง  ด้วยการส่งทหารเข้าไปดูแลในที่ทำงานรัฐ   ข้ารัฐการคนใดมาทำงานสายจะถูกลงโทษ  ใครถูกร้องเรียนว่าไม่เต็มใจให้บริการประชาชน  ใครที่แอบหลบไปดื่มน้ำชา หรือ สูบบุหรี่  จะถูกทหารลงโทษ


(นางอินทิรา คานธี กับนาย เยวหะราล เนห์รู ผู้บิดา -ภาพจาก GETTY)

               ด้วยเหตุนี้  ในช่วงที่นางอินทิรา คานธี ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ปีค.ศ. 1975  ไปจนถึงวันที่ 21 มีนาคม ปีค.ศ. 1977 นั้น   นางอินทิรา คานธี ถูกวิพากษ์วิจารณ์  ก่นด่า  สาบแช่งอย่างหนักจนส่งผลต่ออนาคตทางการเมืองของนาง  และ ตระกูลคานธี

               แต่ผู้ที่ได้รับการชมเชย  ยกย่อง  เฉกเช่นวีรบรุษก็คือ  “ทหารผู้ไม่สนใจจะปฎิวัติ”นั่นเอง


(นาย ราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมกับนายพล บิพิน ราวัต(แถวหน้าคนที่ 3 จากซ้ายมือ)  ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันประเทศ(CDS) และ ทีมงาน ภาพจากสำนักข่าว PTI)

               จึงเป็นคำตอบว่า  ทำไมเมื่อนาลพล บิพิน ราวัต เสียชีวิต  ชาวอินเดียจึงร่ำไห้ด้วยความอาลัยรักต่อท่าน   และไม่ใช่แต่กับท่าน บิพิน ราวัตเท่านั้น 

               ลึกลงไปในใจคนอินเดีย  เขารักกองทัพ  และ  ทหารของเขา  ที่ไม่เคยทำให้สถาบันทหารด่างพร้อยเลยแม้แต่ครั้งเดียวตลอด 70 ปี ตั้งแต่มีประเทศอินเดีย

               พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า  ซึ่งจะเป็นตอนสุดท้ายครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .