น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน7-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (30 มกราคม 2564)

น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร(ตอน7-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยก็คือ “อำนาจเป็นของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน”

               หลังจากนางอินทิรา คานธีได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ปีค.ศ. 1975  และ สิ้นสุดในวันที่ 21 มีนาคม ปีค.ศ. 1977 รวมระยะเวลา 21 เดือน

               ประชาชนได้เห็นธาตุแท้ของพรรคคองเกรส ของตระกูลคานธีชัดเจนขึ้น

               การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียเกิดขึ้นในปีค.ศ.1977 ซึ่งคาบเกี่ยวในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการประกาศภาวะฉุกเฉิน  ผลปรากฎว่า  พรรคคองเกรสสูญเสียที่นั่งในสภาจำนวนมาก  จากเดิมที่เคยได้ 352 ที่นั่ง ลดลงมาเหลือ 154 ที่นั่ง

               แม้กระทั่ง  นางอินทิรา คานธีเองยังสอบตกในการเลือกตั้งในเขต เร บาเรลี (RAE BARELI) ซึ่งถือเป็นเขตฐานคะแนนเสียงของตระกูลคานธีมานานกว่า 20 ปีด้วยซ้ำ

               นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ โมราร์จิ เดไซ (MORARJI DESAI) จากพรรค JP ซึ่งได้ที่นั่งในสภาอย่างก้าวกระโดด คือเพิ่มขึ้นถึง 260ที่นั่ง


(นาย โมรารจิ เดไซ นายกรัฐมนตรีคนที่ 4)

               ประชาชนได้สั่งสอนพรรคคองเกรสแล้ว  แต่อินเดีย  และ  นักการเมืองอินเดีย ในช่วงนั้นยังถือว่าอ่อนหัดทางการเมือง  จึงเกิดความปั่นป่วนทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงอำนาจในพรรค JP ที่แตกเป็นหลายพวก

มีนายราช นารายัน ผู้ฟ้องร้องนางอินทิรา คานธีจนหลุดจากอำนาจเป็นตัวป่วนในวงการเมืองด้วย

สุดท้ายรัฐบาลต้องจบวาระลงในเวลาเพียง 2 ปี กับ 126 วันเท่านั้น 

               เลือกตั้งครั้งใหม่ในปีค.ศ. 1979  พรรค JP ก็ยังครองเสียงข้ามมากอยู่  แต่เพราะนักการเมืองอีกเช่นเดิมที่ทำให้รัฐบาลใหม่ที่มีนาย จารัล ซิงก์(CHARAL SINGH) เป็นนายกรัฐมนตรีก็บริหารประเทศได้เพียงแค่ 170 วันเท่านั้น


(เขตเลือกตั้ง ชิกมากาลูร์ ที่อยู่ทางใต้ของอินเดีย)

               การเลือกตั้งครั้งใหม่ ในช่วงต้นปีค.ศ. 1980  ประชาชนคงจะเบื่อหน่ายกับการเล่นการเมืองแบบน้ำเน่าของพรรค JP  รวมทั้งพรรคคองเกรสเริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ แม้กระทั่งนางอินทิราเอง ยังย้ายไปลงเลือกตั้งในเขตชิกมากาลูร์(CHIKMAGALUR) ในรัฐการณาตะกะ ทางใต้ของอินเดีย แทนที่จะลงเลือกตั้งในเขตดั่งเดิมของตระกูล

คะแนนเสียงของพรรคคองเกรสพุ่งพรวดขึ้นมาเป็น 352 เสียง  เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว

นางอินทิรา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะถูกสังหารโดยหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำตัวของนางที่เป็นชาวซิกห์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปีค.ศ. 1984

(ผมจะเขียนเรื่องกระแสความรู้สึกใหม่ของชาวอินเดีย ที่มีต่อตระกูลคานธี  พรรคคองเกรส  และ มหาตะมะ คานธี ในโอกาสหน้าครับ)


(นาย พี.วี.นรสิงหา เรา นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 )

นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่มาจากตระกูลคานธี ก็คือ นายราจีฟ คานธี ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากมารดาของเขาและถูกลอบสังหารในปีค.ศ. 1991   หลังจากนั้น  พรรคคองเกรสก็แทบจะหลุดจากวงโคจรอำนาจทางการเมือง  ยกเว้นสองครั้ง ที่ นายพี.วี.นรสิงห์  เรา (P.V.NARASIMHA RAO)และ นายมานโมฮานซิงห์(MANMOHAN SINGH) จากพรรคคองเกรสเป็นนายกรัฐมนตรี


(นายมานโมฮานซิงก์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 13)

ชนชั้นกลางของอินเดียส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้ทั้งทางด้านข่าวสารบ้านเมือง และ ข่าวต่างประเทศ   เพราะหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์อินเดียจะเน้นข่าวต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่ข่าวดาราเลิกกันหรือดารามีแฟนใหม่  ข่าวฆ่ากันแย่งผัวแย่งเมีย  ข่าววัวออกลูก 3ขา เป็นต้น ฯลฯ

เมื่อหนังสือพิมพ์แพร่ออกไป มันจะต้องผ่านสายตาของ นายกรัฐมนตรี ,  นักการเมือง ,  ข้ารัฐการ  , นักธุรกิจ   , พ่อค้าแม่ค้าทั่วไป   ทหารตำรวจ  และ  ประชาชน

เมื่อคนในประเทศได้รับการศึกษา  หูตาสว่าง  ก็ทำให้ข้ารัฐการ  ทหารตำรวจ  และ นักการเมือง ต้องคิดมากขึ้นเมื่อจะทำอะไรที่ไม่ดี  เพราะประชาชนพร้อมจะลงโทษได้ทันทีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป  ตามวิถีทางของประชาธิปไตย

การซื้อขายเสียงในอินเดียไม่มี (อาจมีบ้างในท้องที่ห่างไกล) ต่างจากของประเทศไทยที่แม้แต่การเลือกตั้ง อบต. ยังซื้อเสียงกันหัวละหมื่น  ที่น่าเศร้าใจก็คือ  ชาวบ้านก็รับเงินอย่างหน้าชื่นตาบานอย่างไร้สำนึก

เมื่อประชาชน ไร้สำนึกในความหวงแหนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อนาคตของชาติก็ไม่ต้องพูดถึง

อินเดียได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ให้อำนาจประชาธิปไตยแก่ประชาชนของตนเองอย่างมาก  มากจนอาจจะเรียกว่า   มากเกินไปด้วยซ้ำ  แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในกรอบกติกา

กว่า 70 ปีที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ   ไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปรไปอย่างไร  นักการเมืองจะดีจะเลวอย่างไร  ทหารของอินเดียก็ยังคงเป็นเสาหลัก  เป็นทหารของประชาชนที่คอยทำหน้าที่

“ปกป้อง  และ  รับใช้ ประชาชน”  เท่านั้น  เพราะทหารอินเดียไม่กระหายในอำนาจ


(นายพล บิพิน ราวัต)

ด้วยเหตุนี้  ประชาชนชาวอินเดียจึงร่ำไห้ทั้งแผ่นดิน  เมื่อทหารกล้าของเขาเช่น นายพลบิพิน ราวัต เสียชีวิต   เพราะเขาไม่เพียงแต่เสียน้ำตาให้นายพลบิพิน ราวัตเท่านั้น

แต่เขายังได้ร่วมแสดงความเสียใจต่อทหาร  และ แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกองทัพของเขา

ทางรัฐบาลได้จัดพิธีเผาศพของนายพล บิพิน ราวัต อย่างสมเกียรติด้วยการใช้ไม้กฤษณาในการเผาศพ ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติสูงสุด  เช่นเดียวกับพิธีศพของนางอินทิรา คานธี ที่เสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทหารแก่ไม่เคยตาย  เขาเพียงแต่ค่อยๆเลือนหายไป

ผมขอแสดงเสียใจต่อชาวอินเดีย และ ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของทหารกล้าของเขา และขอจบบทความ “น้ำตานองแผ่นดินอินเดียเพื่อทหาร” ตอนที่ 7 เป็นตอนสุดท้ายครับ

ตอนหน้ารอพบกับ  “คนอินเดียกำลังจะไปปกครองอังกฤษ”  ไม่น่าเชื่อ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .