คืนมหาศิวาราตรี

ชีวิตเป็นของมีค่า

คืนมหาศิวาราตรี

โดย                เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               คืนนี้ (1 มีนาคม 2565) ตามปฎิทินสุริยคติ-จันทรคติของฮินดูบอกว่า  ตรงกันวัน มหาศิวาราตรี(MAHASHIVARATRI) ของชาวฮินดู

               วันมหาศิวาราตรีตามปฎิทินของฮินดู  จะตรงกันวันแรม 13 หรือ 14 ค่ำ ในเดือนฟัลกุน(FALGUN) เป็นเดือนที่ 11 ตามปฎิทินฮินดู  หากนับเดือนไบซาคห์(BAISHAKH)เป็นเดือนที่ 1  ซึ่งจะตรงกับเดือน กุมภาพันธ์ หรือ มีนาคม ของปฎิทินสากลแบบเกรกอเรียน


(วันที่ 1 มีนาคม 2565 ในปฎิทินปัญจางของฮินดู)

               โดยปกติ  จะมีวันศิวาราตรี (SHIVARATRI) เป็นประจำทุกเดือน เดือนละครั้งอยู่แล้ว  ซึ่งทุกวันก็จะอยู่เป็นช่วงเวลาเดียวกัน  คือ แรม 13 หรือ 14 ค่ำ ที่เรียกว่า CHATURDASHI TITHI OF KRISHNA  

               คำว่า CHATURDASHI TITHI แปลว่า  วันที่ 14  ส่วนคำว่า OF KRISHNA หมายถึง  ปักษ์ของเดือนมืด  หรือ  ข้างแรม

               เทศกาล มหาศิวาราตรี  จะแตกต่างจากเทศกาลอื่นๆของชาวฮินดูค่อนข้างมาก


(วิหารโสมนาถ ที่ถวายแด่พระศิวะ  เป็นวิหารที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเกือบ 1 พันปี)

กล่าวคือ  เทศกาลอื่นๆมักจะเฉลิมฉลองกันในตอนกลางวัน  แต่เทศกาล มหาศิวาราตรี หลักๆจะประกอบพิธีกันในตอนกลางคืน  แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นการประกอบพิธีในตอนกลางวันเสียเลย  เพราะตามดิถีในการประกอบพิธีที่กำหนดขึ้นตามปฎิทินของชาวฮินดูระบุว่า จะเริ่มตั้งแต่เวลาเช้ามือของวันที่ 1 มีนาคม 2565 เวลา 03.16 น.  เรื่อยไปจนสิ้นสุดเวลา 01.30 น. หรือหลังเที่ยงคืนคืนนี้ไปเล็กน้อย

นอกจากนี้  ที่แตกต่างจากเทศกาลอื่นๆก็คือ  เทศกาลนี้ไม่เฉลิมฉลองกันด้วยความสนุกสนานรื่นเริงแบบในทางโลกย์   แต่จะเป็นการประกอบพิธีที่เคร่งขรึม  สงบ  เน้นการใช้เวลาอยู่ตามลำพังคนเดียว    การพิจารณาสภาวะกายภายใน(INTROSPECTIVE FOCUS)   การนั่งสมาธิเพื่อถวายแด่พระศิวะ   การพิจารณาศึกษาตนเอง   การปฎิบัติที่กลมกลืนไปกับสังคมครอบครัวเพื่อนฝูง   การอดอาหาร  หรือ  การทานอาหารมังสวิรัติ


(พิธีอภิเษก ในวิหารของฮินดู – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ที่สำคัญที่สุดก็คือ  การทำพิธีบูชาในวิหารพระศิวะ  ด้วยการราดน้ำเปล่า หรือ น้ำนม ลงบนศิวะลึงค์ ที่เรียกในภาษาสันสกฤตว่า อภิเษก(ABHISHEKA)  

จากนั้นก็ปฎิบัติในวิหาร  เช่น   การตื่น หรือ ไม่นอนตลอดคืนเพื่อพิจารณาการสวดมนต์  หรือ  สวดมนต์ด้วยตัวเองตลอดทั้งคืน  หากสามารถทำได้ภายในวิหารของพระศิวะ พร้อมทั้งจุดประทีปด้วย

แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่า ผู้ที่จะเข้าไปทำพิธีบูชาในคืนนี้จะเป็นเพียงสุภาพสตรีเท่านั้น


(พระศิวะ ปางสมาธิในวันมหาศิวาราตรี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

พิธีกรรมที่ทำกันในวิหารพระศิวะตลอดคืน เรียกว่า  จากราน(JAGRAN)    จากราตา(JAGRATA)  หรือ จาค (JAAG) 


(พระแม่ทุรคา อวตารหนึ่งของพระแม่ปาร์วาตี)

ความสำคัญของวันมหาศิวาราตรีก็คือ  เป็นคืนแห่งการแต่งงานของ  พระศิวะ  และ  พระแม่ปาร์วาตี   เป็นการผสมผสานแห่งอำนาจของเพศชาย  กับอำนาจของพระแม่ทุรคา (อวตารหนึ่งของพระแม่ปาร์วาตี)  หรือ  อำนาจแห่งจักรวาลของเพศหญิง หรือ ชัคติ (SHAKTI)

ในตำราหลายฉบับ เช่น  สกานดา ปุราณะ (SKANDA PURANA)  และ  ลิงกา ปุราณะ  (LINGA PURANA)  และ  ปัดมา ปุราณะ (PADMA PURANA)  ระบุว่า   อำนาจของ ชัคติ เป็นอำนาจที่ประกอบด้วย  อำนาจการสร้าง(CREATIVE  หรือ  SRSTI)  อำนาจการรักษาให้คงอยู่(SUSTAINING หรือ  STHITI)  และ  อำนาจในการทำลายล้าง (DESTRUCTIVE  หรือ VINASH)

เป็นการรวมกันของอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของจักรวาล  เพื่อทำลายล้างความชั่วร้าย  หรือ  มาร  ที่มากับความมืดมิด  หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ   การปราบอวิชา  หรือ   ความโง่เขลาต่างๆ


(รูปหล่อบรอนซ์ นาฎราช ศิลปะสมัยราชวงศ์โชละ)

คัมภีร์ปุราณะยังระบุว่า   คืนนี้เป็นคืนที่พระศิวะ ทรงเต้นระบำแห่งจักรวาล(DEVINE COSMIC DANCE) หรือที่เรียกว่า  นาฎราช (NATARAJA)

การเต้นระบำนี้ ถือเป็นการเต้นระบำแห่งการสร้าง  การรักษา  และ  การทำลายล้าง  ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเทพเจ้าฮินดู 3 องค์ คือ  พระพรหม  ,  พระวิษณุ  และ  พระศิวะ

รายละเอียดของท่าเต้นระบำของนาฎราช  ไม่ว่าจะเป็น  การวางท่าของร่างกาย   นิ้วมือ   ข้อเท้า  คอ  สีหน้า   ศรีษะ  ติ่งหู  และเครื่องแต่งกาย ล้วนแต่เป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์   และถูกนำมาหมุน  ดัดแปลง  เปลี่ยนซ้ายขวา  จนกลายมาเป็นต้นแบบ ต้นแบบของการเต้นระบำของอินเดียในปัจจุบันนี้

สำหรับผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดู  หากไม่สะดวกในการบูชาที่วิหาร  ก็สามารถปฎิบัติบูชาที่บ้านได้  เริ่มด้วยการอดอาหาร  หรือ ทานมังสวิรัติ  และ  นั่งสมาธิ  ครับ

ขอให้สัมฤทธิ์ผลในการปฎิบัติบูชากันทุกท่านครับ     

โอกาสหน้าผมจะนำเอารายละเอียดของการเต้นระบำของพระศิวะ มาเล่าสู่กันฟังครับ

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.