กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                              (13 มีนาคม 2565) 

กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน2)

โดย         เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของการสถาปนาวันภาษาแม่นานาชาติ  ผมขอเล่าภูมิหลังของรัฐเบงกอลที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก่อน  เพราะ วันภาษาแม่นานาชาติก่อกำเนิดขึ้นที่นี่

               ช่วงปีค.ศ. 1600  เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอินเดีย  เมื่ออังกฤษได้ก่อตั้งบริษัท อีสต์ อินเดีย(EAST INDIA COMPANY) และได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิอัคบาร์(AKBAR)ของราชวงศ์โมกุล ให้เป็นผู้ผูกขาดการค้าในอินเดียแต่เพียงผู้เดียว  ทำให้คู่แข่งอย่าง โปรตุเกส ที่มีฐานอยู่ที่เมืองสุรัต(SURAT) ในรัฐกุจราฐ  และ  ฝรั่งเศส ที่มีฐานอยู่ที่เมืองปอนดิเชรี ถูกลดความสำคัญลงไปมาก


(จักรพรรดิ จาฮังกีร์ ของ ราชวงศ์โมกุล)

ปีค.ศ. 1605 จักรพรรดิ อัคบาร์สิ้นพระชนม์  จาฮังกีร์(JAHANGIR)โอรสของพระองค์ขึ้นครองราชต่อ  ด้วยเหตุที่แผ่นดินอินเดียกว้างใหญ่ไพศาลมาก และเมืองหลวงของโมกุลก็ตั้งอยู่ที่เดลี ที่อยู่ค่อนไปทางเหนือทำให้จักรพรรดิไม่สามารถดูแลดินแดนที่ห่างไกลได้อย่างครบถ้วน

พระองค์จึงแต่งตั้งผู้ดูแลต่างพระเนตร ที่ไม่มีตำแหน่งทางราชสำนัก ที่เรียกว่า นาวาบ(NAWAB) จำนวนหลายคน เพื่อไปดูแลดินแดนที่ห่างไกลเพื่อทำหน้าที่  เก็บภาษี และ ปกป้องดินแดนของโมกุล

ในที่นี้  ผมจะพูดถึง นาวาบแห่งเบงกอล เท่านั้น


(พื้นที่สีทั้งหมดคือพื้นที่ที่เรียกว่า เบงกอล เพรสซิเดนซี่ อันเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย-ภาพจากกูเกิ้ล)

รัฐเบงกอล รวมถึง รัฐโอดิสสา และ รัฐพิหาร  เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก  คนส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดูพูดภาษาเบงกาลี  ผู้ปกครองต่างพระเนตรช่วงท้ายๆตั้งฐานที่มั่นของตัวเองอยู่ที่เมืองมูซิดาบาด(MUSHIDABAD) ในรัฐเบงกอล


(แผนที่อินเดีย แสดงให้เห็นเดลี (ลูกศรซ้ายมือ)  และ กอลกัตตา ในรัฐเบงกอล(ลูกศรทางด้านขวา อยู่ห่างไกลกันมาก)

ในอาณาเขตเดลี และ โดยรอบมีการบังคับให้ชาวฮินดูหันมานับถือศาสนาอิสลาม  ทำให้ชาวฮินดูระดับปัญญาชนเลือกที่จะทิ้งเมืองแล้วเดินทางมาอาศัยในรัฐเบงกอล ซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลเหมาะแก่การค้าขาย  เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก  ส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

และ ห่างไกลจากราชวงศ์โมกุล

ทำให้รัฐเบงกอลเป็นแหล่งรวมของปัญญาชน มากกว่ารัฐอื่นๆของอินเดีย  ทำให้กอลกัตตาได้รับสมญานามว่า  เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของอินเดีย

ชาวอินเดียเริ่มลุกฮือขึ้นมาเพื่อล้มล้างการปกครองของอังกฤษที่กดขี่อย่างไร้มนุษยธรรม  มีการกบถเล็กๆเกิดขึ้นบ่อยครั้ง   แต่ครั้งสำคัญที่ประวัติศาสตร์จารึกก็คือสงครามในปีค.ศ. 1757  ที่เรียกว่า  สงครามพลาสซี


(ฟอร์ต วิลเลี่ยม  ภาพวาดในปี ค.ศ. 1754 ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามแห่งพลาสซี ในปี ค.ศ.1757)

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก  นาวาบ แห่งเบงกอล ไม่พอใจที่อังกฤษขยายดินแดนอำนาจของตนเองในรัฐเบงกอลมากขึ้น และที่เป็นภัยคุกคามมากก็คือ  การที่อังกฤษได้สร้างป้อมค่าย วิลเลี่ยม (FORT WILLIAM) ขึ้นในเมืองกอลกัตตา รัฐเบงกอล ในปีค.ศ. 1700

(แต่ป้อมค่ายนี้ก็ถูก นาวาบแห่งเบงกอล บุกยึดได้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ปีค.ศ. 1756 ซึ่งผมจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)

นาวาบ แห่ง เบงกอล จึงแอบร่วมมือกับฝรั่งเศส ซึ่งแค้นเคืองอังกฤษที่เป็นเพียง บริษัท อีสต์ อินเดีย(EAST INDIA COMPANY)มานาน เพราะในยุโรปขณะนั้น   ฝรั่งเศสเองก็ติดพันการทำสงคราม 7 ปีกับอังกฤษด้วย  ฝรั่งเศสจึงจับมือ นาวาบ เพื่อจะขับไล่อังกฤษออกไปจากอินเดีย  เพื่อตัวเองจะได้กอบโกยผลประโยชน์จากอินเดียกลับบ้านโดยไม่มีคู่แข่ง


(สิราจ อุด ดัวลาห์ นาวาบแห่งเบงกอล)

สิราจ อุด ดัวลาห์(SIRAJ UD DAULAH) นาวาบแห่งเบงกอล  เดินหมากก้าวแรกด้วยการออกคำสั่งให้อังกฤษหยุดการขยายดินแดนในอินเดีย และ หยุดการสร้างป้อมค่ายด้วย

พันเอก โรเบิร์ต ไคล์ฟ ถูกส่งเข้ามาเพื่อจัดการปราบปรามนาวาบ แห่ง เบงกอล   แต่แม้จะพยายามหลายครั้งก็ไม่เป็นผลสำเร็จ  เพราะทหารของนาวาบมีจำนวนมากกว่า ประกอบกับมีทหารของฝรั่งเศสมาร่วมด้วยอีกส่วนหนึ่ง  


(เมียร์ จาฟาร์ (คนซ้าย) กับลูกชายของเขา)

ในที่สุด  ไคล์ฟ ก็วางแผนลับด้วยการแอบพบกับ  เมียร์ จาฟาร์(MIR JAFAR)ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของนาวาบ  และ  ทหารอีกหลายคนของนาวาบ เพื่อติดสินบนให้จาฟาร์ ทรยศต่อ นาวาบ สิราจ

ไคล์ฟ สัญญาว่า   หากจาฟาร์ ร่วมมือกับเขาทรยศต่อนาวาบ สิราจ และได้รับชัยชนะ เขาจะแต่งตั้ง จาฟาร์ ให้เป็น นาวาบ แห่งเบงกอล แทน สิราจ

เมื่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดทรยศ  ทุกอย่างก็จบสิ้น

นาวาบ แห่ง เบงกอล พ่ายแพ้ในสงครามแห่ง พลาสซี เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปีค.ศ. 1757  ทำให้อังกฤษสามารถครอบครองแผ่นดินทางตะวันออกเฉียงเหนือเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ  และ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ในอนุทวีปอินเดีย

เพราะแม้ เมียร์ จาฟาร์ จะดำรงตำแหน่ง วาวาบ แห่งเบงกอล  และสามารถเก็บภาษีจากพื้นที่แถบนี้ได้มาก  แต่ก็ต้องแบ่งให้แก่อังกฤษ ซึ่งอังกฤษก็ใช้เงินจำนวนนี้ในการสะสมอาวุธเพื่อพลักดัน พวกฝรั่งเศส ออกไปให้พ้นจากรัฐเบงกอล  

อังกฤษ สามารถประกาศตัวเป็นใหญ่ได้แต่เพียงผู้เดียว  และ นำไปสู่ยุค บริติช ราช(BRITISH RAJ) ในอนาคต

พบกันใหม่สัปดาห์ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .