กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                              (20 มีนาคม 2565) 

กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน3)

โดย         เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               เวลาผ่านมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20   ระหว่างนั้น  ชาวอินเดียเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมของอังกฤษที่ปฎิบัติต่อตนเองมากขึ้น   จึงเกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านชาวอังกฤษขึ้นหลายต่อหลายครั้ง

               แต่ก็ถูกปราบปรามลงได้ทุกครั้ง

อังกฤษเริ่มสังเกตเห็นว่า  การลุกฮือต่อต้านอังกฤษทุกครั้ง  มักจะมีประชาชนจากรัฐเบงกอลมาร่วมด้วยเสมอ  รัฐบาลอังกฤษจึงเริ่มคิดหาวิธีที่จะกำหราบชาวเบงกอล


(พื้นที่สีแดงเลือดหมู  คือ เบงกอล เพรสซิเดนซี่)

ตอนนั้น   เบงกอลมีฐานะเป็น เบงกอล เพรสซิเดนซี่  ประกอบด้วยรัฐโอดิสสา , รัฐพิหาร , บางส่วนของรัฐชาร์ตติสการ์ห  และ  รัฐอัสสัม  ถือเป็นจังหวัดของอังกฤษในอินเดียที่ใหญ่ที่สุด  มีประชากรมากที่สุดถึง 78 ล้านคน และแน่นอนว่า เป็นจังหวัดที่ให้ผลผลิตมากที่สุดด้วย

ปีค.ศ. 1905   อังกฤษก็คิดแผนการที่แยบยลได้ที่เรียกว่า  แบ่งแยกแล้วปกครอง


(อังกฤษขีดเส้นแบ่งรัฐเบงกอล ออกเป็นสองส่วน  เป็นเบงกอลตะวันออก และ เบงกอลตะวันตก) 

อังกฤษตัดสินใจแบ่งรัฐเบงกอลออกเป็นสองส่วน เป็นเบงกอลตะวันออก  และ  เบงกอลตะวันตก   ด้วยการอ้างเหตุผลว่า  เพื่อจัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบ โดยแยกพื้นที่มีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ที่มีชาวฮินดูอาศัยเป็นส่วนใหญ่ออกจากกัน  เพื่อสะดวกแก่การปกครอง

สุดท้ายก็ได้  เบงกอลตะวันออก  ที่มีชาวมุสลิมอาศัยเป็นส่วนใหญ่  และ  เบงกอลตะวันตกที่มีชาวฮินดูอาศัยเป็นส่วนใหญ่


(ลอร์ด เคอร์ซอน  ผู้แบ่งรัฐเบงกอลออกเป็นสองส่วน  ตามนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง)

ผู้ที่คิดแผนการนี้ และ ดำเนินการจนสำเร็จก็คือ ท่านลอร์ด เคอร์ซอน(LORD CURZON)  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนในแผ่นดินอินเดีย(VICEROY OF INDIA)

การแบ่งดินแดนในครั้งนี้  ได้รับการสนับสนุนจากชาวมุสลิม  และ นาวาบ ซัลลิมุลลาห์ แห่ง ดักกา ผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอิสลาม   ในขณะที่ชาวฮินดูเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วย


(ลอร์ด ฮาร์ดินจ์)  

เนื่องจากได้รับการต่อต้านอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษที่นับวันจะแข็งแกร่งมากขึ้น  การแยกดินแดนดังกล่าวในปีค.ศ. 1905  จำต้องยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1911 โดยลอร์ด ฮาร์ดินจ์ (LORD HARDINGE)  เพื่อลดแรงกดดันของชาวฮินดูที่พูดภาษาเบงกาลีให้น้อยลง

กระนั้น  ผลพวงจากการแยกดินแดนเป็นสองเบงกอลดังกล่าว  ได้กลายมาเป็นแนวทางในการแบ่งแยกดินแดนปากีสถานตะวันออก ออกไปจากอินเดียในปีค.ศ. 1947

จะเห็นว่า  ประชากรส่วนใหญ่ในรัฐเบงกอลทั้งตะวันออก และ ตะวันตก  ต่างก็คุ้นเคยกับการใช้ภาษาพูดเบงกาลีมานานหลายชั่วอายุคน  ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม

               เริ่มตั้งแต่นาวาบของ จักรพรรดิ จาฮังกีร์ เข้ามาปกครองดินแดนที่ห่างไกล เขาต้องการจะสร้างผลงานให้เข้าตาจักรพรรดิ  ด้วยการใช้นโยบายบังคับให้ผู้คนในพื้นที่ให้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาฮินดูมาเป็นศาสนาอิสลาม   

               แต่การบังคับนี้  กระทำได้แต่กับคนยากไร้ ที่ไม่ได้รับการศึกษาเช่น  ชาวไร่ชาวนาเท่านั้น   แต่กับคนที่มีฐานะดี และ มีการศึกษา  เขาจะไม่ยอม

               ชาวไร่ชาวนาไร้การศึกษาเหล่านี้ อ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้  จึงยากที่จะศึกษาภาษาอูร์ดู  ไม่ต้องพูดถึงภาษาอารบิค ซึ่งยากกว่า

               คนเหล่านี้จึงยังมีภาษาเบงกาลีฝังอยู่ในสายเลือดของตัวเองมาตลอด

               ปีค.ศ. 1948  หนึ่งปีหลังจากการสถาปนาประเทศปากีสถานแล้ว  รัฐบาลปากีสถานที่กรุงการาจี ก็ประกาศให้ภาษาอูร์ดู เป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวของปากีสถาน  ทำให้ชาวปากีสถานตะวันออก ซึ่งเคยใช้ภาษาเบงกาลีเป็นหลักมาช้านาน  และ ไม่เข้าใจภาษาอูร์ดูเลย ได้รับความลำบาก และ เดือดร้อนมาก  

               เหตุการณ์จะพัฒนาไปในทางใด   โปรดติดตามในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .