กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                              (27 มีนาคม 2565) 

กว่าจะเป็นวันภาษาแม่นานาชาติ(ตอน4-จบ)

โดย         เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อรัฐบาลปากีสถานที่กรุงการาจี ประกาศให้ภาษาอูร์ดู เป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวของทั้งปากีสถานตะวันตก และ ตะวันออก  ก็สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวปากีสถานตะวันออกอย่างมาก


(แผนที่แสดงประเทศปากีสถานตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาล และ  ปากีสถานตะวันออก ที่แยกตัวออกมาจาก รัฐเบงกอลของอินเดีย)

               เพราะคนเหล่านี้ดำรงชีวิตท่ามกลางผู้พูดภาษาเบงกาลีมาโดยตลอดตั้งแต่เกิด  และไม่เคยคิดว่า  วันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนตัวเองให้มาหัดใช้ภาษาอูร์ดูในทันทีทันใด

               ชาวปากีสถานตะวันออก พยายามร้องเรียนผ่านไปยังรัฐบาลกลางหลายต่อหลายครั้ง ให้ยอมรับภาษาเบงกาลี  และ ประกาศให้ภาษาเบงกาลี  หรือ ภาษาบังกลา เป็นภาษาราชการที่สอง  เพื่อว่าพวกเขาจะสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการได้

               แต่ด้วยทัศนคติของรัฐบาลกลาง ที่มองชาวปากีสถานตะวันออกซึ่งแม้จะนับถือศาสนาอิสลามเหมือนกันด้วยภาพพจน์ที่ไม่ดี  เช่น  รัฐบาลการาจี เรียกชาวปากีสถานตะวันออกว่า  พวกน่าเกลียด  พวกตัวดำ  ไร้การศึกษา และ พวกที่ไม่ได้เป็นอิสลามดั่งเดิม 

หมายความว่า  คนเหล่านี้เคยเป็นฮินดูมาก่อน  ก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามทีหลัง

               คำตอบของรัฐบาลการาจี จึงแข็งกร้าวไม่ยอมเปลี่ยนจุดยืนเด็ดขาด


(ประชาชนในเมืองดักกา ออกมาประท้วงกันบนถนน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1952)

               ชาวปากีสถานตะวันออก ในเมืองดักกา ซึ่งเป็นเมืองหลวง จึงได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในเรื่องดังกล่าว  โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดักกา  และประชาชนจำนวนมากมาร่วมสนับสนุนด้วย

               การประท้วงมีความแข็งแกร่งขึ้น  และ  ดูเหมือนว่ารัฐบาลเริ่มจะคุมไม่อยู่

               วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1952  อาจเพราะทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้เดินขบวน  และ ความไม่ไว้ใจเกรงว่าสถานการณ์จะบานปลาย   ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมฝูงชนก็ได้   ตำรวจของเมืองดักกา จึงเปิดฉากยิงใส่ประชาชนที่เดินขบวน  เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน  และ  มีผู้เสียชีวิต 5 คน


(ภาพโมเสก บนกำแพง ของ อาบุล บาร์คัต , ราฟิค อุดดิน อาห์เมด ,อับดุล ซาลาม , อับดุล จับบาร์  ปรากฎอยู่บนกำแพงของมหาวิทยาลัยดักกา)

               ทั้งห้าคนคือ  อับดุล ซาลาม ,  อาบุล บาร์คัต  ,  ราฟิค อุดดิน อาห์เหม็ด   อับดุล  จับบาร์  และ  ชาฟิออร์  ราห์มาน   ทั้งหมดเป็นมุสลิม

               เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนทั้งประเทศอย่างยิ่ง เพราะปากีสถานเป็นประเทศเพิ่งเกิดใหม่ 5 ปีเท่านั้น

               ต่อมาในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ.1956  รัฐบาลปากีสถาน จำต้องประกาศให้ภาษาเบงกาลี เป็นภาษาราชการอีกภาษาหนึ่ง  ประชาชนจึงวางแผนที่จะสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียจากการเรียกร้องในครั้งนั้น


(ชาฮีด มินาร์  อนุสรณ์แด่ผู้พลีชีพ )

               อนุสรณ์สถานแห่งนี้เรียกว่า  ชาฮีด มินาร์(SHAHEED MINAR)  ที่แปลว่า  อนุสรณ์เพื่อผู้พลีชีพ ซึ่งสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1963

               เรื่องราวในวันแห่งการสูญเสียก็คงจะเงียบหายไป  หากไม่มีนายราฟิคุล อิสลาม และ  นายอับดุส ซาลาม ชาวบังคลาเทศในขณะนั้น (บังคลาเทศแยกประเทศออกมาจากปากีสถานในปีค.ศ. 1971) ในโอกาสหน้าผมจะเล่าเรื่องการเกิดของบังคลาเทศครับ


(นายโคฟี่  อันนาน)

               ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ได้เขียนจดหมายถึงนายโคฟี อันนาน(KOFI ANNAN) เล่าเรื่องราวทั้งหมดนี้ และ ให้เลขาธิการองค์การสหประชาติขอพิจารณาวันดังกล่าวให้เป็นวันสำคัญเพื่อเป็นที่ระลึก  จนในที่สุดสหประชาชนติได้ประกาศสถาปนาวันภาษาแม่นานาชาติให้ตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่ถูกสังหารในวันดังกล่าว  และ  หลายคนที่อาจจะพิการตลอดชีวิต 

               เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า  ทำไม  ชาวปากีสถานตะวันออก จำนวนมากยอมเสี่ยงชีวิตออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ถ้าจะว่าไป  ก็เหมือนกับเรื่องนามธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งภาษาพูดที่พวกเขาใช้งานได้

               โดยปกติ   คนที่จะออกมาเดินขบวนเรียกร้องทางการเมือง  มักจะเรียกร้องในสิ่งที่เป็นรูปธรรม  เช่น   ปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่   ของแพง  เป็นต้น  แต่คนที่ยอมเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงตายเพื่อไปแลกกับวัฒนธรรมที่มีรากเหง้ายาวนาน  โดยไม่ได้รับสินจ้างรางวัลใดๆ  จึงเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย  

               พวกเขาทำไปด้วยจิตวิญญาณ  และ  สัญชาติญาณแห่งความรักในภาษาพูดของปู่ย่าตายายที่สืบทอดลงมา

               ผมจึงขอรำลึกถึงบุคคลเหล่านี้  และชื่นชมในความกล้าหาญต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้องจนกลายเป็นวัน  ภาษาแม่นานาชาติ ที่จะต้องดำรงอยู่ต่อไปตราบนิรันดร์

               ด้วยจิตคารวะ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .