โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 เมษายน 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากผมเขียนเรื่องราวของทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินเดียที่มีชื่อว่า TATA GROUP เมื่อหลายเดือนก่อน  มีท่านผู้อ่านเขียนมาขอให้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของตระกูลนี้  จึงขอรวบรวมมาเล่าสู่กันฟังครับ

               ก่อนอื่น  ผมขอนำท่านไปสำรวจแผนที่ของภูมิภาคแถบนี้เสียก่อน  จะเห็นว่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย  แถบรัฐปัญจาบ  รัฐกุจราฐ  อยู่ไม่ไกลจากภาคใต้ของของเปอร์เชีย  หรือ ประเทศอิหร่านในปัจจุบันนี้เท่าไหร่นัก


(ระยะทางระหว่างอิหร่าน และ อินเดีย ไม่ไกลกันเลย สามารถเดินทางได้ทั้งทางบก และ ทางน้ำ)

               ตามประวัติศาสตร์  รอบๆทะเลสาบแคสเปียน ถือเป็นถิ่นกำเนิดของชนเผ่าหนึ่ง หลังจากนั้น  ชนเผ่านี้ก็อพยพกระจัดกระจายไปหลายสาย 

               สายหนึ่งอพยพไปทางตะวันตกเข้าไปในยุโรป  ต่อมาชนเผ่านี้ถูกเรียกว่า ชาวอินโดยูโรเปียน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวยุโรปบางส่วนในปัจจุบัน

               อีกกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นเปอร์เชีย หรือ อิหร่าน ในปัจจุบันเป็นประชาชนชาวอิหร่าน


(รูปสัญลักษณ์แรกๆของศาสนาโซโรแอสเทรียน)

               อีกกลุ่มหนึ่ง  อพยพมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  ผ่านปากีสถาน มาถึงอินเดีย  เรียกกันว่า  ชนเผ่าอารยัน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้จารึกคัมภีร์พระเวท   

แรกทีเดียว  ชนเผ่านี้นับถือศาสนา โซโรแอสเทรียน(ZOROASTRIANISM)  ศาสนาเก่าแก่ที่มีผู้ประกาศศาสนาคือ โซโรแอสเตอร์  นับถือเทพเจ้า อาฮูรา มาสดา(AHURA MAZDA) เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญาเป็นเทพเจ้าสูงสุดของพวกเขา

               ชาวโซโรแอสเทรียน บูชาไฟ 


(ไฟ เป็นสัญลักษณ์ของโซโรแอสเทรียน)

ศาสนาโซโรแอสเทรียน  มีกำเนิดมาตั้งแต่ประมาณ 2 พันปีก่อนคริสตกาล  หรือ ประมาณ 4000 กว่าปีที่แล้ว

               การอพยพเข้ามาในอินเดียของชาวเปอร์เชียนโบราณมีหลายสาเหตุด้วยกัน  แต่การอพยพครั้งสำคัญในราวศตวรรษที่ 8 เป็นการอพยพด้วยเหตุผลทางศาสนา

เพราะเมื่อศาสนาอิสลามถือกำเนิดในราวปีค.ศ. 642 ในประเทศซาอุดิอารเบีย ได้เผยแผ่ออกไปในคาบสมุทรอารเบียน และ พื้นที่โดยรอบ  จากนั้นก็ได้เข้าครอบครองดินแดนเปอร์เชียในราวศตวรรษที่ 7

การเผยแผ่ศาสนาอิสลามเป็นไปด้วยการใช้กำลัง  ทำให้ชนพื้นเมืองเดิมในดินแดนเปอร์เชีย ที่นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียนไม่อาจอาศัยอยู่ในดินแดนนี้ได้อีกต่อไป  จำต้องอพยพเพื่อหนีการบังคับทางศาสนา ไปสู่ดินแดนที่คิดว่าจะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่ดีกว่า


(รัฐกุจราฎ เป็นสถานที่ที่ชาวฟาร์ซี อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอินเดีย  นอกเหนือจาก เมืองมุมไบ ในรัฐมหาราษฎระที่อยู่ต่ำลงมา)

และนั่นคือ  ที่ราบลุมแม่น้ำสินธุ ที่ใหญ่ที่สุด  และ  อุดมสมบูรณ์มากที่สุดของอินเดีย    

               การอพยพในสมัยศตวรรษที่ 8 ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นชนเผ่า ฟาร์ซี(FARSIS)นั้น มีสมาชิกครอบครัวหนึ่งอพยพเข้ามาด้วย เป็นตระกูลที่จะมีบทบาทในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศอินเดียในอนาคตเป็นอย่างมาก คือ  ตระกูลตาต้า

               ชนเผ่าฟาร์ซี นับถือศาสนาโซโรแอสเทรียน  มีความเคร่งครัดในการประพฤติทางศาสนาเป็นอย่างยิ่ง   หากเขาเลือกที่จะไปลงหลักปักฐานในดินแดนอื่นที่ไม่ใช่ประเทศอินเดีย  คาดว่า  พวกเขาคงจะอาศัยอยู่ยาก หรือ  อาจจะต้องอพยพต่อไปในที่สุด

               แต่เนื่องจากชาวฮินดูในอินเดีย มีความอดทนยอมรับความแตกต่างของศาสนาอื่น(TOLERANCE) มากพอสมควร  จึงทำให้ชาวฟาซีกลุ่มนี้เลือกที่จะลงหลักปักฐานในเมือง นาฟซารี(NAVSARI) ของรัฐกุจราฎ ที่อยู่ในภาคตะวันตกของอินเดีย

               ดั่งเดิมทีเดียว  ตระกูลตาต้า เป็นตระกูลที่ยากจน  แต่ได้รับการเคารพนับถือจากชุมชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอาชีพเป็นนักบวช

               ทำไม  ตระกูลตาต้า จึงเปลี่ยนแปลงหักเหกลายมาเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย และ  ของโลกได้ 

               ในสัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าต่อครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .