โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (24 เมษายน 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จัมเซตจิ ตาต้า เป็นคนมีวิสัยทัศน์   เขามีความคิดใหญ่ๆอยู่ 4 เรื่องตลอดชีวิต 65 ปีของเขา

               หนึ่ง เขาตั้งใจที่จะสร้างโรงงานถลุง และ ผลิตเหล็ก อาจเป็นเพราะเขาเกิดในยุคที่การปฎิวัติอุตสาหกรรมเพิ่งจะอุบัติขึ้น ความต้องการเรื่องเหล็กจึงเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษกว่าปกติ

               ในที่สุด  เขาก็สร้างโรงงานถลุงเหล็กขึ้น  และ  กลายเป็นพื้นฐานสำคัญที่แข็งแกร่งของธุรกิจในตระกูลตาต้าในเวลาต่อมา

               สอง  เขาต้องการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เพื่อสร้างพลังงานที่สะอาดเพื่อโลก  คิดดูนะครับ  คนในยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว จะคิดถึงเรื่องเช่นว่านี้ได้อย่างไร   แม้ว่าเขาจะไม่สามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จในช่วงชีวิตของเขา  แต่ เซอร์ ดอรับจิ ตาต้า(SIR DORABJI TATA)  ลูกชายของเขาก็สามารถสานงานต่อจนสำเร็จในเวลาต่อมา 


(สถาบัน IISC เมืองบังกาลอร์ ที่ จัมเซตจิ ตาต้า ควักเงินส่วนตัวลงทุนสร้าง จนกลายเป็นสถาบันที่โด่งดังมากในปัจจุบัน)

               สาม  เขาต้องการสร้างสถาบันการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ในระดับโลก  เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอินเดียในอนาคต  ส่วนตัวเขาเองยังได้บริจาคเงิน 3 ล้านรูปีซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลในยุคนั้นในการก่อตั้ง สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย(THE INDIAN INSTITUTE OF SCIENCE) ขึ้นที่เมืองบังกาลอร์ ในปีค.ศ.1892 ตรงกับพ.ศ. 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5

              แนวคิดนี้จัมเซตจิ ได้รับอิทธิพลมาจาก  สวามี วิเวกอนันดา (SWAMI VIVEKANANDA) ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของฮินดูยุคใหม่ ที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างก้าวล้ำไปในอนาคต

               จะเห็นว่า อินเดียมีพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ไปไกลล้ำหน้ากว่าประเทศไทยมากทีเดียวตั้งแต่กว่าร้อยปีที่แล้ว   และแม้จนทุกวันนี้   เพราะฉะนั้น   เราต้องหยุดมองอินเดียว่าเป็นชาติด้อยพัฒนาได้แล้ว  

               ปัจจุบัน  สถาบันวิทยาศาสตร์นี้  กลายเป็นสถาบันแนวหน้าทางวิทยาศาสตร์หนึ่งในห้าของอินเดีย  มีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นที่เรียนจบจากที่นี่  เช่น  ประธานองค์กรวิจัยทางด้านอวกาศแห่งอินเดีย (INDIAN SPACE RESERCH ORGANISATION)

               สี่  เขาต้องการจะสร้างโรงแรมชั้นนำระดับโลกขึ้น


(โรงแรม วัตสัน ในเมืองบอมเบย์ -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ตำนานเล่าว่า  วันหนึ่งจัมเซตจิ ซึ่งขณะนั้นเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะดีได้เดินเข้าไปในโรงแรมวัตสัน ในเมืองบอมเบย์  ซึ่งเป็นโรงแรมระดับแนวหน้าของยุคที่มีชาวอังกฤษเป็นเจ้าของ

               พนักงานปฎิเสธไม่ให้เขาเข้าไปในโรงแรม  ไม่ใช่เพราะว่าเขาแต่งตัวไม่ดี แต่ด้วยเหตุผลว่า  โรงแรมนี้ต้อนรับเฉพาะชาวยุโรป  และ  เขาเป็นชาวอินเดีย

               จัมเซตจิ รู้สึกโกรธกับเรื่องนี้มาก  แต่ก็ยอมถอยออกมา

               กรณีแบบนี้  ไม่ต่างอะไรกับกรณีสวนสาธารณะในเมืองเซี่ยงไฮ้ในยุคเดียวกัน ที่มีป้ายเขียนไว้ตรงทางเข้าว่า  “หมาและคนจีนห้ามเข้า”

               เขาจึงตั้งใจไว้ตั้งแต่วันนั้นว่า  จะสร้างโรงแรมของตัวเองสักโรงหนึ่ง ให้เป็นโรงแรมที่ดีกว่า โรงแรมวัตสันด้วยซ้ำ

               เขาจึงเริ่มแผนการสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวเป็นแห่งแรกของอินเดีย  ตั้งอยู่ริมถนนชายทะเลของเมืองบอมเบย์  ด้วยเจตนาที่จะให้โรงแรมแห่งนี้เป็นหน้าเป็นตาของเมือง  และ  ของประเทศ

               ที่สำคัญก็คือ  ต้องการจะตบหน้าบรรดาพวกอังกฤษยะโสที่ห้ามคนอินเดียเข้าไปในโรงแรมของชาวอังกฤษ  และเพื่อยืนยันว่า  คนอินเดียสามารถเป็นเจ้าของโรงแรมที่เหนือชั้นกว่าโรงแรมของคนอังกฤษด้วยซ้ำ


(โรงแรม ทัช มาฮาล พาเลซ ที่ จัมเซตจิ ตาต้า เจตนาจะสร้างให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่า โรงแรมวัตสันของชาวอังกฤษ  จนกลายเป็นหน้าตาของชาวบอมเบย์แม้จนทุกวันนี้ ในขณะที่ โรงแรมวัตสันกลายเป็นตึกโทรมๆเก่าๆไปแล้ว)

               โรงแรมนี้มีชื่อว่า  ทัช มาฮาล พาเลซ (TAJ MAHAL PALACE HOTEL) เปิดบริการเมื่อวันที่ 19  ธันวาคม ปีค.ศ. 1903 เป็นโรงแรมที่ จัมเซตจิ ตาต้า ได้เข้าไปชื่นชมความยิ่งใหญ่ด้วยตัวเองก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปีถัดมา


(ประตูชัย หรือ GATE OF INDIA มีจารึกระบุว่า  วันที่ 2 ธันวาคม ปีค.ศ. 1911 พระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ขึ้นฝั่งที่เมืองบอมเบย์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ปีค.ศ. 1911  กษัตริย์จอร์จ ที่ 5 แห่งอังกฤษ ได้เสด็จเยือนอินเดีย ซึ่งเป็นอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยพระองค์เสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองบอมเบย์

หลังจากนั้น  รัฐบาล บริติช ราช ซึ่งปกครองอินเดียอยู่จึงมีดำริจะสร้างประตูชัยขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสด็จเยือนอินเดียของพระองค์  นัยยะก็คือ  เป็นการประกาศชัยชนะในการยึดครองอินเดีย


(ประตูชัย ในวันที่อังกฤษถอนทหารชุดสุดท้ายออกไปจากแผ่นดินอินเดีย- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ประตูชัยแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 1924 และ ตั้งอยู่ด้านหน้าของโรงแรม ทัช มาฮาล พาเลซ พอดี

               ปีค.ศ. 1948  กองทัพชุดสุดท้ายของอังกฤษต้องเดินทางลงเรือตรงท่าประตูชัยแห่งนี้เพื่อออกจากอินเดียหลังจากอินเดียประกาศอิสรภาพ

               ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า   มีชาวอินเดียมากน้อยแค่ไหนที่เช่าโรงแรม ทัช มาฮาล พาเลซ เพื่อดูกองทัพของอังกฤษถอนออกไปในสภาพของผู้แพ้


(ภาพกว้างจากทะเลถ่ายเข้ามาที่ฝั่ง  จะเห็นประตูอินเดียด้านขวาสุดของภาพ ถัดมาก็คือโรงแรม ทัช มาฮาล พาเลซ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ผมเชื่อว่า  ในวันนั้น  ดวงวิญญาณของจัมเซตจิ ตาต้า  และ  บรรดาลูกหลานของเขาคงจะยืนมองจากโรงแรม ทัช มาฮาล พาเลซ ดูทหารอังกฤษถอนออกไปด้วยจิตใจที่ฮึกเหิมแน่นอน

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า   สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .