โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 พฤษภาคม 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในขณะที่ จัมเซตจิ ตาต้า กำลังเป็นนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จมากๆ เขาให้การสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหว สวาเดชชี(SWADESHI MOVEMENT) ที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้อินเดียยืนหยัดบนขาของตนเองได้

               เขาถึงขนาดตั้งชื่อโรงงานทอผ้าโรงใหม่ของเขาว่า  โรงงานทอผ้าสวาเดช


(แผ่นป้ายโฆษณา หรือ เอกสารระบุชื่อ โรงงาน ทอผ้าสวาเดช)

               ต้องไม่ลืมว่า  ขณะนั้น  อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ  การเคลื่อนไหวหรือกระทำการใดๆให้เป็นที่ขัดเคืองใจต่ออังกฤษ  อาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจของตัวเองได้

               ขณะนั้น  อินเดียสั่งผ้าจากเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษเข้ามาเป็นจำนวนมาก  เพราะผ้าจากอังกฤษมีเนื้อนุ่มกว่า  เมื่อเทียบกับเนื้อผ้าที่หยาบกระด้างที่ผลิตในอินเดีย

               เขาจึงเริ่มทำการทดลองปลูกฝ้ายหลายๆชนิดไปทั่วทั้งอินเดีย  เพื่อหาพันธุ์ที่ดีที่สุดในการทอผ้า แล้วเขาก็พบว่า กรรมวิธีการเพาะปลูกของอียิปต์โบราณเป็นวิธีที่จะทำให้ได้ฝ้ายที่อ่อนนุ่ม  รวมทั้งเปลี่ยนกรรมวิธีในการทอผ้าจาก RING SPINDLE  มาเป็นระบบ  THROSTLE  ซึ่งให้ผลที่ดีกว่า

               (ขอเรียนตามตรงว่า  ผมไม่มีความเข้าใจในระบบการทอผ้าทั้งสองระบบเลยครับ)

               ปีค.ศ. 1900  ระหว่างเดินทางไปทำธุรกิจในเยอรมัน  เขาล้มป่วยหนัก  และหลังจากรักษาตัวอยู่นานหลายปี   จัมเซตจิ ตาต้า ก็เสียชีวิตที่เมือง บาด เนาไฮม์(BAD NAUHEIM) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1904


(สุสานของอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ จัมเตจิ ตาต้า)

               ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานของชาวฟาร์ซีในสุสาน บรู๊ควู้ด ,วอคกิ้ง(BROOKWOOD CEMETERY , WOKING) ประเทศอังกฤษ

               สิ่งที่จัมเซตจิ ตาต้า ตั้งเป้าหมายที่จะทำ 4 อย่างในชีวิต มีเพียงสิ่งเดียวที่เขาทำสำเร็จในช่วงชีวิตของเขาคือ  โรงแรม ทัชมาฮาล พาเลซ   3 สิ่งที่เหลือคือ โรงงานถลุงเหล็ก  สถาบันศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์  และ  โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ  ได้รับการสานต่อจนสำเร็จในรุ่นลูกรุ่นหลานต่อมา

               นับได้ว่า  จัมเซตจิ ตาต้า เป็นผู้บุกเบิก และ เป็นบิดาแห่งอุตสาหกรรมยุคใหม่ของอินเดียอย่างแท้จริง

               ตลอดชีวิตของ จัมเซตจิ  เขาได้บริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากมาย  หากนำเงินในปีนั้น มาคำนวนค่า และเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน ก็จะมีค่าราว 102 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน   แน่นอนว่า  ทิ้งทั้งบิลล์ เกตส์ และ  วอร์เรน บัฟเฟตต์ อย่างไม่เห็นฝุ่นทีเดียว


(ดอรับจิ ตาต้า)

               หลังจากจัมเซตจิ เสียชีวิต ลูกชายสองคนของเขาคือ ดอรับจิ ตาต้า(DORABJI TATA) และ ราตานจิ ตาต้า(RATANJI TATA) ได้ทำหน้าที่บริหารกิจการตาต้ากรุ๊ปต่อ  

ดอรับจิ ตาต้า สานต่อความคิด ความฝันของจัมเซตจิ ในเรื่องอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในธุรกิจของตระกูลตาต้า  และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก 


(ตราของบริษัท THE NEW INDIA ASSURANCE )

นอกจากนี้  ดอรับจิ ยังก่อตั้ง บริษัทประกันภัย ที่ชื่อ NEW INDIA ASSUARANCE ขึ้นในปี ค.ศ. 1919  ถือเป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย  แต่ต่อมาในปีค.ศ. 1973  บริษัทดังกล่าวถูกยึด หรือ อาจจะเรียกว่า ผนวกเข้ามาเป็นของรัฐบาลอินเดีย  

ปัจจุบัน  บริษัทประกันภัยแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังของอินเดีย

ดอรับจิ หลงไหลในกีฬาเป็นอย่างมาก  และ  เป็นบุคคลที่มีความชาตินิยมที่รุนแรงด้วย


(ตราสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิค ในปีค.ศ.1924)

เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานสมาคมโอลิมปิคแห่งอินเดีย (INDIAN OLYMPIC ASSOCIATION)  และในปีค.ศ. 1924  ซึ่งมีการแข่งครั้งกีฬาโอลิมเปียด(OLYMPIAD) ครั้งที่ 8  ที่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส 


(สนามกีฬา โคลอมเบส สถานที่เปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมปีค.ศ. 1924)

เข้าใจว่า  อังกฤษซึ่งยึดครองอินเดียในขณะนั้น คงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะส่งนักกีฬาไปแข่งขันได้  เพราะอังกฤษเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเพียง 6 ปีเท่านั้น  และ คงจะไม่สนใจที่จะจ่ายเงินให้คนอินเดียไปแข่งกีฬาที่ยุโรป   เพราะไม่เห็นความสำคัญ

ดอรับจิ จึงเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเงินเพื่อนักกีฬาอินเดียจะได้เดินทางไปแข่งขันที่ฝรั่งเศสได้ในที่สุด

เข้าใจว่า  เขาคงจะจ่ายเงินจากประเป๋าตัวเองร้อยเปอร์เซนต์  โดยไม่ต้องไปขอรับบริจาคจากบริษัท หรือ  นักธุรกิจทั่วไปให้ยุ่งยาก

สัปดาห์หน้าผมจะพูดถึงทายาทรุ่นต่อมาของตระกูลตาต้า  ที่สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .