โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน7)

ซอกซอนตะลอนไป                           (15 พฤษภาคม 2565)

โคตรอภิมหาเศรษฐีผู้มีคุณธรรม(ตอน7)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 15 ตุลาคม ปีค.ศ. 1932 เป็นวันที่ เจ.อาร์.ดี ตาต้า ขับเครื่องบินใบพัดเดียว PUSS MOTH  จากเมืองการาจี(ขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย)ไปยัง บอมเบย์ และบินต่อไปยัง มัดราส(MADRAS) หรือ เชนไน ในปัจจุบัน   ถือเป็นก้าวย่างที่หนึ่งของบริษัทสายการบินตาต้า ซึ่งตาต้า และ เนวิลล์ วินต์เซนต์ เพื่อนสนิทช่วยกันฟูมฟักขึ้นมา


(เส้นทางการบินของ สายการบินตาต้า จากเมืองการาจี – บอมเบย์ – มัดราส)

               และ ถือเป็นก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ของการบินพาณิชย์ของอินเดีย และ ของเอเชีย  เพราะ สายการบินตาต้าถือเป็นสายการบินพาณิชย์สายแรกของเอเชีย

               เพราะสายการบิน JAPAN AIR LINES เพิ่งจะถือกำเนิดในปีค.ศ. 1951 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น JAPAN AIRLINES ในเวลาต่อมา

               ส่วนสายการบินไทย ก่อตั้งในปีค.ศ. 1959


(เจ อาร์ ดี ตาต้า กับ ลูกที่เขาฟูมฟักอย่างถนุถนอมขึ้นมา  แอร์อินเดีย) 

               สายการบินตาต้า ทำธุรกิจได้กำไรดีมาตลอด  จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  สายการบินตาต้า ก็แปรสภาพกลายมาเป็นบริษัทจดทะบียนในตลาดหลักทรัพย์  แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แอร์ อินเดีย (AIR INDIA) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ปีค.ศ.1946

               สายการบินตาต้าดูเหมือนจะมีอนาคตที่แสนสดใส  เพราะวันที่ 8 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1948  แอร์อินเดียก็ได้บิน เครื่องบิน ล็อคฮีต คอนสเตลเลชั่น แอล-749A ที่มีชื่อว่า MALABAR PRINCESS ออกจาก บอมเบย์ โดยมีจุดหมายปลายทางที่สนามบิน ลอนดอน ฮีตโทรว์ ในอังกฤษ

               ถือเป็นเที่ยวบินนานาชาติเที่ยวแรกของแอร์อินเดีย  มองเห็นความรุ่งเรืองในอนาคตชัดเจน

แต่แล้วก็เหมือนสายฟ้าฟาดลงมา  หลังจากอินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในปีค.ศ.1947  ฝันร้ายของ สายการบินแอร์ อินเดีย ก็มาถึง

               ปีค.ศ. 1953  รัฐบาลของ เยาวหะลาล เนห์รู (JAWAHARLAL NEHRU) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ประกาศยึดสายการบินแอร์อินเดีย มาเป็นของรัฐฯ  แม้ เจ.อาร์.ดี. ตาต้า จะต่อสู้ดิ้นรนอย่างไรก็ตาม  ก็ไม่เป็นผล


(เจ อาร์ ดี ตาต้า (ซ้าย) กับ เยาวหะลาล เนห์รู (ขวา) บันทึกในยุคหลังบอกว่า  มันคือการปล้นครั้งยิ่งใหญ่ของเนห์รู ต่อ นักธุรกิจตาต้า)

               แอร์ อินเดีย ถูกยึดเป็นของรัฐบาลอินเดีย ในที่สุด

               แอร์ อินเดีย กลายเป็นสายการบินแห่งชาติของอินเดียนับแต่นั้นมา  ซึ่งกาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นในเวลาต่อมาว่า  หน่วยงานของรัฐไม่สามารถบริหารกิจการบินขนาดใหญ่แบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่เอกชนเคยทำ   จึงทำให้สายการบินขาดทุนเรื่อยมา  จนถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้อีก

               ถ้าวิญญาณของนายเยาวหะราล เนห์รู จะรับรู้ได้  คงต้องก้มลงกราบเท้าสมาชิกตระกูลตาต้า ที่เขาได้กระทำการล่วงละเมิด  และ  ทำร้ายเศรษฐกิจของประเทศอินเดียอย่างใหญ่หลวง  

               ในที่สุด  รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของ นายนเรนทรา โมดี จากพรรค BJP คู่แข่งทางการเมืองของพรรคคองเกรส ของ ตระกูลคานธี  ประกาศขายกิจการ แอร์อินเดีย  เพราะไม่สามารถทนแบกภาระการขาดทุนสะสมที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอีกต่อไปได้  และเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็คือ 

               ผู้ที่ชนะการประมูลซื้อกิจการ แอร์อินเดีย ก็คือ ตาต้า กรุ๊ป 

               วันที่ 27 มกราคม 2022  ตระกูลตาต้า ได้ประกาศว่า  ขั้นตอนสุดท้ายของการถ่ายโอนหลังจากการซื้อขายสายการบินแอร์อินเดียสำเร็จเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  ด้วยยอดเงิน180,000 ล้านรูปี แบ่งออกเป็นการจ่ายหนี้เก่าให้สายการบิน 153,000 ล้านรูปี  และ เป็นเงินสดอีก 27,000 ล้านรูปี

ตระกูลตาต้า เข้าควบคุมและบริหารสายการบินแอร์ อินเดีย อย่างเป็นทางการนับแต่วันนั้น

เหมือนลูกน้อยที่ถูกเลี้ยงดูฟูมฟักถนุถนอมมาเป็นเวลานาน 21 ปีก่อนจะถูกพรากไปจากอกอย่างไม่แยแส   แต่ในที่สุดก็ได้กลับคืนสู่อ้อมกอดของพ่อแม่อีกครั้ง หลังจาก 69 ปีผ่านไป

               เรื่องราวเหมือนกับหนังอินเดียไม่มีผิด

               แอร์อินเดีย ถือกำเนิดจาก เจ อาร์ ดี ตาต้า  หลุดมือไปในยุคของ เจ อาร์ ดี เช่นกัน  และ สุดท้ายก็กลับสู่ตระกูลตาต้าอีกครั้งในสมัยของ  ราทาน ตาต้า 


(ทวิตเตอร์ ของ ราทาน ตาต้า ที่เขียนเพื่อแสดงความยินดีต้อนรับแอร์อินเดียกลับสู่ตระกูลอีกครั้ง)

               เจ อาร์ ดี ตาต้า  ได้รับการยกย่องว่า  เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็จริง  แต่เขาเป็นคนที่เคร่งครัดต่อจริยธรรมในการประกอบกิจการการค้าเป็นอย่างยิ่ง  เขาปฎิเสธที่จะจ่ายสินบนให้แก่นักการเมือง  และ ไม่ยอมทำธุรกิจในตลาดมืด หรือ ทำธุรกิจใต้โต๊ะเป็นอันขาด

               ปี ค.ศ. 1992  เขาได้รับการประกาศเกียรติคุณด้วยเครื่องราชชั้น ภารตะ รัตนา(BHARAT RATNA)  ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดเท่าที่บุคคลธรรมดาจะได้รับ   นอกจากนี้  ยังได้รับเครื่องราชจากฝรั่งเศส ที่เรียกว่า LEGION OF HONOUR ในฐานะอดีตชาวฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1983 อีกด้วย

               เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1993 ที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ขณะอายุ 89 ปี

               คำพูดของเขาก่อนตายบอกว่า COMME C’EST DOUX DE MOURIR  ซึ่งแปลเป็นไทยประมาณว่า  “การตายมันช่างนุ่มนวลจริงๆ” (HOW GENTLE IT IS TO DIE)

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .