เมื่อวันวิสาขบูชา 2565 ถูกกำหนดผิดวัน

สัพเพเหระ

เมื่อวันวิสาขบูชา 2565 ถูกกำหนดผิดวัน

โดย                   เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ  

               วันที่15 พฤษภาคม 2565  ตามปฎิทินของไทย  และ ประกาศทางราชการ  กำหนดให้เป็นวันวิสาขบูชา

               ผมคงไม่ต้องบรรยายว่า  วันวิสาขบูชา มีความสำคัญอย่างไรในทางพระพุทธศาสนา


(วันวิสาขบูชา กำหนดให้ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 – ภาพจาก KAPOOK TODAY)

               วันดังกล่าว  เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกว่าตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำในเดือนวิสาขะ  หรือ เดือนไวสาขา (VAISHAKHA) ตามปฎิทินของฮินดู

               วันขึ้น 15 ค่ำ หมายถึงวันที่พระจันทร์สุกสว่างเต็มดวง เรียกในภาษาสันสกฤตว่า  ปูรนิมา สุกขละ (PURNIMA SHUKLA) ซึ่งตรงข้ามกับวัน อามาวาสยา กฤษณะ (AMAVASYA KRISHNA) ที่หมายถึงวันเดือนมืดมิด  หรือ วันแรม 15 ค่ำ นั่นเอง

               แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการประกาศดังกล่าว  เพราะหากพิจารณาจากปรากฎการณ์บนท้องฟ้าจะเห็นว่า  วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ยังเป็นวันขึ้น 14 ค่ำอยู่

               แม้กระทั่งเวลา 23.59 น. ของคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2565  พระจันทร์ก็ยังไม่เพ็ญด้วยซ้ำ

               ผมตรวจดูจากปฎิทินของไทยหลายราย  ทุกปฎิทินพูดเหมือนกันหมดเลยว่า วันวิสาขบูชา  ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ทั้งสิ้น

               เป็นเรื่องยากที่เราจะพิจารณาด้วยตาเปล่าว่า  พระจันทร์บนท้องฟ้าเพ็ญเต็มดวงหรือไม่  เมื่อไหร่   ผมจึงของเอารูปจักราศีที่แสดงจุดโคจรต่างๆของดวงดาวในท้องฟ้ามาให้ดูกันเพื่อง่ายแก่การเข้าใจ   


(วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เมื่อพิจารณาจากโปรแกรมผูกดวงทางโหราศาสตร์ จะเห็นว่า พระอาทิตย์ (ลูกศรสีแดงข้างบน) เล็งกัน 180 องศากับ พระจันทร์ (ลูกศรสีแดงข้างล่าง) พอดี โดยมีองศาเท่ากันที่ 01องศา 08 ลิปดา)

               ความหมายของคำว่า  วันขึ้น 15 ค่ำนั้น  ในรูปจักราศีจะแสดงให้เห็นพระอาทิตย์ ที่แทนด้วยเลข ๑  และ พระจันทร์ ที่แทนด้วยเลข ๒  จะอยู่ตรงกันข้ามแบบ 180 องศาเป๊ะๆ

               หมายความ   องศาของพระอาทิตย์ และ พระจันทร์ จะต้องเท่ากัน  และต้องอยู่ในราศีตรงข้ามกัน  ตามภาพ  ซึ่งจะตรงกับเวลา 11นาฬิกา 14 นาที 46 วินาที (โดยประมาณ) ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2565

               ในทางตรงกันข้าม  หากเป็นวันแรม 15 ค่ำ  พระอาทิตย์ กับ พระจันทร์ จะต้องทับกันสนิท หรือ มีองศาที่เท่ากัน ในราศีเดียวกัน (ตามภาพ)


(วันพระจันทร์ดับ หรือ แรม 15 ค่ำ ครั้งต่อไปจะตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 18.30 น. จะเห็นว่า พระอาทิตย์ กับพระจันทร์ จะทับกันสนิท (ลูกศรสีแดงด้านบน)  ซึ่งมีองศาเท่ากันที่ 14 องศา 53ลิปดา)

               เมื่อตรวจสอบกับปฎิทินปัญจางของฮินดู  ซึ่งเป็นปฎิทินแบบ จันทรคติ-สุริยคติ ก็พบว่า  เขาก็กำหนดให้วันที่ 16 พฤษภาคม 2565  เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนไวสาขา  เป็นวันที่พระจันทร์เพ็ญเต็มดวง  


(ปฎิทินปัญจาง ซึ่งเป็นปฎิทินที่เคร่งครัดในเรื่องเวลาโคจรของดวงจันทร์ค่อนข้างมาก ระบุวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เป็นวันเพ็ญ 15 ค่ำ )

               และยังให้คำบรรยายเพิ่มเติมว่า  เป็นวันพุทธะ ปูรณิมา(BUDDHA PURNIMA)  ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า  ซึ่งก็คือ  วันวิสาขะบูชาของไทย

               ต้องไม่ลืมว่า  ชาวฮินดูเองก็นับถือพระพุทธเจ้า ในฐานะผู้ค้นพบสัจธรรมของมนุษย์   นอกเหนือจากนั้น  ชาวฮินดูนับถือว่า  พระพุทธเจ้าเป็นอวตารที่ 9 ของพระวิษณุ

               เรื่องนี้สามารถไปหาอ่านได้ในเรื่อง อวตารทั้ง 10 ปางของพระวิษณุ


(ภาพอวตาร 10 ปางของพระวิษณุ ในวิหารวิษณุ กรุงเทพมหานคร)

               วันพรุ่งนี้ (วันที่ 16 พฤษภาคม 2565)  ชาวอินเดียที่เป็น ชาวฮินดู พุทธ ซิกห์  และ เชน (ยกเว้นชาวมุสลิม) จะทำพิธีบูชา (PUJA) ในโอกาสวัน พุทธะบูชา

               พิธีการบูชา สามารถจะทำได้ทั้งที่บ้าน  โดยสามี หรือ ภรรยา ก็ได้ที่สามารถท่องมนตราของศาสนาฮินดูได้   หรือ  จะไปทำพิธีบูชาที่วิหารใกล้ๆบ้าน  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีวิหารของเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเสมอ

               เพื่อนผมอาศัยอยู่ที่กอลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก   เขาสามารถเลือกที่จะไปทำพิธีบูชาพระพุทธเจ้าได้ที่วิหารพระแม่กาลี  หรือ วิหารพระพิฆเณศวร  หรือ  วิหารของเทพชานี (ดาวเสาร์ตามความเชื่อของไทย) หรือ  แม้กระทั่งในวิหารพระศิวะก็ได้

               ไม่มีข้อจำกัด


(วิหารพระแม่กาลี ที่เมืองกอลกัตตา – ภาพจากกูเกิ้ล)

               แต่ที่แน่ๆก็คือ  จะต้องบูชาพระวิษณุด้วย   เพราะชาวฮินดูเชื่อว่า  พระพุทธเจ้าเป็นอวตารหนึ่งของพระวิษณุ  

               การทำพิธีบูชาของชาวฮินดูแม้ว่าจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย  แต่ก็มีขั้นตอนที่ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลังที่ระบุไว้ 16 ขั้นตอน

               อินเดียให้ความสำคัญแก่วัน พุทธะ ปูรณิมา  อย่างมาก  และกำหนดให้พุทธะ ปูรณิมา ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ

               เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง  ที่ประเทศที่ได้ชื่อว่า  เป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ เป็นหลักอย่างประเทศไทย  กลับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสาระสำคัญของวันวิสาขบูชา  จนกระทั่งผิดพลาดออกมาแบบนี้

               แม้ว่า  จะไม่ได้ทำให้สาระของ วันวิสาขะ เปลี่ยนแปลงไป   แต่ถ้าหากจะทำให้ถูกต้อง  ก็น่าจะสวยงามกว่าที่เป็นอยู่

(วันที่ 15 พฤษภาคม 2565)

Posted in สัพเพเหระ.