อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 มิถุนายน 2565)

อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บนเกาะเซเฮลนี้  มีการค้นพบวิหารเก่าแก่  ที่เชื่อกันว่าถูกสร้างมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรเก่า(THE OLD KINGDOM) ประมาณ 4500 ปีที่แล้ว

               วิหารหลังนี้  สร้างขึ้นเพื่อถวายแก่เทพคนุม (KHNUM) เทพหัวแพะ  ซึ่งตามตำนานของอียิปต์โบราณเชื่อว่า  เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสรรมนุษย์ ด้วยการใช้ดินเหนียวปั้นบนแท่นเครื่องปั้นดินเผาแบบหมุน  และ บางแหล่งก็บอกว่า  เทพคนุมยังเป็นเทพแห่งแม่น้ำไนล์ด้วย 

               นี่คือจุดเชื่อมที่หนึ่ง ระหว่างศาสนาอียิปต์โบราณ และ  ศาสนายูดายของชาวยิว  ซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป


(ศิลาจารึกแห่ง ทุพภิกขภัย บนเกาะเซเฮล – ภาพจากกูเกิล)

มีการค้นพบที่สำคัญก็คือ  ศิลาจารึกบนหินแกรนิตซึ่งเรียกขานกันในเวลาต่อมาว่า “ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย” (THE FAMINE STELE)  ศิลาจารึกดังกล่าวเขียนด้วยภาษาเฮียโรกลิฟส์  ตัวหนังสือเป็นแนวตั้งเป็นคอลัมน์มี 42 คอลัมน์


(ภาพสลักที่ฟาโรห์(ขวามือ)กำลังถวายของให้แด่เทพี สาติส(ซ้ายมือ) – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เหนือจารึก 42 คอลัมน์ขึ้นไป  มีรูปภาพของเทพ และ เทพี 3 องค์ ยืนเรียงกันอยู่   ประกอบด้วย  เทพคนุม เทพเจ้าผู้สร้างสรรมนุษย์  ,   เทพี สาติส(SATIS) เทพีที่เป็นตัวแทนของน้ำท่วมของอียิปต์  และ  เทพี อนูเคต(ANUKET) เทพีแห่งน้ำ และ  น้ำตก

รวมกันเป็นเทพ 3 องค์ ที่เรียกว่า TRIAD  ประมาณว่า  ครอบครัวเทพ

เบื้องหน้าของเทพ และ เทพีทั้งสามองค์ก็คือ  ฟาโรห์ ซอเซอร์ (DJOSER) ฟาโรห์ของราชวงศ์ที่ 3 ของยุคอาณาจักรเก่า ซึ่งมีผู้ขนานนามว่า  เป็นยุคพีระมิด  เพราะพระองค์เป็นผู้ออกคำสั่งให้สร้างพีระมิดเป็นครั้งแรก  และกลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า  พีระมิดแบบขั้นบันได (STEP PYRAMID) ที่เมืองซัคคารา ไม่ไกลจากไคโรนัก

(ดูภาพขยายของฟาโรห์ที่กำลังถวายเครื่องหอมและกำยานในช่วงท้ายของบทความครับ)


(พีระมิดแบบขั้นบันได ที่เมืองซัคคารา  -ภาพโดยผู้เขียน)

และ พีระมิดแบบขั้นบันได ก็กลายมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของการสร้างพีระมิดแบบฉาบเรียบที่เมือง กีซา  และ เมืองอื่นๆทั่วทั้งอียิปต์ในเวลาต่อมา  

ฟาโรห์ ซอเซอร์ มีชีวิตอยู่ระหว่าง 2686 – 2648 ปีก่อนคริสตกาล  หรือประมาณ 4700 ปีที่แล้ว

ในภาพสลักดังกล่าว  ฟาโรห์ซอเซอร์ กำลังถวายสิ่งบูชาให้แก่เทพ และ เทพีทั้งสาม  ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องหอม  หรือ กำยาน ที่ใช้ในการประกอบพิธีบูชาเทพเจ้า   


(ภาพขยายของฟาโรห์ (เป็นคนละภาพจากศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย) ที่กำลังถวายเครื่องหอม หรือ กำยาน)

จารึกแห่งทุพภิกขภัย ดังกล่าว สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยของ ราชวงศ์ปโตเลมี ผู้ปกครองที่เป็นชาวกรีกปกครองอียิปต์ตั้งแต่ 332 ปีก่อนคริสตกาล จนสิ้นสุดในราว 30 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7

จารึกดังกล่าว บรรยายถึงความแห้งแล้งของแม่น้ำไนล์ที่มีระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์จนน้ำไม่ท่วมตลิ่งทั้งสองฝั่ง  และ ระดับน้ำในแม่น้ำก็คงจะลดต่ำลงอย่างมากจนไม่สามารถใช้ในการเพาะปลูกได้

ปรากฎการณ์น้ำน้อยผิดปกติดังกล่าวนี้  ในจารึกระบุว่ากินเวลานาน  7 ปี   ทำให้เกิดภาวะข้าวยาก หมากแพง  จนประชาชนไม่มีอาหารที่จะบริโภคได้เลย

ในช่วงนั้น  อียิปต์มีเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการเกษตร และ กสิกรรม ร้อยเปอร์เซนต์   หากปีใด แม้แต่เพียงปีเดียวที่พืชผลเสียหายหนัก  ประชาชนก็ประสบกับความลำบากแล้ว    แต่นี่นานถึง 7 ปี

ทำไม  น้ำต้องท่วมตลิ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ด้วย   เพราะทุกปีเมื่อถึงช่วงฤดูร้อน  น้ำจากแม่น้ำไนล์จะไหลบ่าลงมาอย่างบ้าคลั่ง  เพราะมีฝนตกหนักในบริเวณป่าดงดินของเอธิโอเปีย และ ในอูกันดา

ฝนตกหนักเท่าไหร่ในสองประเทศนี้  น้ำก็จะไหลทะลักทะลายลงมาเพราะไม่มีอะไรขวางกั้น  และ ทำให้น้ำท่วมสองฝั่งแม่น้ำไนล์

แม่น้ำไนล์ไม่เพียงแต่ท่วมสองฝั่งเท่านั้น   แต่ได้ชะเอาทรากสิ่งมีชีวิต และ ต้นไม้ใบหญ้า  ลงมาด้วย  และ ทับถมบนตลิ่งทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ 

ภาวะน้ำท่วมนี้จะกินเวลานาน 4-5 เดือนต่อปี จึงจะลดลงสู่สภาพปกติ   ช่วงเวลานี้  ชาวไร่ชาวนาจะไม่สามารถทำไร่ไถนาได้เลย  ได้แต่นั่งรอคอยให้น้ำลดลงตามธรรมชาติ 

แต่หลังจากน้ำลดแล้ว  แผ่นดินที่ถูกน้ำท่วมจะกลายเป็นแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกในปีถัดไป  เป็นเช่นนี้ทุกปี   แม่น้ำไนล์จะท่วมสองฝั่งจนเป็นวัฎจักรของชีวิตริมแม่น้ำไนล์ไปแล้ว  

และนี่ก็คือที่มาของการเกิด  ศิลาจารึกแห่ง ทุพภิกขภัย ที่อยู่บนเกาะ เซเฮล ครับ

เราจะมาว่ากันต่อในตอนสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .