อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 กรกฎาคม 2565)

อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย ที่อยู่บนเกาะเซเฮล ระบุว่า  ประเทศอียิปต์ประสบกับภาวะภัยแล้งอย่างหนัก  ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติเช่นทุกปี  และ ความแห้งแล้วดังกล่าวกินเวลายาวนานถึง 7 ปีต่อเนื่องกัน

               จารึกดังกล่าวระบุว่า   เหตุการณ์ความอดอยากเกิดขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์ ซอเซอร์ ของราชวงศ์ที่ 3 ในยุคอาณาจักรเก่า (THE OLD KINGDOM) หรือบางทีก็เรียกว่า  ยุคพีระมิดประมาณ 2686 ถึง 2648 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4700 ปีมาแล้ว 


(โจเซฟ ถูกบรรดาพี่น้องหลอกขายไปเป็นทาสในอียิปต์ ภาพโดย คอนสแตนติน ฟลาวิตสกี้ (KONSTANTIN FLAVITSKY ปีค.ศ. 1855 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               น่าสนใจอย่างยิ่งตรงที่ข้อมูลในส่วนนี้ไปตรงกันกับข้อมูลในพระคัมภีร์ของชาวยิว หรือ ที่เรียกว่า พระคัมภีร์ฉบับพันธะสัญญาเก่า(THE OLD TESTAMENT)  ในบทปฐมกาล ที่พูดถึงโยเซฟ ชาวฮีบรู หรือ ชาวยิวที่ถูกพี่น้องของตัวเองหลอกขายไปเป็นทาสในอียิปต์  และต้องถูกจองจำในคุกเพราะถูกใส่ร้าย 


(โจเซฟ ถูกจองจำในคุก ภาพโดย GERBRAND VAN DEN EECKHOUT ศตวรรษที่ 17 ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่ด้วยความสามารถในการทำนายฝันของเขา  ซึ่งเขาบอกว่า เป็นการทำนายฝันจากพระเจ้า  เขาจึงถูกเรียกไปให้ทำนายความฝันให้แก่ฟาโรห์ถึงสองครั้งสองครา  

               ฟาโรห์ ฝันว่า  ตามบท “โยเซฟแก้พระสุบินของฟาโรห์”  ๔๑ 

“มีโคเจ็ดตัวอ้วนพีงามน่าดูขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์นั้นกินใบอ้ออยู่  แล้วมีโคอีกเจ็ดตัวซูบผอมน่าเกลียด ตามขึ้นมาจากแม่น้ำไนล์ มายืนอยู่กับโคอ้วนพีที่ชายฝั่งแม่น้ำไนล์ โคที่ซูบผอมน่าเกลียดก็กินโคอ้วนพีงามน่าดูเจ็ดตัวนั้นเสีย  แล้วฟาโรห์ก็ตื่นบรรทม”

ฟาโรห์ยังบอกว่า

“ในความฝันของเรา เรายังเห็นต้นข้าวต้นหนึ่ง  มีรวงเจ็ดรวงงอกขึ้นมา  เป็นข้าวเมล็ดเต่งและงามดี  กับเห็นข้าวอีกเจ็ดรวงงอกขึ้นมาภายหลังเป็นข้าวเหี่ยวลีบ  และเกรียมเพราะลมตะวันออก รวงข้าวลีบนั้นกลืนกินรวงข้าวดีเจ็ดรวงนั้นเสีย”

โจเซฟ ทำนายฝันว่า  โคอ้วนพีเจ็ดตัวหมายถึง  อียิปต์จะมีอาหารบริบูรณ์ทั่วประเทศถึงเจ็ดปี  หลังจากนั้นจะบังเกิดการกันดารอาหารอีกเจ็ดปี  จนประชาชนจะลืมความอุดมสมบูรณ์ในประเทศอียิปต์เสีย

โจเซฟ ทูลฟาโรห์ว่า


(โจเซฟ ทำนายฝันให้แก่ฟาโรห์ ภาพโดย JEAN ADRIEN GUIGNET – ภาพจากวิกิพีเดีย)  

“ขอฟาโรห์ทำดังนี้ คือ จัดพนักงานไว้ทั่วแผ่นดิน  และเก็บผลหนึ่งในห้าส่วนแห่งประเทศอียิปต์ไว้ ตลอดเจ็ดปีที่อุดมสมบูรณ์นั้น  ให้คนเหล่านั้นเก็บอาหารในในปีที่อุดมเหล่านั้นซึ่งจะมาถึงนั้นไว้  และสะสมข้าวด้วยอำนาจของฟาโรห์ไว้เป็นอาหารในหัวเมือง และให้เขาตุนไว้   อาหารนี้จะได้เป็นเสบียงสำรองในแผ่นดินระหว่างเจ็ดปีที่กันดารอาหาร  ซึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์   ดังนี้  แผ่นดินจะไม่พินาศเสียไปเพราะกันดารอาหาร”


(โจเซฟ ควบคุมให้คนงานบรรจุอาหารใส่ลงในถุง ภาพโดย RAPHAEL DE MERCATELLI – ภาพจากวิกิพีเดีย )

ข้อความดังกล่าว  ผมคัดลอกมาจากพระคัมภีร์ฉบับพันธะสัญญาเก่า

จะเห็นว่า   มีรายละเอียดใหญ่ๆที่ตรงกันระหว่าง ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย ในสมัยของฟาโรห์ซอเซอร์ กับ  บันทึกในพระคัมภีร์  ก็คือ  ความอดอยาก 7 ปีติดต่อกัน  ซึ่งเป็นปรากฎการณ์พิเศษที่ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

ศิลาจารึกดังกล่าว  ถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ปโตเลมี  หรือ ราชวงศ์ของชาวกรีกที่ปกครองอียิปต์ระหว่าง 332 – 31 ปีก่อนคริสตกาล  เพื่อบันทึกเรื่องราวของฟาโรห์ซอเซอร์ที่ห่างออกไปประมาณ 2300 – 2600 ปี

ศิลาจารึกดังกล่าวบอกว่า  ฟาโรห์ซอเซอร์ มีความวิตกในเรื่อง ทุพภิกขภัย นี้เป็นอย่างมาก  จารึกนี้ยังได้บรรยายว่า   ชาวอียิปต์ต่างทุกข์ทรมาน  และ  สิ้นหวังในอนาคตของตัวเองอย่างยิ่ง  จนทำให้ประชาชนออกมาก่อความไม่สงบ  หรือ  จลาจล

ฟาโรห์จึงสั่งให้ตามตัวหัวหน้านักบวชผู้ประกอบพิธีในวิหารที่ชื่อ  อิมโฮเทป(IMHOTEP) มาเข้าเฝ้า  เพื่อถามว่า  เทพเจ้า ฮาปี(HAPI) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ประทับอยู่ที่ไหน  เพื่อจะสวดอ้อนวอนได้ถูก

อิมโฮเทป จึงเดินทางไปยังวิหาร เฮวุท อิบิที (hwt-Ibety)  อันเป็นวิหารของเทพ ธอท(THOTH) เทพเจ้าแห่งการจดบันทึก  อยู่ที่ เฮอร์โมโปลิส(HERMOPOLIS) ตรงบริเวณพรมแดนระหว่าง อียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง  ประมาณตอนกลางของประเทศอียิปต์ เพื่อค้นหาผู้ควบคุมแม่น้ำไนล์

แล้วเขาก็ได้พระนามของเทพเจ้าองค์นั้นมา

ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา อินเดีย   ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565  ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

โปรดติดตามต่อในตอนหน้า  สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .