อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 กรกฎาคม 2565)

อิทธิพลของอียิปต์โบราณต่อศาสนายิว(ตอน4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               โจเซฟ ให้คำแนะนำแก่ฟาโรห์ว่า ให้สะสมอาหารในพระคลังให้มากที่สุดในช่วงเจ็ดปีที่อุดมสมบูรณ์  เพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงทุพภิกขภัยเจ็ดปีที่จะตามมา

               ก่อนอื่น  เราต้องทราบก่อนว่าอียิปต์โบราณในยุคอาณาจักรเก่านั้น  ใช้ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า  ระบบเศรษฐกิจแบบราชสำนัก(PALACE ECONOMY)

               ราชสำนักจะทำการเก็บภาษี  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมล็ดพืชพันธุ์ธัญญาหาร และ ทรัพย์สินต่างๆจากประชาชน  แล้วนำมาเก็บไว้ในท้องพระคลัง  เมื่อถึงคราวที่ประชาชนเดือดร้อนขาดแคลนอาหาร ราชสำนักก็จะเอาอาหารเหล่านี้มาแจกจ่าย 

               ทรัพย์สมบัติเหล่านี้  ยังถูกนำไปใช้ในการสร้างสุสาน  และ  พีระมิดที่ใช้ฝังศพของฟาโรห์ด้วย


(รูปสลักของ อิมโฮเทป)

               เมื่ออิมโฮเทป เดินทางไปถึงวิหารที่เมือง เฮอร์โมโปลิส ก็พบบันทึกที่ระบุว่า  ระดับน้ำท่วมของแม่น้ำไนล์ถูกควบคุมโดยเทพคนุม(KHNUM) เทพเจ้าผู้สร้างมนุษย์  เทพคนุม

นอกจากนี้  บันทึกยังระบุว่า  ประทับอยู่ในวิหารบนเกาะ เอเลแฟนไทน์ หรือ เกาะเซเฮล  ตรงจุดที่มีน้ำพุธรรมชาติผุดขึ้นมา

               อิมโฮเทป จึงรีบเดินทางไปยังวิหารของเทพคนุม ที่มีชื่อว่า “ความสุขแห่งชีวิต” (JOY OF LIFE) บนเกาะเอเลแฟนไทน์ ที่เมืองอัสวานทันที   จากนั้นเขาก็ชำระร่างกายให้สะอาด และ ทำพิธีสวดอ้อนวอนต่อเทพคนุม พร้อมด้วยสรรพสิ่งที่ใช้ในการบูชายัญ

               พลัน  เขาก็รู้สึกง่วงและหลับไป  จากนั้นเขาก็ฝันเห็นเทพคนุม ที่มาพบและแนะนำตัวว่าเป็นใคร และบรรยายว่า พระองค์มีอำนาจแห่งสวรรค์อย่างไร

               สุดท้าย   เทพคนุม ก็สัญญาว่าจะบันดาลให้แม่น้ำไนล์ไหลตามปกติอีกครั้ง   เมื่ออิมโฮเทปตื่นขึ้น  เขาก็บันทึกเรื่องราวจากความฝัน และรีบเดินทางกลับไปพบฟาโรห์ซอเซอร์ เพื่อทูลฟาโรห์ว่าเกิดอะไรขึ้น


(รูปสลักที่ทำจากหินปูน ของฟาโรห์ ซอเซอร์ ผู้สร้างพีระมิดขั้นบันได)

               ฟาโรห์ ซอเซอร์ ดีใจเป็นอย่างมาก  และให้ตราพระราชบัญญัติออกไป สั่งการให้บรรดานักบวช อาลักษณ์ และ บรรดาคนงานทั้งหลาย ให้ไปทำการบูรณะวิหารของเทพคนุมให้สวยงาม  และ  ให้มีทำพิธีบูชาต่อเทพคนุมเป็นประจำสม่ำเสมอ

               และ ยังมีพระราชบัญญัติให้แบ่งรายได้ของแผ่นดินที่เก็บมาจากแผ่นดินนูเบียบางส่วนให้แก่ วิหารของเทพคนุมนี้ด้วย


(ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย ที่เขียนด้วยภาษาเฮียโรกลิฟส์ เป็นอักษรจำนวน 42 คอลัมน์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               นี่คือสิ่งที่บันทึกอยู่บน “ศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย” ที่อยู่บนเกาะเซเฮล หรือ เกาะ เอเลแฟนไทน์ ที่ระบุชื่อของฟาโรห์ ว่าเป็นฟาโรห์ซอเซอร์   ซึ่งแตกต่างจากในคัมภีร์ไบเบิลที่จะบอกเพียงว่า  ฟาโรห์  แต่ไม่ระบุพระนามของฟาโรห์ในพระคัมภีร์แม้แต่ครั้งเดียวเลย

ฟาโรห์ ซอเซอร์ มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 2686 – 2648 ปีก่อนคริสตกาล  หรือประมาณ 4700 ปีที่แล้ว   ในขณะที่นักวิชาการสันนิษฐานว่า  โจเซฟ บุคคลในคัมภีร์ไบเบิลมีชีวิตอยู่ในช่วงปี  1600-1700 ปีก่อนคริสตกาล


(สุสานของบรรดาขุนนางในยุคอาณาจักรเก่า ที่เมืองอัสวาน ตั้งอยู่บนภูเขาริมแม่น้ำไนล์ เป็นเครื่องยืนยันถึงความรุ่งเรืองในยุคอาณาจักรเก่า ราวๆยุคของฟาโรห์ซอเซอร์) 

แต่บางกระแสก็เชื่อว่า  โจเซฟ อาจจะมีชีวิตก่อนหน้านั้น คือในช่วง 1915 -1805 ปีก่อนคริสตกาล 

               ไม่ว่าจะเป็นปีไหนก็ตาม   ข้อเท็จจริงก็คือ  โจเซฟ มีชีวิตหลังจากฟาโรห์ซอเซอร์แน่นอน   และ  ควรจะเป็นไปได้ว่า  ผู้จดบันทึกพระคัมภีร์ไบเบิลน่าจะได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ทุพภิกขภัยในสมัยของฟาโรห์ซอเซอร์  หรือ อาจจะได้เห็นจารึกดังกล่าวด้วยซ้ำ

               จึงน่าเชื่อว่า  พระคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธะสัญญาเก่า น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลาจารึกแห่งทุพภิกขภัย ที่เกาะเซเฮลแน่นอน

ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย รัฐกุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา จะบรรยายชมด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565  ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .