หนังอินเดียที่ผมรัก (ตอน 1)

สัพเพเหระ

หนังอินเดียที่ผมรัก (ตอน 1)

โดย                       เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ 

               ในช่วงที่กระแสภาพยนต์อินเดียกำลังกลับมาแรงอีกครั้ง ภาพยนต์เรื่อง GANGUBAI KATIAWADI ก็กลายเป็นที่กล่าวขานกันอย่างกว้างขวางในแวดวงโซเชียล

               มีแฟนๆบทความของผมหลายท่านอยากให้ผมเขียนถึงภาพยนต์เรื่องนี้  และ ภาพยนต์เรื่องอื่นๆของอินเดียด้วย


(โฆษณาภาพยนต์เรื่อง กังกุไบ)

               ในฐานะที่เคยเป็นผู้เขียนวิจารณ์ภาพยนต์ในหนังสือพิมพ์ “ประชาธิปไตย” ในช่วงปีพ.ศ.2516 – 2517 ก็อยากจะถ่ายทอดมุมมองของผมต่อภาพยนต์อินเดียโดยภาพรวม  และ  ต่อภาพยนต์อินเดียที่ผมรักอีกหลายๆเรื่องแบบนักวิจารณ์ภาพยนต์ครับ

               วันนี้  อุตสาหกรรมภาพยนต์ของอินเดียอาจเรียกได้ว่า  ก้าวล้ำนำหน้ากว่าชาติใดๆในเอเชียไปแล้ว  ทั้งในแง่ของเท็คนิค  การเราเรื่องด้วยภาพ  และ การตัดต่อ

               ไม่ว่าจะเป็นภาพยนต์ประเภทแอ็คชั่น  หรือ  ประเภทศิลปะ  ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ทำให้ภาพยนต์ประเภทร้องเพลงวิ่งไล่กันบนท้องทุ่งค่อยๆลดน้อยไป    แต่การสอดแทรกบทเพลงก็ยังมีอยู่บ้างมากน้อยแตกต่างกันไป

               พูดกันตามตรง  ผมเองรู้สึกเฉยๆกับภาพยนต์เรื่อง GANGUBAI KATIAWADI  เพียงแต่ชอบภาพยนต์เรื่องนี้ในแง่ของ การถ่ายทำ  การจัดแสง  เท่านั้น   เพราะเขาลงทุนสร้างฉากถนนสายโลกีย์ขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำโดยเฉพาะ  จึงสามารถจัดแสงให้ได้ภาพออกมาสวยงามสมจริงตามช่วงเวลาต่างๆของวันตามท้องเรื่อง


(โฆษณาของภาพยนต์เรื่อง THE LUNCH BOX)

               ก่อนหน้านี้สัก 5-6 ปี  ผมเคยประทับใจกับภาพยนต์เรื่อง THE LUNCH BOX ที่นำแสดงโดยเออร์ฟาน ข่าน  ทั้งๆที่เป็นภาพยนต์ต้นทุนต่ำ  แสดงกันเพียง 3 คน  และถ่ายทำกันในฉากเพียงสองสามฉากเท่านั้น

               แต่ภาพยนต์เรื่องนี้สามารถสะกดคนดูให้ติดตามไปได้เรื่อยๆ  และ  ต้องคิดตามว่าจะเกิดอะไรต่อไป

               ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างโดยใช้เรื่องจริงของระบบการส่งปิ่นโตอาหารกลางวันของเมืองมุมไบเป็นฉากหลัง  ซึ่งเป็นมหัศจรรย์แห่งระบบลอจิสติคส์ ของอินเดียที่ทำกันมานานหลายสิบปี แต่ละวันจะมีปิ่นโตที่จะต้องส่งนับแสนปิ่นโต  และไม่เคยส่งผิดเลย

               จนกระทั่งสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ที่ 2 ของอังกฤษขอไปชมระบบการจัดการการส่งปิ่นโตนี้ด้วย

               สำหรับท่านที่ยังไม่เคยชมภาพยนต์เรื่อง THE LUNCH BOX ขอแนะนำให้ชมครับ  แต่อาจจะหาชมยากแล้ว 

               หลังจากนั้น  ภาพยนต์อินเดียเรื่องต่อมาที่ผมได้ชมก็คือ GANGUBAI KATIAWADI เพราะกระแสที่รุนแรงในโซเชียล   เมื่อได้ชมแล้วก็รู้สึกเฉยๆ  ตามที่ได้เล่าข้างต้น 

               แต่ที่น่าสนใจก็คือที่มีผู้แสดงความคิดเห็นกันมากว่า  ทำไม  กังกุไบ จึงต้องรินน้ำชาลงไปในจานรองถ้วยก่อนที่จะดื่มจากจานนี้

               บางท่านบอกว่า  เพราะเป็นการแสดงความต่ำกว่าทางชนชั้นของชาวอินเดียต่อชาวอังกฤษ  หรือ บอกว่า   เพราะชาวอังกฤษไม่อนุญาตให้ชาวอินเดียดื่มน้ำชาจากถ้วย   จึงต้องดื่มจากจานรอง

               ผมพยายามสืบค้นมาจนได้ข้อมูลว่า


(รัฐกุจราฐ(ลูกศรชี้ซ้ายมือ) และ รัฐมหาราษฎระ(ลูกศรชี้ขวามือ))

               ตามท้องเรื่องกังกุไบ เป็นชาวรัฐกุจราฐ(GUJRAT)  จากเมืองกาฐิยาวารตามชื่อของภาพยนต์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย  ในช่วงเวลาของกังกุไบนั้น  รัฐกุจราฐ เป็นรัฐเดียวกันกับรัฐมหาราษฎระ (MAHARASHTRA) มีชื่อว่า รัฐบอมเบย์(BOMBAY STATE)

ทั้งสองรัฐเพิ่งจะแยกตัวออกเป็นอิสระเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1960

               ดังนั้น  วัฒนธรรมของทั้งสองรัฐจึงมีความใกล้ชิดกันมาก  และ  ถ่ายทอดไปมาสู่กันเสมอ

               วัฒนธรรมการดื่มน้ำชาจากจานรองเป็นวัฒนธรรมของรัฐกุจราฐ  ในขณะที่ซ่องโสเภณีของกังกุไบ อยู่ที่เมืองบอมเบย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมหาราษฎระ  การดื่มน้ำชาจากจานรองจึงไปปรากฎในเมืองมุมไบตามที่แสดงในภาพยนต์   

               ทุกวันนี้  วัฒนธรรมการดื่มน้ำชาจากจานรองยังเป็นประเพณีปฎิบัติกันอยู่ และ เป็นเรื่องปกติของชาวกุจราฐ

               เพื่อนชาวอินเดียของผมที่อาศัยอยู่ในเมืองกอลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก ที่อยู่ในภาคตะวันออกของอินเดีย เล่าให้ผมฟังว่า   ตอนที่เขาไปธุระที่รัฐกุจราฐ  เพื่อนของเขาที่นั่นนำชาร้อนในถ้วยบนจานรองมาเสริฟให้เขา

               แต่ด้วยความที่วัฒนธรรมการดื่มน้ำชาที่แตกต่างกันของชาวเบงกอลตะวันตก กับชาวกุจราฐ   เพื่อนผมซึ่งคุ้นเคยกับการดื่มชาจากถ้วย  จึงวางจานลงแล้วดื่มจากถ้วย

               เจ้าภาพตกใจมากรีบวิ่งไปเอาจานใหม่มาให้ในทันที  เพราะคิดว่า  จานรองที่มากับถ้วยนั้นสกปรก  และ  ระล่ำระลักขอโทษไม่ขาดปากโทษฐานที่เอาจานสกปรกมาเสริฟให้แขกผู้มาเยือน

               เพื่อนผมต้องรีบขอโทษคืน  และ อธิบายว่า  จานที่เขาให้มานั้นสะอาดสะอ้านดี   แต่ที่เขาดื่มจากถ้วยโดยตรงก็เพราะว่า  เขาคุ้นเคยกับการดื่มวิธีนี้มากกว่า  เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมของชาวเบงกอลตะวันตก

               การดื่มน้ำชาร้อนจากจานรองของชาวอินเดียนั้น  เป็นเพราะเขาต้องการให้ความร้อนของชามีพื้นที่ในการระบายความร้อนมากขึ้น  จะได้ไม่ลวกปากเวลาดื่ม

               ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแสดงความต่ำต้อยทางสังคม หรือ ความต่ำต้อยทางชนชั้นต่อผู้นำน้ำชามาเสริฟแต่อย่างใด

               พบ “หนังอินเดียที่ผมรัก” ตอน 2 ในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in สัพเพเหระ.