หนังอินเดียที่ผมรัก (ตอน 2)

สัพเพเหระ                                         (27 กรกฎาคม 2565)

หนังอินเดียที่ผมรัก (ตอน 2)

โดย                       เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               หนังอินเดียอีกเรื่องที่ผมรัก และ ได้ชมไป 4-5 ครั้งแล้วทาง NETFLIX ก็คือหนังเรื่อง DANGAL ที่แปลว่า  มวยปล้ำ  อันเป็นกีฬายอดนิยมอีกอย่างหนึ่งของอินเดีย  รองลงมาจากคริกเก็ต


(ภาพโฆษณาของหนังเรื่อง DANGAL)

               ภาพยนต์เรื่องนี้สร้างเมื่อ 6 ปีที่แล้ว  อ้างอิงจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอินเดีย  เป็นเรื่องของ มหาวีร์ ซิงห์ โพกัต  ผู้บิดาซึ่งเคยเป็นนักกีฬามวยปล้ำที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศมาก่อน   แต่ไม่สามารถไปให้ถึงระดับนานาชาติได้  เพราะปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว

               เขาจึงฝากความหวังไว้กับลูกชายในอนาคตของเขา  ทว่า  ลูกๆที่ภรรยาของเขาให้กำเนิดล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด  ความหวังของเขาพังทลายจนหมดสิ้น

               แต่ก็มีจุดพลิกผันที่ทำให้เขาเห็นศักยภาพของลูกสาวทั้งสองของเขา  และเริ่มฝึกฝนให้ทั้งสองเริ่มเล่นกีฬามวยปล้ำ  แม้ว่าจะภรรยาของเขาไม่เห็นด้วย   และ  ถูกชาวบ้านทั้งหมู่บ้านก่นด่า  หาว่าเสียสติที่ให้ลูกสาวมาเล่นกีฬามวยปล้ำซึ่งเป็นกีฬาของผู้ชาย

               ภาพยนต์เรื่องนี้นำแสดงโดย อาเมียร์ ข่าน (AAMIR KHAN) ดาราดังอีกคนหนึ่งของบอลลีวู้ด ซึ่งทุ่มเทอย่างหนักให้แก่ผลงานของเขาอย่างไม่น่าเชื่อ

               ภาพยนต์เรื่องนี้อยู่ในประเภทภาพยนต์ศิลปะ  จึงไม่มีฉากวิ่งไปร้องเพลงไปที่อยู่ในประเภทภาพยนต์การค้า  แต่จะใช้เพลงทั้งที่เป็นดนตรีบรรเลง  และ เพลงร้องสอดแทรกบรรยายอารมณ์ให้ผู้ชมได้ซึมซาบความรู้สึกของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง

               โดยเฉพาะในตอนที่พี่น้องสองสาว  เริ่มมีแนวคิดที่ขัดแย้งกันในเรื่องวิธีการฝึกฝน และ เท็คนิคในการต่อสู้ของนักมวยปล้ำระหว่าง  วิธีการของพ่อ  กับ วิธีการของโค้ช ในค่ายเก็บตัวของรัฐบาล  

               ผมประทับใจในภาพยนต์เรื่องนี้ตั้งแต่บทภาพยนต์  การจัดแสงและถ่ายทำ   การลำดับภาพตัดต่อ  เพลงประกอบ  และ  ดาราแสดงนำ เช่น สองเด็กหญิง และ สองหญิงสาวที่แสดงเป็นนักมวยปล้ำในแต่ละช่วงวัย (ตามภาพโฆษณา)

               แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ  อาเมียร ข่าน  ที่แสดงเป็นพ่อของเด็กสาวสองคนที่เป็นนักมวยปล้ำ


(อาเมียร์ ข่าน ตอนรับบทเป็นคนหนุ่มแน่นที่ยังแข่งขันมวยปล้ำอยู่)

               เนื่องจาก มหาวีร์ ซิงห์ โพกัต (รับบทโดย อาเมียร์ ข่าน) เป็นตัวเดินเรื่องประมาณกว่า 20 ปีตั้งแต่ยังไม่มีลูกจนกระทั่งลูกเติบโตเป็นสาว   ภาพยนต์แสดงรูปร่างของมหาวีร์ ซิงห์ โพกัต  ตั้งแต่ตอนหนุ่มแน่น  ร่างกายแบบนักมวยปล้ำ  กล้ามเป็นมัด หน้าท้องซิกซ์แพ็ค  จนกระทั่งร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวบอั๋น พุงพลุ่ย  สะโพกขยายในช่วงที่มีอายุราว 50 ปีเศษ


(อาเมียร์ ข่าน ตอนแสดงเป็นพ่อขณะอายุประมาณ 50 ปีเศษ)

               ตอนดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรก ผมนึกสงสัยว่าเขาเม็คอัพตัวแสดงอย่างไร  เนียนมากจนแทบจะแยกไม่ออกเลย   แต่มาทราบภายหลังว่า   อาเมียร์ ข่าน ลงทุนอัพหุ่นของตัวเองให้อ้วนท้วนเหมือนมหาวีร์ตอนอายุ 50 ปี   แล้วถ่ายทำตอนแก่เสียก่อน

               หลังจากถ่ายทำตอนแก่จบแล้ว    เขาก็ทำการลดน้ำหนัก และ ฟิตหุ่นให้แข็งแกร่งเหมือนเดิม  เพื่อถ่ายทำภาพยนต์ตอนยังหนุ่ม

               ผมรักภาพยนต์เรื่องนี้มาก  อย่างที่บอกว่าผมดูหนังเรื่องนี้ 4-5 ครั้งแล้ว  และ รู้สึกประทับใจทุกครั้ง  เพราะผู้กำกับภาพยนต์สามารถเก็บรายละเอียดทุกรายละเอียดแม้กระทั่งสิ่งเล็กสิ่งน้อยตลอดเรื่อง  จนเมื่อรายละเอียดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้มารวมกัน  จึงทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นภาพของทั้งครอบครัวมวยปล้ำนี้ได้อย่างแจ่มชัด

               คนเขียนบทตามเก็บรายละเอียดประเด็น ลูกสาวของเขาถูกบังคับให้เล่นมวยปล้ำ  ด้วยการเปรียบเทียบกับเด็กสาวรุ่นเดียวกับลูกของเขา ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของวัฒนธรรมดั่งเดิมที่พ่อแม่มักจะจัดการแต่งงานให้ลูกสาวและลูกชายตั้งแต่อายุยังน้อย   โดยที่บางคู่อาจจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย

               ผมไม่อยากเล่าให้ละเอียดไปมากกว่านี้   เพราะเดี๋ยวท่านผู้อ่านจะดูหนังไม่สนุก  

               ผมพูดได้เลยว่า  ภาพยนต์เรื่อง DANGAL เรื่องนี้  สร้างให้ความประทับใจให้แก่ผู้ชมได้ตามเป้าหมาย ไม่แพ้ภาพยนต์ฮอลลีวู้ดแม้แต่นิดเดียว


(มหาวีร์ หัวหน้าครอบครัว กับหลานชาย และ ภรรยา ที่ได้แต่กังวลในในสีหน้า  แต่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นคัดค้านสามี  ตามแบบฉบับของครอบครัวฮินดูที่ให้เกียรติสามี)

               เสน่ห์ของภาพยนต์แนวศิลปะของอินเดียที่ผมชอบก็คือ  การจับเอาบรรยากาศของผู้คน   วัฒนธรรม  และ ความเชื่อของชาวฮินดู  มาสอดแทรกได้อย่างลงตัว   และไม่มากเกินไปจนเฝือ

               DANGAL  สะท้อนภาพผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวชาวอินเดียให้อย่างชัดเจน ภรรยาจะเป็นเพียงผู้ดูแลความเรียบร้อยทั้งอาหารการกิน และ ความเรียบร้อยภายในบ้าน   แม้บางเรื่อง  ภรรยาอาจไม่เห็นด้วยกับสามี  แต่ก็ไม่กล้าขัดแย้งอย่างออกนอกหน้า

               อย่างเช่น   การที่บิดาเอาลูกสาว 2 คนไปฝึกฝนเพื่อเล่นกีฬามวยปล้ำ  ซึ่งในสังคมชนบทของอินเดียยังไม่ให้การยอมรับ  ภรรยาก็แสดงออกเพียงสายตาที่เป็นห่วงเท่านั้น  ไม่กล้าขัดขวางความตั้งใจของสามีอย่างเอาเป็นเอาตาย


(ตัวละครเอก 4 คนในเรื่องคือ  มหาวีร์ ผู้เป็นพ่อ  กีตา และ บาบีตา  และ หลานชาย  ที่สร้างโลกมวยปล้ำที่มีความน่ารัก และสร้างความสุขให้แก่คนดู )

               และเมื่อถึงตอนที่สามีให้เอาเนื้อไก่เข้ามาในบ้าน เพื่อให้ลูกสาวทั้งสองได้ทานโปรตีนมากขึ้น  ภรรยาแม้จะไม่พอใจเป็นอย่างมาก  เพราะครอบครัวของเธอเป็นฮินดูที่ไม่ทานเนื้อสัตว์  เธอจึงตะหวาดว่า  อย่าได้เอาภาชนะที่ปรุงอาหารเนื้อสัตว์เข้าไปในครัวของเธอเป็นอันขาด

               แม้ว่า   ฮินดูจำนวนมากจะไม่ทานเนื้อสัตว์   แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎข้อบังคับว่า  ห้ามทานเนื้อสัตว์เป็นอันขาด   ดังนั้น   การทานเนื้อสัตว์จึงไม่ใช่ข้อห้าม   ยกเว้นก็เพียงแต่เนื้อวัว

               ท่านผู้อ่านที่ได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว  จะเห็นว่า  เวลาผู้เป็นบิดาทานน้ำจากแก้วน้ำ   บางครั้งก็จะใช้วิธีการเทจากแก้วลงไปที่ปาก  โดยไม่ให้ริมฝีปากของตนเองสัมผัสกับแก้วน้ำ  เรื่องนี้มีคำตอบจากผู้รู้ว่า

               การเทน้ำลงไปที่ปาก  เป็นวิธีปฎิบัติที่กระทำกันทั่วไปเมื่อต้องทานน้ำจากแก้วน้ำที่เป็นส่วนรวม  ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน  หรือ  ที่ทำงานก็ตาม   ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลทางด้านสุขอนามัย


(การดื่มน้ำด้วยการเทน้ำเข้าปาก ด้วยเหตุผลทางสุขอนามัย และ เหตุผลทางการแพทย์)

               แต่เหตุผลอีกข้อหนึ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น   โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักมวยปล้ำ ก็คือ  การเทน้ำลงไปในปากโดยไม่ให้ริมฝีปากสัมผัสกับแก้วน้ำนั้น   ผู้ดื่มน้ำจะต้องอ้าปาก   หงายหน้า  เงยคอขึ้นมาเพื่อรับน้ำที่จะเทลงมา

               นอกจากจะด้วยเหตุผลทางสุขอนามัยแล้ว   ยังเป็นเหตุผลทางการแพทย์อีกด้วย


(ภาพแสดงต่อมไร้ท่อบริเวณลำคอ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เพราะตรงบริเวณลำคอ และ ในปากลึกๆ จะมีต่อมไร้ท่อที่เรียกว่า ENDOCRINE SYSTEM ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน  ต่อมไร้ท่อที่สำคัญที่สุดมีอยู่สามชนิดด้วยกันคือ  ต่อมไทรอยด์ (THYROID GLAND) และ  ต่อมพาราไทรอยด์(PARATHYROID GLANDS) และ  ต่อม อะดรีนอล(ADRENAL GLANDS)

               ต่อมไทรอยด์ จะผลิตฮอร์โมน ไทรอยด์  ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และควบคุมอวัยวะอื่นๆในร่างกาย

               ขณะที่ต่อมพาราไทรอยด์ จะผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมา เพื่อรักษาสมดุลย์ของแคลเซียมในร่างกาย 

               ส่วนต่อมอะดรีนอล จะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค และ ผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น  ทำหน้าที่คล้ายๆกับต่อมทอนซิล  

               ท่านผู้อ่านสามารถหาข้อมูลของประโยชน์ และ หน้าที่ของต่อมทั้งสองได้จากเว็บไซต์ทั่วไปครับ

               การแหงนหน้า  อ้าปากเพื่อรองรับน้ำที่เทเข้าไปในปาก  จึงเป็นการบริหารต่อมทั้งสามที่นักมวยปล้ำของอินเดียถือปฎิบัติกันมาโดยตลอด  ด้วยเหตุผลทางทางด้านกายภาพ  นอกเหนือจากเหตุผลทางสุขอนามัย

               สำหรับท่านที่สงสัยว่า   ทำไมคนเป็นพ่อถึงต้องดื่มน้ำด้วยวิธีแปลกๆแบบที่ว่า   ก็ขอเรียนให้ทราบตามนี้ด้วยเลยนะครับ

ผมจะนำคณะทัวร์ไปเจาะลึกอินเดีย กุจราฐ โอดิสสา และ กอลกัตตา อินเดีย ซึ่งจะบรรยายชมด้วยความรู้ทั้งหมดที่ผมมีอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 16-23 ตุลาคม พ.ศ. 2565  ท่านที่สนใจจะร่วมเดินไปกับผมสามารถติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

               พบกับ  “หนังอินเดียที่ผมรัก” ตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in สัพเพเหระ.