วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 ตุลาคม 2565)

วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมจำได้เคร่าๆว่า  เช้าของวันไหว้ครู  นักเรียนจะเข้าแถวกันหน้าเสาธง  หลังจากเชิญธงขึ้นยอดเสาแล้ว  ก็จะเป็นพิธีไหว้ครู  นักเรียนจะพนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนที่เตรียมมา  แล้วว่าตามผู้นำที่กล่าวสรรเสริญพระคุณของครู  โดยเริ่มต้นด้วยบทสวดเป็นภาษาบาลีว่า

               “ปาเจราจริยาโหนติ คุณุตตรา นุสาสกา”   แล้วต่อด้วยความหมายในภาษาไทยเริ่มต้นว่า  “ข้าขอประณตน้อมสักการ………..”  จนจบ


(ภาพงานวันไหว้ครูของโรงเรียนหนึ่ง  ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นของโรงเรียนอะไร – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               จากนั้น  นักเรียนก็จะรวบรวมดอกไม้ธูปเทียนใส่พานแล้วให้ตัวแทนนำไปมอบให้แก่ครูประจำชั้น  ประมาณนี้

               ในปัจจุบันชาวอินเดียฮินดู  ก็มีวันไหว้ครูที่เรียกว่า  กูรูปูรนิมา  และ วัฒนธรรมนี้เองที่ถ่ายทอดมาสู่ประเพณีการไหว้ครูของไทย

               แต่แนวคิดวันไหว้ครูของฮินดูนั้นแตกต่างจากวันไหว้ครูของไทยในหลายๆประเด็น  ข้อแรก  วันไหว้ของครูไทยถูกกำหนดวันที่แน่นอนคือวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นมติของคณะรัฐมนตรีที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499  โดยไม่แน่ใจว่าอ้างอิงจากอะไร

               ทำให้  ต่อมาวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 จึงได้มีพิธีไหว้ครูขึ้นเป็นครั้งแรก

               จะเห็นว่าวันไหว้ครูของไทยถูกกำหนดขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบใดอื่น  เช่น  เป็นวันพฤหัสฯ  หรือ  วันขึ้น หรือ แรมกี่ค่ำ  คงจะเป็นเพราะเป็นการกำหนดตามปฎิทินแบบสุริยคติ


(ปฎิทินของฮินดู กำหนดให้วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ตรงกับวัน กูรูปูรนิมา)

               แต่วันครูของชาวฮินดูซึ่งเป็นต้นธารของวัฒนธรรมไทยนั้น กำหนดให้วันครูก็คือวัน กูรูปูรนิมา(GURU PURNIMA) ตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือนอัษฎา(ASHADHA) หรือ อาสาฬหะ หรือ เดือนที่ 4 ตามปฎิทินของฮินดู  จะตกอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน และ กรกฎาคม ตามปฎิทินแบบเกรกอเรียนที่ทั่วโลกใช้กัน


(วันอาสาฬหบูชา – ภาพจาก KAPOOK.COM)

               คติทางศาสนาพุทธถือว่า  วันดังกล่าวเป็นวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิติปัตนะมฤคทายวัน  หรือเมืองสารนาถ ในประเทศอินเดีย

               แสดงนัยว่า  เป็นวันกำเนิด “ครู” และ “ลูกศิษย์”ขึ้นในโลก  แม้ว่า ก่อนหน้านั้นจะมีครูและลูกศิษย์มาแล้ว

               ในวันดังกล่าว  ชาวฮินดูส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนในวรรณะพราหมณ์จะทำพิธีปูจา เพื่อบูชาคุณของพระพุทธเจ้า เพราะนับถือว่า  พระพุทธเจ้าได้ค้นพบสัจธรรมแห่งโลก และ ชีวิต อันเป็นความจริงสูงสุด


(ปัจจุบัน  องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันครูโลก  ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพครู)

               ในวันดังกล่าว  บรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เล่าเรียนจบ ทำงานทำการแล้ว และยังระลึกถึงครูบาอาจารย์ของตน  ก็จะเดินทางไปที่บ้านครู เพื่อแสดงความสำนึกในพระคุณ และ แสดงกตเวทิตา ต่อครูผู้เคยสั่งสอนตนเอง  โดยจะต้องนัดหมายกับครูบาอาจารย์ให้เรียบร้อยล่วงหน้า

               สำหรับลูกศิษย์บางคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพ  เช่นเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเขียน หรือ  กำลังจะทำปริญญาเอก  ก็มักจะเอาผลงาน หรือ วิทยานิพนธ์ (THESIS) ที่กำลังทำไปให้ครูดู และมักจะเขียนอุทิศให้แก่ครูผู้นั้นด้วย 

               การแสดงมุทิตาต่อครูเป็นไปอย่างเรียบง่าย คุณครูจะเอาถาดโลหะที่มีหญ้าแพรก ข้าวเปลือก  ดอกไม้  และ โยเกิร์ตวางอยู่  รวมถึงอาจมีเทียนจุดไฟวางอยู่   ครูจะถือถาดวนเหนือศรีษะลูกศิษย์เป็นการให้พร  เช่น  อวยพรให้มีอายุยืน  ขอให้มีชื่อเสียง  ขอให้มีโชคดี  ขอให้มีลูก 100 คน  ขอให้มีชัยชนะในการทำงาน เป็นต้น  แล้วใช้นิ้วจิ้มโยเกิร์ตแล้วไปแตะที่หน้าผากของลูกศิษย์ รวมเรียกว่า พิธีอาชิรวาด(ASHIRWAD)  หรือ พิธีให้พร

แล้วก็มอบหญ้าแพรก  ข้าวเปลือก  หรือ ดอกดาวเรืองให้แก่ลูกศิษย์ถือกลับไป และบอกกับลูกศิษย์ให้รำลึกถึงความหมายของสิ่งเหล่านี้  

               หญ้าแพรก เป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาฮินดู  เรียกว่า DARBHA GRASS หมายถึงความเข้มแข็ง อดทน พร้อมที่จะเจริญงอกงามได้แม้ในพื้นที่แห้งแล้ง ข้าวเปลือกเป็นความหมายว่า ไม่ว่าจะตกลงที่ใดก็สามารถเจริญงอกงามได้

               สำหรับนักเรียนชั้นเล็กๆเช่นชั้นประถม  จะมีการทำพิธีบูชาครูกันในห้องเรียน  เป็นพิธีง่ายๆคือ  นักเรียนจะก้มลงใช้มือแตะที่เท้าของครู แล้วเอามาแตะที่หน้าอก เป็นการเคารพสูงสุดที่เรียกว่า ประนาม(PRANAM) ขณะเดียวกัน ครูก็จะเอามือแตะที่ศรีษะของเด็กแล้วให้พร  จากนั้น  ครูจะมอบของขวัญเล็กๆน้อยๆให้ลูกศิษย์เช่น  ดินสอ  ยางลบ หรือ หนังสือ

               ส่วนชั้นที่โตกว่า บางครั้งนักเรียนจะเลือกเพื่อนคนหนึ่งขึ้นไปทำหน้าที่สอนแทนครู โดยครูจะลงมานั่งฟังร่วมกับนักเรียนในชั้นด้วย เป็นการเปลี่ยนการรับรู้ในบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน  

               เห็นความแตกต่างของการไหว้ครูของอินเดียซึ่งเป็นต้นตำรับ  กับพิธีไหว้ครูของไทยที่ถูกดัดแปลงไปจากเดิมอย่างมาก  ใครจะชอบแบบไหนก็ตามถนัด

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .