วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน3-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (16 ตุลาคม 2565)

วันไหว้ครู สิ่งที่สูญหายไป(ตอน3-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               การไหว้ครู  หรือ การแสดงความสำนึกในพระคุณครูนั้น  หยั่งลึกในรากของประเพณีวัฒนธรรมฮินดูมาช้านานแล้ว  ได้ไหลเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ และ ประเทศไทยในเวลาต่อมา

               ในมหากาพย์เรื่อง “มหาภารตะ” (MAHABHARATA) ได้แสดงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์เอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง  


(โทรณาจารย์ -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               โทรณาจารย์ (DRONACHARYA) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาวุธและเป็นผู้สั่งสอนศาสตร์แห่งการต่อสู้ให้แก่พี่น้องตระกูลเการพ(KAURAVAS) และ ตระกูลปาณฑพ  แต่อรชุน(ARJUNA) จากตระกูลเการพมีความสามารถในทางวิชา และ  มีความเคารพต่ออาจารย์มากที่สุด

               วิชาที่อรชุนมีความสามารถมากก็คือ  การยิงธนู  เขามีความสามารถเหนือกว่าลูกชายของโทรณาจารย์ด้วยซ้ำ  ด้วยเหตุนี้   โทรณาจารย์ จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้อรชุนเป็นนักยิงธนูที่เก่งที่สุดให้ได้  


(โทรณาจารย์ สอนให้อรชุนยิงธนู – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               วันหนึ่ง โทรณาจารย์ นำลูกศิษย์หลายคนของเขา รวมทั้งอรชุนเข้าไปในป่าเพื่อฝึกฝนการยิงธนู  หมาของบรรดาเจ้าชายทั้งหลายวิ่งไปที่อื่น  และเห่าเสียงดัง   สักพักก็เงียบเสียงไป

               หมาตัวนั้นวิ่งกลับมาหาบรรดาเจ้าชาย  โดยมีลูกธนูหลายดอกปักอยู่ในปาก  ทำให้มันไม่สามารถจะร้องหรือเห่าได้   แต่ที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นก็คือ  หมาไม่ได้รับอันตรายจนถึงชีวิตจากลูกธนูดังกล่าวเลย


(หมาที่ถูกเอกลัพย์ยิงด้วยธนูจนไม่สามารถเห่าได้ แต่ไม่ตาย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้ธนูในระดับขั้นเทพของผู้ยิงธนูอย่างยิ่ง

               โทรณาจารย์ จึงออกเดินหาผู้ยิงธนู และไปพบว่า  ผู้ยิงธนูดังกล่าวคือเด็กหนุ่มที่ชื่อ เอกลัพย์ (EKALAVYA) เจ้าชายแห่ง นิชาดาส (NISHADAS) ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีฐานะทางสังคมที่ต่ำต้อย

               เอกลัพย์ รีบตรงเข้ามาอยู่เบื้องหน้าโทรณาจารย์ และก้มกราบด้วยความเคารพ   โทรณาจารย์ถามเอกลัพย์ว่า เจ้าเรียนการยิงธนูมาจากใคร

               ความเป็นจริงคือ  เอกลัพย์เคยแอบเฝ้ามองการสอนยิงธนูของโทรณาจารย์ต่อลูกศิษย์ของเขา  แล้วก็นำมาฝึกด้วยตัวเอง   แต่ด้วยความที่เป็นผู้มีพรสวรรค์ทางด้านการยิงธนูเป็นทุนเดิม  เขาจึงสามารถฝึกฝนการยิงธนูได้จนมีฝีมือสูงส่งขนาดนี้

               เอกลัพย์ ยังชี้ให้ดูรูปปั้นที่วางอยู่ไม่ไกล ซึ่งเป็นรูปปั้นของโทรณาจารย์ ที่เอกลัพย์ปั้นขึ้นมา

               เอกลัพย์บอกว่า  เขาแอบเก็บเอาดินโคลนที่โทรณาจารย์ย่ำเท้าลงไป  แล้วนำมาปั้นเป็นรูปอาจารย์ที่เขาเคารพ  และบูชากราบไหว้ด้วยความเคารพเสมอควบคู่ไปกับการฝึกฝนของเขา

               จนทำให้เขามีฝีมือในการยิงธนูเป็นเลิศอย่างที่เป็นอยู่

               โทรณาจารย์ ถึงแม้จะเป็นผู้มีฝีมือในการสงคราม และ ได้รับการเคารพยกย่องอยู่สูง  แต่เขาก็เป็นคนที่อาจจะเรียกว่า  ไม่ซื่อสัตย์ และ ไร้คุณธรรม

               เขาเคยรับปากกับอรชุนมาก่อนว่า  จะปั้นให้อรชุนเป็นยอดนักยิงธนูที่ดีที่สุดในโลก  จึงถือว่าเป็นสิ่งที่เขาจะต้องทำให้สำเร็จให้ได้ 

               เมื่อเห็นเอกลัพย์ มีความสามารถแบบนี้   เขาจึงคิดว่า  หากยังมีเอกลัพย์อยู่บนเส้นทางนี้   อรชุนอาจไม่ได้เป็นที่หนึ่งในโลกก็ได้  อีกทั้งเขารู้ว่า   เอกลัพย์จะไปทำงานให้แคว้นมคธ ซึ่งจะเป็นฝ่ายศัตรูในอนาคต  


(เอกลัพย์ ยอมตัดนิ้วหัวแม่มือของตัวเอง เพื่อบูชาต่อ โทรณาจารย์ ที่เขานับถือเป็นครู แม้จะยังไม่เคยเรียนกับโทรณาจารย์เลยก็ตาม – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               “เมื่อเจ้าเป็นลูกศิษย์ของข้า   แต่เจ้ายังไม่ได้ทำพิธีบูชาครู(GURU DAKSHINA)”  

กูรูดักชินา  ก็คือ การไหว้ครูประมาณนั้น

ด้วยความดีใจ  เอกลัพย์ บอกกับโทรณาจารย์ว่า  แล้วแต่อาจารย์จะสั่ง  เขายินดีจะทำตามทั้งนั้น 

“จงตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเจ้าเป็นเครื่องบูชาครูแก่ข้า” 

               การไม่มีหัวแม่มือขวา ก็คือการจบวิถีของการเป็นนักยิงธนูไปทันที เพราะขาดนิ้วที่จะจับปลายลูกธนู   แต่เอกลัพย์ก็ยินดีตัดนิ้วหัวแม่มือขวาของเขาให้แก่อาจารย์โดยไม่อิดเอื้อน


(วิหารขนาดเล็กที่สร้างอุทิศแด่ เอกลัพย์ ในความมีจิตใจสูงส่งในการเคารพครูบาอาจารย์ เชื่อกันว่า  สถานที่แห่งนี้ก็คือสถานที่ฝังนิ้วหัวแม่มือของเขา – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ปัจจุบัน  มีวิหารขนาดเล็กสร้างให้แก่ เอกลัพย์ ผู้มีความสัตย์ซื่อต่อครูของตัวเอง  

               นี่คือปรัชญาของการบูชาครูจากมหากาพย์ “มหาภารตะ” ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อประมาณ  3,000 ปีที่แล้ว

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .