ระเบิดตึกแฝดโนอิดาของอินเดีย ขบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม(ตอน 3-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 พฤศจิกายน 2565)

ระเบิดตึกแฝดโนอิดาของอินเดีย ขบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม(ตอน 3-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากศาลฏีกาแห่งอินเดียมีคำสั่งให้ทำลายตึกฝาแฝดโนอิดาทิ้ง นำไปสู่การระเบิดทำลายอาคารทั้งสองเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 

               นับเป็นการทำลายอาคารที่สูงที่สุดของอินเดีย  แต่มิใช่เป็นครั้งแรกเพราะเมื่อเดือนมกราคม ปีค.ศ. 2020 หรือ สองปีที่แล้ว  ศาลฏีกาของอินเดียเคยสั่งให้ทำลายทิ้งอาคารอพาร์ตเมนต์ในเมืองโคชิ(KOCHI) ของรัฐเคราลา(KERALA) มาก่อนแล้ว  ด้วยเหตุผลว่าละเมิดกฎระเบียบว่าด้วยเขตชายฝั่งทะเล

               คณะกรรมการได้ว่าจ้างบริษัท JET DEMOLITIONS จากเซ้าท์ อัฟริกา เป็นผู้ระเบิดอาคารในรูปแบบที่เรียกว่า WATERFALL EFFECT หรือ คือพื้นแต่ละชั้นจะถล่มลงไปสู่พื้นชั้นล่างไปเป็นลำดับ


(ทีมงานระเบิดตึกต้องทำการป้องกันอาคารที่อยู่โดยรอบทั้งหมด  ทั้งในแง่ของความมั่นคงของตัวอาคาร และ  การป้องกันฝุ่น และ เศษหินที่จะกระเด็นเข้าไปกระทบ – ภาพจาก INDIANS EXPRESS)

               เจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำลายผนังห้องที่ก่อด้วยอิฐ และขนออกมาทั้งหมดก่อน  ให้เหลือเพียงโครงสร้างหลักเช่น  เสา และ พื้นเท่านั้น  เพื่อลดโหลดความรุนแรงของการถล่มของอาคาร   จากนั้น   ทีมงานของ JET DEMOLITIONS จะเข้าไปวางระเบิดตามเสา  และ  จุดอื่นๆที่จำเป็นตามที่วางแผนไว้แล้ว  เพราะอาคารที่รายล้อมอยู่ห่างจากตึกแฝดเพียง 9 เมตรเท่านั้น  ความผิดพลาดจะมีไม่ได้แม้แต่นิดเดียว  มิเช่นนั้น  อาคารจะล้มไปด้านข้างจะก่อความเสียหายหนัก

               รวมน้ำหนักของระเบิดที่ใช้ทั้งสิ้น 3700 กิโลกรัม 

               ก่อนวันระเบิด  ผู้อาศัยอยู่ในอาคารใกล้เคียงจำนวน 5,000 คนถูกอพยพออกไป   รถยนต์กว่า 3 พันคัน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงอีกหลายร้อยตัวถูกเคลื่อนย้ายออกไปด้วย  


(ภาพการใช้ระเบิดทำลายอาคารแฝด โนอิดา)

ในวันปฎิบัติการ   ทีมงานจะต้องสังเกตทิศทางลมว่า  ไม่ควรจะพัดไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเดลี  ไม่เช่นนั้นฝุ่นจำนวนมหาศาลจะเข้าไปก่อมลพิษที่ร้ายแรงแก่ชาวเดลีได้

เคราะห์ดี  ในเวลาที่กดระเบิด  ลมพัดไปทิศตะวันออก  เดลีจึงรอดพ้นมหันตภัยนี้ไปได้

ทีมงานอีกส่วนหนึ่งต้องรีบเข้าไปทำการพ่นน้ำจำนวนมากเพื่อสยบฝุ่นจำนวนมหาศาลเหล่านี้   


(เมื่อการระเบิดอาคารสิ้นสุดลง อาคารรอบๆไม่ได้รับความเสียหายเลย  แต่ได้ทิ้งทรากปรักหักพักเท่ากับภูเขาเล็กๆเอาไว้ให้จัดการต่อ – ภาพจากหนังสือพิมพ์ INDIANS EXPRESS)

หลังจากระเบิดทำงานเรียบร้อย  ก็ได้ทิ้งซากปรักหักพังของปูนซิเมนต์ และ เหล็กจำนวนมหาศาลกว่า 80,000 ตันเอาไว้  เขาจะทำอย่างไรกับขยะกองโตมหึมาเหล่านี้   และ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขั้นต้น  ในตึกแฝดมีการขุดดินลึกลงไปเพื่อสร้างที่จอดรถชั้นใต้ดิน  เขาจึงเอาทรากหินดินทรายถมกลบพื้นที่ขุดให้ราบเรียบ  ที่เหลือก็จัดการแยกส่วนที่เป็นเหล็ก ออกจากปูนแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ที่น่าสนใจก็คือ  คำสั่งของศาลฎีกาได้ระบุให้  บริษัท ซุปเปอร์เท็ค ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้ซื้อห้องพักที่มีจำนวน 915 ห้องที่จ่ายมัดจำแล้วเต็มจำนวน  พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปีด้วย

นอกจากนี้  ยังสั่งให้บริษัทต้องจ่ายเงินจำนวน 20 ล้านรูปี ให้แก่กองทุนเพื่อการค้ำประกันความเสียหายของ  EMERALD COURT ซึ่งเป็นอาคารที่พักของกลุ่มผู้ฟ้องร้อง 4 คนต่อบริษัทซุปเปอร์เท็คอีกด้วย   คงจะเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายหากมีคนจะฟ้องร้องกลับ

การทำลายอาคารสองหลังที่ว่านี้  บริษัทต้องใช้เงินค่าจ้างระเบิดตึก 200 ล้านรูปี   รวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ เช่นค่าก่อสร้าง  และ  ค่าดอกเบี้ยที่บริษัทต้องจ่ายอีกประมาณ 5000 ล้านรูปี

การระเบิดตึกครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเท่านั้น  แต่สร้างความเสียหายให้แก่บริษัท ซุปเปอร์เท็คประมาณ 5200 ล้านรูปีเป็นอย่างน้อย   ยังไม่นับรวมความเสียหายในเรื่องชื่อเสียง และ ภาพพจน์ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าที่ประเมินค่ามิได้  เพราะบริษัทยังมีโครงการก่อสร้างคล้ายกันนี้อีก 50 โครงการทั่วประเทศ

แต่ประเด็นที่ผมอยากสรุปก็คือ  ความยุติธรรม ของประเทศอินเดีย ที่เราอาจไม่เคยเห็นในประเทศไทย

สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางกับผู้สู่อินเดีย อย่างเจาะลึก หลากหลายเส้นทาง  เชิญติดต่อได้ที่ โทร 0885786666

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .