ถ้าคุณได้รับเชิญไปร่วมพิธีเสวยของราชวงศ์ยุโรป(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (20 พฤศจิกายน 2565)

ถ้าคุณได้รับเชิญไปร่วมพิธีเสวยของราชวงศ์ยุโรป(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ถ้าท่านผู้อ่านได้รับเชิญไปร่วมในงานเลี้ยงอภิเษกสมรสของราชวงศ์ยุโรปเมื่อ 200-300 ปีที่แล้ว   ก็อย่างเพิ่งดีใจนะครับ

               เพราะอะไร

               เดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1760   มีพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าชายโจเซฟ ที่ 2 แห่งออสเตรีย กับ เจ้าหญิง อิซาเบลลา แห่ง พาร์มา ซึ่งพระนามเต็มก็คือ เจ้าหญิงอิซาเบลลา แห่ง บรูบอง-พาร์มา เพราะพระนางประสูติจากราชวงศ์บรูบองแห่งสเปน  แต่ตามพระบิดามาเป็นดยุคแห่งพาร์มา


(ขบวนของอิซาเบลลา แห่ง บรูบอง-พาร์มา เจ้าสาวของโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย ตอนที่มาถึงพระราชวัง ฮ๊อฟเบิร์ก ที่เวียนนา) 

               ซึ่งจะว่าไปแล้ว  ทั้งสองราชวงศ์ถือว่ามีสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้ชิดพอสมควร  เริ่มมาตั้งแต่เมื่อเจ้าหญิง ฮวนนา ผู้บ้าคลั่ง(JOANNA THE MAD หรือ  JOANNA OF CASTILE) พระธิดาของจักรพรรดินีอิซาเบล แห่ง คาสตีล ของสเปน  อภิเษกกับเจ้าชาย ฟิลิป ผู้รูปงาม (PHILIP THE HANDSOME หรือ PHILIP THE FAIR)ของออสเตรีย

               จักรพรรดินี อิซาเบล แห่ง คาสตีล คือผู้ทำสงครามขับไล่พวกมัวร์จนตกทะเล และต้องออกไปจากคาบสมุทรไอบีเรียนตั้งแต่นั้นมาในปีค.ศ. 1492  

               เรื่องฉายาของ ฮวนนา ผู้บ้าคลั่ง และ ที่มาของฉายานี้  ผมจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไปครับ  เพราะเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งทีเดียว


(เจ้าชาย โจเซฟ แห่งออสเตรีย)

               การแต่งงานของทั้งสองมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง  เพราะมีเป้าหมายในการผนึกกำลังระหว่างราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก กับ ตระกูล คาสตีล และ ลีอองของสเปน เพื่อสกัดกั้นการมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นของฝรั่งเศส

               พระนางมีโอรสและธิดา 6 พระองค์  คนโตก็คือ  พระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 5 ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์   ทำให้ราชวงศ์ฮับสเบิร์กมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น   ถ่ายทอดความแข็งแกร่งลงมาจนถึงสมัยของพระนางมาเรีย เธเรซา  


(เจ้าหญิง อิซาเบลลา แห่ง บรูบอง-พาร์มา)

               ที่เล่ามาเพื่อให้เห็นถึงปูมหลังของคู่บ่าวสาว ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหน  จะได้นึกเห็นภาพการแต่งงานของทั้งสองว่าจะอลังการแค่ไหนด้วย

               ราชวงศ์ฮับสเบิร์กต้องแต่งขบวนไปรับเจ้าสาวระหว่างทาง  แล้วเดินทางเข้ามาที่พระราชวังฮ๊อฟเบิร์กที่เวียนนา   ถือได้ว่าเป็นงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของพระนางมาเรีย เธเรซ่า ก็ว่าได้

               หลังจากพิธีอภิเษกสมรสผ่านไป  พิธีเลี้ยงฉลองที่ยิ่งใหญ่ก็ตามมา

               งานเลี้ยงถูกจัดขึ้นในห้องจัดเลี้ยงภายในพระราชวังอ๊อฟเบิร์กในปีกของอาคารที่เรียกว่า รีโดท (THE REDOUTE WING)  มีบรรดาแขกผู้มีเกียรติได้รับเชิญมาร่วมในงานเลี้ยงนี้กันอย่างหนาแน่น

               สมมติว่า  ท่านผู้อ่านมีชีวิตอยู่ในยุคนั้นพอดี และได้รับเชิญให้ไปร่วมในงานเลี้ยงดังกล่าว  ก็ถือว่า  เป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งในเวียนนา และ  ของราชวงศ์ฮับสเบิร์ก

               งานเลี้ยงดังกล่าว  ซึ่งบรรดาแขกรับเชิญของราชวงศ์ฮับสเบิร์กทุกคนจะต้องแต่งกายอย่างเต็มยศ  หรูหราเต็มเหนี่ยว  ก็ต้องทำใจก่อนล่วงหน้า  ซึ่งทุกคนคงจะทราบดีอยู่แล้ว


(ภาพวาดของเลี้ยงฉลองอภิเษกสมรสที่มีบรรดาแขกเหรื่อจำนวนมาก ได้รับเชิญให้มาร่วมพิธีเสวยของราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก และ พาร์มา  บรรดาแขกรับเชิญจึงได้แต่กลืนน้ำลายเอื้อกๆ)

               เพราะงานเลี้ยงดังกล่าวสำหรับแขกรับเชิญก็คือ  การได้รับเชิญไปชมบรรดาสมาชิกของราชวงศ์เขากินเลี้ยงกัน   แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเกียรติ และ เป็นบุญอย่างใหญ่หลวงแล้ว

               เพราะฉะนั้น   การได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงของราชวงศ์ยุโรปเมื่อ 200-300 ปีก่อน  จึงไม่ช่วยให้อิ่มท้องเลยแม้แต่น้อย  แต่อาจจะอิ่มใจได้บ้าง

               ตอนหน้า  เราจะมาว่ากันถึงยุคการร่วมโต๊ะเสวยกับกษัตริย์ของยุโรปจริงๆกันครับ

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .