สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 กุมภาพันธ์ 2566)

สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน5) 

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ความเชื่อของมนุษย์  บางครั้งก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลง  โดยเฉพาะความเชื่อที่ถูกฝังชิปมานานเป็นพันปี   หนึ่งในความเชื่อนั้นก็คือ เรื่องการให้สินสอดของฝ่ายหญิงในประเทศอินเดีย

               แม้จนกระทั่ง  รัฐสภาอินเดียได้ผ่านกฎหมาย “ห้ามการให้สินสอดในปีค.ศ. 1961” (THE DOWRY PROHIBITION ACT,1961)  ทำให้ “การให้”  หรือ “การเรียกร้อง” สินสอดเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

               กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า  สินสอด หมายถึง ทรัพย์สิน หรือ  สิ่งมีค่าใดๆที่มอบให้ หรือ  สัญญาว่าจะให้ ไม่ว่าจะโดยตรง หรือ โดยอ้อม   ไม่ว่าจะเป็นการให้จากฝ่ายเจ้าบ่าว หรือ ฝ่ายเจ้าสาว  ไม่ว่าจะให้โดยพ่อแม่  หรือ บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะให้ก่อน หรือ หลังการแต่งงาน 

               แต่ไม่รวมสิ่งที่ชาวมุสลิมมอบให้ที่เรียกว่า MAHR

               แม้จะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย  แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่า  ยังมีการให้ หรือ เรียกรับสินสอดจากฝ่ายหญิงอยู่  ส่วนใหญ่จะเป็นในท้องที่ชนบทที่ห่างไกล  และ  ในหมู่คนไร้การศึกษา

               แต่ในเมืองใหญ่ๆของอินเดีย  การแต่งงานมีรูปแบบพัฒนาการที่แตกต่างออกไป   แม้ว่าสังคมเมืองจะทำให้ชายและหญิงสามารถพบหน้าเจอตา  และ ทำความรู้จักกันก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเป็นคู่ครองกัน  แต่ด้วยรูปแบบของสังคมที่มีประเพณีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง  จึงทำให้การพบปะกันสองต่อสองเป็นเรื่องไม่ง่าย

               การหาคู่ในรูปแบบที่เหมือนในภาพยนต์รัก จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ง่ายนัก


(ในส่วนของโฆษณาหาคู่ในหนังสือพิมพ์ TIMES OF INDIA ในเมืองกอลกัตตา)

               จึงเกิดช่องทางการประกาศหาคู่ทางหนังสือพิมพ์

               ประกาศหาคู่ทางหนังสือพิมพ์ของอินเดีย  เป็นเรื่องจริงจังมากกว่าการประกาศหาคู่ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก  โดยการประกาศหาคู่ดังกล่าว  ผู้ประกาศจะต้องจ่ายค่าโฆษณาตามจำนวนตัวอักษร มีตัวอักษรมาก  ก็ต้องจ่ายมาก  และหากมีภาพถ่ายเพิ่มเข้าไป  ก็จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก


(โฆษณาแบ่งสัดส่วน  ทั้งที่ต้องการเจ้าบ่าว  และ  ต้องการเจ้าสาว)

               ที่สำคัญก็คือ  ผู้ที่ประสงค์จะประกาศหาคู่  จะต้องแสดงตัวตนกับหนังสือพิมพ์ว่า  มีตัวตนจริง  ไม่ใช่การกุข่าวเพื่อความสนุกสนาน แบบที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เพื่อนแกล้งเพื่อนกัน  

               เนื่องจากพื้นฐานมสงสังคมของชาวอินเดียมีความหลากหลายมาก  การลงโฆษณาหาคู่จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน  หากเจ้าตัวต้องการจะได้คู่ที่แท้จริง

               เริ่มตั้งแต่แยกประเภทตามวรรณะ  คือ  วรรณะพราหมณ์ , วรรณะกษัตริย์ ซึ่งมักจะเรียกว่า  ราชบุตร   , วรรณะแพศย์  แต่ไม่ค่อยเห็นโฆษณาของคนวรรณะศูตร


(โฆษณาแยกส่วนให้เห็นชัดเจนว่า  ผู้ประกาศอาคู่ต้องการคู่ในวรรณะใด)

เพราะการแต่งงานของคนจากวรรณะที่แตกต่างกัน ก็อาจเป็นปัญหาในระดับหนึ่ง  เช่น  ความเข้าใจพื้นฐานของแต่ละฝ่าย  ภูมิหลังที่แตกต่างกัน  และ  ความเชื่อที่แตกต่างกันด้วย

               กระนั้นก็มีผู้โฆษณาหาคู่โดยระบุว่า   วรรณะ ไม่ใช่ปัญหา

               ยังมีโฆษณา ที่ระบุเงื่อนไขเรื่องศาสนา  เช่น  ศาสนาฮินดู  ,  อิสลาม  ,  ศาสนาเชน  หรือ  ศาสนาซิกห์  ซึ่งแน่นอนว่า   การนับถือศาสนาที่แตกต่างกันก็สามารถเป็นสาเหตุของความขัดแย้งระหว่างคู่สมรสได้


(โฆษณาที่ระบุหาคู่ที่ใช้อาชีพการงานเป็นข้อกำหนด) 

               นอกจากนี้  ก็ยังมีการหาคู่ที่ระบุเงื่อนไขเรื่องอาชีพการงาน  เช่น  อาชีพนายแพทย์  ไม่น่าเชื่อว่าคนระดับนายแพท์ยังต้องอาศัยหนังสือพิมพ์ในการประกาศหาคู่ด้วยเหมือนกัน

หรือแยกตามภาษาพูด เช่น  ภาษาเบงกาลี ,  ปัญจาบี  เป็นต้น  เพราะอินเดียเป็นประเภทที่กว้างขวาง และ มีความแตกต่างในเรื่องภาษาพูดเป็นอย่างมาก  แม้ว่า  ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการมาจากภาษาสันสกฤตก็ตาม   


(โฆษณาชิ้นนี้ระบุต้องการผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ต้องการ  คงไม่ต้องการย้ายบ้านไกล และ โฆษณาที่ระบุสัญชาติของคู่ด้วย)

               บางรายที่ต้องการจะหาคู่เป็นคนต่างชาติก็มี   รวมทั้ง  คนที่จะแต่งงานเป็นครั้งสอง  หรือ  คนพิการ หรือ ทุพลภาพ  ก็ประกาศหาคู่เช่นกัน 

               ที่น่าสนใจก็คือ  คนในระดับ อีลีต (ELITE) ที่ผมได้เขียนเรื่องราวของคนกลุ่มนี้เอาไว้ในตอนก่อนๆ

               แล้วคนที่สนใจในโฆษณาหาคู่ และต้องการจะเลือกคนๆนั้น   เขาจะทำอย่างไร 

               สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าต่อครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .