สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน6-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 กุมภาพันธ์ 2566)

สินสอดมรณะ และ การแต่งงานของชาวอินเดีย(ตอน6-จบ) 

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สมมติว่า  ญาติบางคนของฝ่ายชายได้เห็นโฆษณาหาคู่ของผู้หญิง  และ  เกิดสนใจจะติดต่อให้หญิงสาวผู้นี้ให้มาเป็นภรรยาของญาติของตัวเอง  ก็จะติดต่อไปที่ฝ่ายหญิง  แล้วขอเข้าไปพบและเจรจาแนะนำตัวให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงรู้จัก

               จากนั้น  หากทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน  ก็จะต้องพยายามแอบทำความรู้จักกับอีกฝ่ายหนึ่งให้มากที่สุด  โดยพยายามไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้  

               วิธีการสืบข่าวของอีกฝ่ายหนึ่งก็คือ  การแอบเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน  และ  เพื่อนที่ทำงานของฝ่ายชายหรือหญิง  เพื่อจะได้รู้ว่า   คนที่เขากำลังมองอยู่เป็นคนนิสัยเช่นไร  ทำงานในที่ทำงานอย่างไร   ทำครัวเป็นมั้ย  เป็นแม่บ้านแม่เรือนหรือไม่  ความประพฤติส่วนตัวเป็นอย่างไร  เคยมีเรื่องเสียอะไรอื่นๆหรือไม่   

เพราะฉะนั้น   ใครที่ชอบสร้างศัตรูทั้งกับเพื่อนบ้าน หรือ เพื่อนที่ทำงานก็เตรียมตัวเป็นโสดต่อไปได้เลย   เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ได้  จนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายก็ถึงขั้นตอนการเจรจาสู่ขอ

เนื่องจากการจ่ายสินสอดเป็นสิ่งผิดกฎหมายของอินเดีย  จึงไม่มีการเรียกร้องสินสอดจากฝ่ายหญิงเช่นในอดีต

               พิธีทำพิธีแต่งงานทางศาสนาสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดู  ถือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในการแต่งงาน   จะว่าไป   อาจจะสำคัญมากกว่าการจดทะเบียนสมรสด้วยซ้ำ 

การทำพิธีทางศาสนาจะจัดขึ้นสองครั้ง  ครั้งแรกที่บ้านเจ้าสาว และครั้งที่สองที่บ้านของเจ้าบ่าว  ชาวฮินดูถือว่าพิธีดังกล่าวเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำต่อหน้าเทพเจ้า   เรียกว่า  ยักนา (YAJHA) ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางที่กระทำกันรอบกองไฟ  

จะว่าไป  ก็คือพิธี บูชา(PUJA) อย่างหนึ่งที่ชาวฮินดูถือปฎิบัติกันในบ้านทุกค่ำคืน


(พิธีแต่งงานแบบฮินดูในกอลกัตตา เป็นญาติของเพื่อนผม)

               ความสำคัญของประเพณีแต่งงานของฮินดูก็คือ การทำพิธีรอบเทพอัคนี(AGNI) หรือรอบกองไฟ  ประเพณีนี้เรียกว่า  ซัปตาพาดิ(SAPTAPADI) หรือ แซต เฟีย (SAT PHERE)ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤติ  ที่แปลว่า  เจ็ดก้าว (SEVEN STEPS/FEET)  และถือเป็นประเพณีแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของฮินดูด้วย


(การแต่งงานที่กระทำกันรอบกองไฟ)

               นัยยะอย่างหนึ่งของการทำพิธีแต่งงานรอบกองไฟก็คือ  พิธีที่ปฎิบัติต่อหน้าเทพเจ้าแห่งไฟก็คือ อัคนี (AGNI)

               ในศาสนาฮินดู  นับถือว่าเทพอัคนี เป็นเทพผู้พิทักษ์ประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้  ภายในวิหารของฮินดูจะมีรูปเคารพของเทพอัคนี  และเป็นหนึ่งในห้าธาตุของสรรพสิ่งในโลก  อันประกอบด้วย อากาศ(AKASA)  น้ำ(AP)  ลม(VAYU)  พื้นดิน(PRTHVI)  และ  ไฟ

               ชาวฮินดูเชื่อว่า   อัคนี จะทำหน้าที่เผาผลาญความเข้าใจผิด  ความขัดแย้ง  การทะเลาะเบาะแว้งของคู่สมรสให้หมดไปด้วย


(ขั้นตอนการแต้มสินธุ)  

               ในพิธียักนา  จะมีขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญก็คือ  การแต้มสินธุ(SINDUR) เริ่มตั้งแต่ไรผมกลางศรีษะตรงจุดแสกของผมขึ้นไป

               สินธุ์ ก็คือ สีแดงสด หรือ แดงปนส้ม ที่ใช้แต้มที่ศรีษะของสตรีเพื่อแสดงให้เห็นว่า   สุภาพสตรีผู้นี้แต่งงานแล้ว   ซึ่งแตกต่างจาก ทีลัค(TILAKA) ที่เป็นการแต้มสีที่กลางหน้าผากตรงจุดที่เรียกว่า  อัจนา จักรา (AJNA CHAKRA) หรือ จุดของดวงตาที่สาม   และมีความหมายแตกต่างจาก บินดิ(BINDI)ที่แต้มอยู่บนจุดตาที่สามเช่นกัน  หรือ ตรงกลางหน้าผากเล็กน้อย 

เพราะ บินดิเน้นในเรื่องการประดับประดาเพื่อความสวยงามมากกว่าจะมีความหมายใดๆ   


(งานเลี้ยงของการแต่งงานของชนชั้นกลาง ก็จะเลี้ยงแบบง่ายๆ  เป็นถาดตามจำนวนของแขก อาหารจะเหมือนกับอาหารธรรดาที่ทานกันทุกวัน)

               หลังจากนั้น   ก็จะเป็นงานเลี้ยงรับรองแขกที่มาร่วมแสดงความยินดีของทั้งสองฝ่าย  โดยหากเป็นงานเลี้ยงของบ้านฝ่ายเจ้าสาว  แขกส่วนใหญ่ก็จะเป็นบรรดาเครือญาติ และ เพื่อนฝูงของฝ่ายเจ้าสาว   แต่หากเป็นงานเลี้ยงของฝ่ายเจ้าบ่าว  แขกส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือญาติของฝ่ายเจ้าบ่าว

               ส่วนใหญ่  งานเลี้ยงที่บ้านใครฝ่ายนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกันเอง  มีความเท่าเทียมกันดี  


(เจ้าบ่าว-เจ้าสาวก็ทานอาหารอยู่ในหมู่ของแขกที่มาร่วมในงานเช่นกัน)

               ที่น่าสนใจก็คือ   งานเลี้ยงพิธีสมรสจะไม่มีการเสริฟเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอลล์ใดๆเด็ดขาด   เพราะความเชื่อของชาวฮินดูถือว่า  งานพิธีสมรสเป็นงานมงคลที่มีเทพเจ้าเป็นประธานในงาน    ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ถือเป็นเครื่องดื่มอัปมงคล

               จึงห้ามนำเข้ามาภายในอาณาบริเวณของงานสมรส  และ  ในงานเลี้ยงเด็ดขาด

               แต่ปัจจุบัน   ทัศนคติของชาวฮินดูก็เริ่มเปลี่ยนไป  โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่   ในงานเลี้ยงฉลองตามโรงแรม หรือ สถานที่ต่างๆหลังการแต่งงาน   จึงแอบมีการเอาเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์มาเสริฟกัน  แต่พยายามทำกันแบบลับๆ

               ในบางงานจะจัดในอีกห้องหนึ่งแยกออกไปต่างหาก  เพื่อไม่ให้เด็กๆหรือเยาวชนได้เห็นภาพดังกล่าว  ส่วนในอนาคต  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในงานเลี้ยงแต่งงานของชาวฮินดูจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาแบบทั่วโลกหรือมั้ย   ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูต่อไป  

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .