บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (5 มีนาคม 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ตั้งแต่เช้ามืด  บนฟุตบาทที่ไปทอดตัวขึ้นไปสู่สะพานเฮาราห์ เต็มไปด้วยแผงแบกะดินเรียงรายแน่นขนัด  ส่วนใหญ่ขายดอกไม้ ใบไม้ที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีปูจา(PUJA) หรือ พิธีบูชา ต่อเทพเจ้าที่ชาวฮินดูมักจะทำกันเป็นประจำที่วิหาร หรือ ที่บ้าน


(ตรงจุดที่ตลาดเริ่มต้น  ไล่ไปเรื่อยๆไปยังทางขึ้นสะพานเฮาราห์ ที่อยู่ไกลๆ)

               ระหว่างทางมีคนขายดอกดาวเรือง และ ดอกไม้สีเหลืองที่นำมาร้อยเป็นพวงมาลัย เพราะดอกไม้สีเหลือง หรือ ส้ม เป็นสีของพระวิษณุ   หากใครจะไปสักการะพระวิษณุ หรือที่คนไทยเรียกว่า  พระนารายณ์ ก็จะต้องเอาดอกไม้สีนี้ไปถวาย


(พวงมาลัยดอกดาวเรืองที่มักจะขายดี เพราะพระวิษณุเป็นเทพเจ้าที่ได้รับความเคารพอย่างกว้างขวาง)

               เดินมาอีกหน่อยก็เห็น พ่อค้าขายรวงข้าวอ่อน ที่เรียกว่า ธาน(DHAN) รวงข้าวได้รับการจัดรูปทรงให้สวยงามน่าซื้ออย่างยิ่ง   รวงข้าวอ่อนที่ว่านี้   เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งในการทำพิธีบูชา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในพิธีไหว้ครูที่วัฒนธรรมไทยก็ได้รับอิทธิพลมาจากฮินดูแต่ดัดแปลงไปมากพอสมควร

               พิธีไหว้ครูจะต้องมีหญ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เดอร์บา(DURBA)  ประกอบเข้ากับ รวงข้าวอ่อน รวมกันเรียกว่า ธาน เดอร์บา (DHAN DURBA)   ซึ่งสื่อความหมายถึงความแข็งแกร่ง  การต่อสู้  และ  พร้อมจะเติบโตได้ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมอย่างไร


(รวงข้าวอ่อนที่ได้รับการจัดแต่งให้สวยงาม  ดูท่าว่าจะขายดีเพราะมีร้านขายเรียงรายไปไกลมากทีเดียว)

               ในวันครูของชาวฮินดูอินเดีย  นักเรียน หรือ นักศึกษาที่ระลึกถึงพระคุณของครู  ก็จะนัดคุณครูเพื่อเข้าไปพบเพื่อแสดงมุทิตาจิตที่คุณครูได้อบรมสั่งสอนมาจนเป็นผู้เป็นคนทุกวันนี้

               ครูจะเตรียม รวงข้าวอ่อน  หญ้าเดอร์บา ใส่ถาด  พร้อมด้วยเทียนไข  และ มีถ้วยเล็กๆใส่ของเหลวที่มีสินธุ (SINDOOR) ซึ่งก็คือผงสีแดง หรือ เหลือง ละลายอยู่

               ครูก็จะเอาถาดหมุนวนเหนือศรีษะของลูกศิษย์ เรียกว่า  พิธีอาชิรวาท(ASHIRWAD) หรือ  การให้พร   จากนั้นครูก็จะแต้มสินธุที่หน้าผาก   และมอบหญ้าเดอร์บา และ รวงข้าวอ่อน ให้ลูกศิษย์ เป็นเครื่องเตือนใจให้ลูกศิษย์มีความอดทนต่อสู้

               เป็นอันเสร็จพิธี


(หญ้าเดอร์บา (ด้านล่าง) และ กะเพราะ (ด้านบน) )

               เดินมาอีกหน่อย  ก็พบร้านที่ขายหญ้าเดอร์บา  แต่ไม่ขายเพียงหญ้าเดอร์บาเท่านั้น   แต่เป็นใบไม้ที่คนไทยคุ้นชินกันเป็นอย่างดี

ใบกะเพรา ครับ   ว่าแต่ใบกะเพรามาทำอะไรที่นี่ 

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว  ผมนำคณะเดินทัวร์ทางไปบนเส้นทางสังเวชนียสถาน  ลูกค้าอยากทานอาหารไทย   ผมก็เลยขอให้เจ้าของโรงแรมที่สนิทกันดีช่วยทำอาหารง่ายๆ  เช่น  ผัดกะเพราะไก่ไข่ดาวให้

มันเป็นเมนูง่ายๆสำหรับคนไทยก็จริง   แต่มันไม่ง่ายเลยสำหรับชาวฮินดูในอินเดีย 

เพราะอะไร

เพราะชาวฮินดูเขาเคารพนับถือใบกะเพราว่าเป็นพระแม่  มีชื่อเรียกว่า  พระแม่ทุลซี่ (TULSI)   ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะหากุ๊กชาวฮินดูในอินเดียสักคนช่วยทำกะเพราให้ทาน  เพราะเขากลัวบาป

ทั้งๆที่ในบ้านของชาวฮินดูมักจะมีต้นกะเพราปลูกไว้บนลานกลางแจ้งในบ้าน หรือ บนหลังคาดาดฟ้า  หรือแม้แต่ภายในห้องนอน

เหตุผลคืออะไร   ผมจะเล่าให้ฟังในตอนหน้าครับ

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .