บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (12 มีนาคม 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ตอนที่แล้ว  ผมได้พูดถึงต้นกะเพรา(TULSI)ซึ่งชาวฮินดูในอินเดียไม่กล้าเอามาทำอาหาร  เพราะชาวฮินดูเคารพนับถือต้นกะเพราในฐานะพระแม่ทุลซี 


(พระแม่ทุลซี ในรูปของมนุษย์ ตามจินตนาการของชาวฮินดู  ทำให้พระแม่ดูจะใกล้ชิดกับชาวบ้านมากขึ้น)

               เรื่องราวของพระแม่ทุลซีมีรายละเอียดมากมาย  ชาวฮินดูเชื่อว่า  พระแม่ทุลซีในรูปแบบของต้นกะเพรา เป็นปางหนึ่งของพระแม่ลักษมี  พระแม่แห่งความมั่งคั่งร่ำรวย  เป็นมเหสีของพระวิษณุ  แต่พระวิษณุอยู่ในรูปแบบของก้อนหินบนท้องน้ำของแม่น้ำคงคา ที่เรียกว่า  เทพชาลิแกรม (SHALIGRAM)

               ทั้งคู่ยังได้แต่งงาน (VIVAH) กันซึ่งวันแต่งงานถือว่าเป็นการสิ้นสุดของฤดูมรสุม  และ เป็นการเริ่มต้นของฤดูแต่งงานของในทางชาวฮินดู


(พิธีกรรมของการแต่งงานของพระแม่ทุลซี กับ เทพชาลิแกรม ในจินตนาการของชาวฮินดู)

               ด้วยความเคารพต่อพระแม่ทุลซี  ชาวฮินดูจึงมักจะปลูกต้นกะเพราตรงลานกลางแจ้งภายในบ้าน  และมักจะทำการบูชาเป็นประจำทุกวัน


(พิธีแต่งงานระหว่าง พระแม่ทุลซี กับ เทพชาลิแกรม ซึ่งอยู่ในรูปของก้อนหิน หรือ ดินที่อยู่บนพื้นน้ำของแม่น้ำคงคา)

               หลายคนอาจจะคิดว่า  ช่างเป็นความงมงายเหลือเกิน

               แต่ผมได้รับข้อมูลจากผู้รู้ในทางศาสนาฮินดูบอกว่า  เบื้องหลังของการนำเอาต้นกะเพราเข้ามาบูชาภายในบ้านในฐานะของพระแม่ทุลซีนั้น  ก็เพราะความมหัศจรรย์ของต้นกะเพราที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนเลย

               เบื้องต้น  ใบกะเพรามีส่วนช่วยในเรื่องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ,  ลดอาการไข้หวัด  ไอ และ ปัญหาเรื่องระบบหายใจ , ลดความเครียด และ ความดันโลหิต , ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ , ช่วยเสริมสร้างสุขภาพการทำงานของหัวใจ , ช่วยลดอาการของโรคเบาหวาน  และ  ช่วยเรื่องนิ่วในไต

               นอกจากนี้  กะเพราะยังเป็นพืชที่มีคุณสมบัติในการกำจัดแบคทีเรีย และ เชื้อโรคต่างๆ ที่ภาษาแพทย์เรียกว่า ANTI BIOTIC   ชาวฮินดูแม้กระทั่งทุกวันนี้จะใช้ใบกะเพราะวางปิดปาก และ ปิดตาของผู้ตาย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากผู้ตายอีกด้วย

               แต่สำหรับคนไทย   เราคุ้นเคยกับใบกะเพรามานานแสนนานแล้ว  ด้วยอาหารจานสิ้นคิด  ที่คิดอะไรไม่ออกก็สั่งจานนี้  คือ ผัดกะเพราไข่ดาว   จนแทบจะเรียกได้ว่า  ใบกะเพราอยู่ในสายเลือดแล้ว

               แต่คุณประโยชน์ที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นก็คือ   ต้นกะเพราเป็นหนึ่งในจำนวนต้นไม้ไม่กี่ประเภทที่สามารถผลิตอ๊อกซิเจนออกมาได้แม้ในเวลากลางคืน 


(ต้นลิ้นมังกร)

               นอกจากต้นกะเพราแล้ว   ในทางวิทยาศาสตร์ยังยืนยันว่า ยังมีต้นไม้ชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับต้นกะเพราะก็คือ  ต้นลิ้นมังกร(SNAKE PLANT)  และ ต้นเศรษฐีเรือนนอก (SPIDER PLANT) เป็นต้น  

               ใครอยากได้อากาศที่บริสุทธิ์  เต็มไปด้วยอ๊อกซิเจน  ก็สามารถเอาต้นกะเพราไปปลูกไว้ภายในบ้าน หรือ  ภายในห้องนอนได้นะครับ   

               ประโยชน์ของต้นกะเพรามีมากมายขนาดนี้แล้ว  ชาวฮินดูจึงคิดว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนช่วยกันปลูกต้นกะเพราเพื่อเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านโดยไม่ต้องบังคับ

               ว่ากันว่า  นักบวชในทางศาสนาฮินดูจึงคิดกุศโลบายขึ้นมาโดยสร้างให้ต้นกะเพราเป็นพระแม่ทุลซี  หรือ  ปางหนึ่งของพระแม่ลักษมี  พระแม่แห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย

               เมื่อทุกคนมองว่า  ต้นกะเพรา คือ พระแม่ลักษมี ก็จึงพยายามไม่ทำลายต้นกะเพรา  ซ้ำยังพยายามช่วยกันปลูก  ขยายพันธุ์  และ  ดูแลบำรุงรักษาอีกด้วย


(บ้านที่มีบริเวณกว้างพอก็จะปลูกต้นกะเพราตรงกลางบ้านที่ได้รับแสงพระอาทิตย์โดยตรง)

               สำหรับบ้านที่มีที่ว่างกลางบ้าน  ก็จะปลูกต้นกะเพราเอาไว้ตรงกลางลาน  ตอนเช้า  หลังจากอาบน้ำชำระร่างกายดีแล้ว  เจ้าบ้านก็จะไหว้บูชาพระแม่  แล้วก็ช่วยรดน้ำต้นไม้ด้วย   

               ต้นไม้ที่ได้รับความรัก   ความเอาใจใส่  คอยรดน้ำต้นไม้ทุกวัน  ก็ย่อมจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  พระแม่ทุลซี ก็ตอบแทนด้วยการมอบใบกะเพราที่มีคุณค่าทางยา  และ  มอบอ๊อกซิเจนให้แก่เจ้าของบ้านเป็นการตอบแทน


(เพื่อนชาวฮินดูของผม ได้สร้างศาลของพระแม่ทุลซี (TULSI MANCHA)  เพื่อเคารพบูชาทุกเช้า)

               เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลย์ และ  กลมกลืนกันอย่างไม่น่าเชื่อ   เพียงแต่จะต้องเอาเรื่องราวตำนานของพระแม่ทุลซี หรือ  พระแม่กะเพรา มาล่อใจ และ ดึงดูดให้ผู้คนเข้าหา  และ  ช่วยกันอนุรักษ์

               ก็คงไม่ต่างกันกับที่เราคนไทยต้องทำพิธีบวชให้กับต้นไม้ใหญ่  เพื่อป้องกันไม่ให้ใครหน้าไหนกล้ามาโค่นนั่นแหละ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .