บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (19 มีนาคม 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อชมต้นกะเพราที่วางขายริมทางบนความเชื่อของชาวฮินดูที่นับถือว่า เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เหมาะสมที่จะปลูกไว้ในบ้าน   หากสงสัยว่าเพราะอะไร  ขอให้ย้อนกลับไปอ่านในตอนที่แล้วครับ


(ดอก นีลกัณฑา ที่ใส่ถุงวางขายริมถนน)

               เดินมาได้อีกหน่อย   ผมก็พบกับดอกไม้ที่มีสีคลาสสิค คล้ายถูกย้อมด้วยครามย้อมผ้า  เพื่อนไกด์ชาวอินเดียบอกว่า  มันคือดอกไม้ NILAKANTHA  เมื่อค้นหาข้อมูลต่อไปก็พบว่า  ภาษาไทยเรียกว่า  ดอกนีลกัณฑ์

               ที่ผมต้องเอาเรื่องดอกไม้ นีลกัณฑ์ มาเล่าสู่กันฟังก็เพราะว่า  มันมีความน่าสนใจมาก  และ  เป็นเรื่องที่ค้างคาใจมาตั้งแต่อดีตสมัยเรียนชั้นประถมและมัธยม

               ดอกนีลกัณฑ์ เป็นดอกไม้ที่เชื่อกันว่า  เป็นที่โปรดปราน ของพระศิวะ เป็นอย่างมาก   ทุกครั้งที่จะถวายดอกไม้แด่พระศิวะ  หรือ  พระอิศวร ดอกนีลกัณฑ์เป็นดอกไม้ที่ขาดไม่ได้

               ทำไม


(ภาพชัดๆของดอก นีลกัณฑา)

               เพราะคำว่า  NILAKANTHA มาจากคำในภาษาสันสกฤตที่แปลว่า  คอสีฟ้า   คำว่า นีละ แปลว่า  สีฟ้า  และ  กัณฑ์ แปลว่า คอ  ความหมายเดียวกันกับ “ทศกัณฑ์”  ที่แปลว่า  ผู้มีสิบคอ

               NILAKANTHA เป็นหนึ่งในร้อยแปดพระนามของ พระศิวะ  มีความหมายว่า  ผู้มีพระศอสีฟ้า  ซึ่งเมื่อได้ทราบความหมายนี้จากเพื่อนไกด์  ก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ในเรื่องที่คุณครูเคยสอนเรื่อง “รามเกียรติ์”ตั้งแต่ชั้นประถมว่า


(การกวนเกษียณสมุทร – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               มีการร่วมใจกันระหว่างบรรดาเทพ กับ บรรดาอสูร  ช่วยกันกวนเกษียณสมุทรเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต  ที่ทำให้ใครก็ตามได้ดื่มแล้วจะเป็นอมตะ

               แต่ในขั้นตอนของการกวนเกษียณสมุทรนั้น   นอกจากจะได้มาซึ่งน้ำอมฤตแล้ว  สิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครต้องการก็คือ   ยาพิษ

               ยาพิษที่ไหลออกมานี้เอง   หากปล่อยให้ไหลไปตามยถากรรม  ก็จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อมนุษย์โลกเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยเหตุนี้   พระศิวะจึงรีบกลืนยาพิษที่ว่านี้เข้าไปในตัว เพื่อปกป้องมนุษย์โลกเอาไว้  และผลจากการดื่มยาพิษนี้เข้าไปนี่เอง   ทำให้พระศอ หรือ  คอของพระศิวะ  เปลี่ยนสีกลายมาเป็น สีฟ้า  

               ถึงตอนนี้  ในภาคภาษาไทยที่ผมได้เรียนมาก็คือ  คอของพระศิวะกลายเป็นสีดำ  ซึ่งได้รับการบรรยายความต่อไปว่า  สีดำเป็นสีของความรัก  ที่พระศิวะยอมเสียสละด้วยความรักให้แก่มนุษย์โลก


(หนังสือกามนิต-วาสิฎฐี)

               แม้กระทั่งในนิยาย “กามนิต-วาสิฎฐี” ก็ยังเปรียบว่ารักแท้ต้องมีสีดำเหมือนพระศอของพระศิวะ

               ผมไม่แน่ใจว่าที่ในภาษาไทยตีความว่า  คอของพระศิวะเป็นสีดำ   อาจจะเพราะในพจนานุกรม แปลความของคำว่า  “นิล”  ว่าคือ “พลอยชนิดหนึ่งที่มีสีดำ” จึงสรุปความว่า นิล มีความหมายไปในทาง  สีดำ

               ทำให้สงสัยว่า  การสอนวรรณคดีหลายเรื่องของศาสนาฮินดู ถูกดัดแปลงจนเปลี่ยนประเด็นสำคัญของเรื่องไปหรือไม่   ซึ่งอันที่จริงยังมีอีกหลายเรื่องที่หัวใจหลักของมหากาพย์ถูกเปลี่ยนแปลงไปจนพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

               ดังนั้น  จากชื่อของดอกไม้ที่ว่า  นีละกัณฑา  จึงเป็นจุดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า   คอของพระศิวะ มิได้มีสีดำตามที่เราได้ร่ำเรียนมา   หากแต่มีสีฟ้า  และ เชื่อว่า ดอกนีละกัณฑา เป็นดอกไม้โปรดของพระศิวะ ทีเดียว

               สำหรับท่านที่จะนำดอกไม้หรือใบไม้ไปถวายแด่พระศิวะต้องทราบก็คือ  ห้ามนำเอา ดอกจำปา (CHAMPAKA)  และ  ใบกะเพรา(TULSI) ไปถวายพระศิวะ เป็นอันขาด  เขาห้ามไว้ครับ

               พบกับ “บนถนนดอกไม้ไปสู่สนามซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา” ตอนต่อไปสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .