บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 มีนาคม 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ถนนตลาดดอกไม้วกลงมาที่ใต้สะพานเหล็กเฮาราห์(HOWRAH BRIDGE) ที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำ ฮุคห์ลี(HOOGHLY RIVER) แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมืองกอลกัตตา


(ตลาดดอกไม้ของกอลกัตตา มองลงมาจากสะพานฮุคห์ลี)

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ  ก็ขอเรียนว่า  แม่น้ำฮุคห์ลี ก็คือ สาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา  อันเป็นหนึ่งในเจ็ดแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพอย่างสูงสุด  แต่ช่วงที่ไหลผ่านรัฐเบงกอลตะวันตกมีชื่อเรียกว่า  ฮุคห์ลี

ชาวกอลกัตตาจึงถือว่าโชคดี   เพราะอาศัยอยู่ริมแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ไม่ว่าจะประกอบพิธีทางศาสนาในโอกาสใดก็ตามก็สะดวกมาก


(สะพานเฮาราห์ ที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำฮุคห์ลี หรือ แม่น้ำคงคา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เดินมาสักพักก็เห็นคนขายก้อนดินสีดำ ปั้นเป็นลูกบอลกลมๆอยู่ริมทางเดิน  ถามดูได้ความว่า   เป็นดินที่มาจากจากแม่น้ำฮุคห์ลี เขาเอาขึ้นมาขายเพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญในเครื่องบูชาที่เรียกว่า  กอต สตาปานา (GATH STAPANA)

ตามความเชื่อของชาวฮินดู   สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำพิธีบูชา(PUJA)ทุกชนิดนั้นก็คือ   กอต สตาปานา อันประกอบด้วย  โถที่ทำด้วยโลหะประเภททองแดง หรือ ทองเหลือง   จากนั้นก็จะใส่ดินลงไปรองพื้นในโถสักเล็กน้อย  จะเป็นดินอะไรก็ได้  แต่ถ้าเป็นดินจากแม่น้ำคงคาก็ถือว่าดีมาก  จากนั้นก็พรมน้ำลงไปเล็กน้อย 


(ดินตะกอนจากแม่น้ำคงคา)

แล้วใช้ใบมะม่วง 5 ใบวางที่ปากโถ จากนั้นก็วางลูกมะพร้าวที่ปอกเปลือกสีเขียวออกแล้วทับลงไป  ให้ใบมะม่วงแยกออกเป็น 5 แฉก  ตามรูป

จะมีการเขียนเครื่องหมายสวัสดิกะ(SWASTIKA) สีแดงลงไปข้างโถก็ได้  เพราะสวัสดิกะ เป็นเครื่องหมายที่ใช้กันในหลายศาสนา เช่น พุทธมหายาน  เชน และ  ฮินดู  มีความหมายไปในทางที่เป็นมงคล

จากนั้น  ก็เตรียมถาดดินเผาสีแดง  เอาดินจากแม่น้ำคงคาปูพื้นเล็กน้อย  พรมน้ำ  แล้วเอาโถดังกล่าวไปวางบนถาดดินเผานั้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้   รวมกันเรียกว่า  กอต สตาปานา  


(กอต สตาปานา  มีลักษณะคล้ายพานพุ่มของไทย – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ในการทำพิธีบูชา  ไม่ว่าจะทำที่บ้าน หรือ วิหาร ที่กระทำเพื่ออุทิศบุญกุศลให้ใครก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว  หรือ  เพื่อนสนิท  ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ  พิธีที่กระทำนั้น  ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า ซังกัลปา (SANKALPA) ความหมายตามตัวหนังสือก็คือ

ความปรารถนาจากหัวใจ   การให้สัญญา   ความตั้งใจ  หรือ  การตั้งสัตย์อธิษฐานที่จะทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง   น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับการอุทิศส่วนกุศลของไทยโดยประมาณ

ผู้ที่จะมาร่วมทำพิธีอาจจะเป็นพราหมณ์  หรือ  คนธรรมดาก็ได้   สิ่งสำคัญก็คือ  บุคคลผู้นั้นจะต้องสวดมนต์ถวายแด่เทพเจ้า  หรือ เทพีที่เจ้าของผู้ตระเตรียม กอต สตาปานา ต้องการจะอุทิศถวายให้

การท่องมนต์ตราถวายแด่เทพนั้น  มันก็คือพิธีกรรมที่เรียกว่า ปราน ปราทิสตรา (PRAN PRATISHTHA)

ความหมายตามตัวอักษรของคำว่า  ปราน ปราทิสตรา ก็คือ  พิธีกรรมทางศาสนาที่ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเป็นมงคล หรือ ศักดิ์สิทธิ์ (CONSECRATE)  เพราะคำว่า ปราน หรือ ปรานะ (PRANA) แปลว่า  พลังแห่งชีวิต  ลมหายใจ  วิญญาณ  ส่วนคำว่า   ปราทิสตรา แปลว่า  วางลง  หรือ  ตำแหน่งแห่งที่   

หมายถึง  พิธีกรรมที่นำเอาชีวิต หรือ จิตวิญญาณมาสู่  ในที่นี้ก็คือมาสู่  กอต สตาปานา

หลังจากพิธีนี้แล้ว  กอต สตาปานา จะมีฐานะเสมือนรูปเคารพของเทพองค์หนึ่ง ที่มีจิตวิญญาณของเทพอยู่ในนั้น  มีแนวคิดคล้ายกับการปลุกเสกพระของไทย  

หลังจากเสร็จพิธีกรรม   ชาวฮินดูก็จะเก็บ กอต สตาปานาเอาไว้ในบ้านประมาณ 1 วัน  แล้วนำเอาทั้งหมด(ยกเว้นโลหะ) ไปจมในแม่น้ำคงคา  ซึ่งเรียกว่า  บิสาร์จัน(VISARJAN)  เป็นจบพิธี

จะเห็นว่า  พิธีกรรมทั้งหมดมักจะอ้างอิงแม่น้ำคงคาเสมอ   ดังนั้น  ชาวอินเดียจึงถือว่า  คนที่มีโอกาสอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำคงคา  เป็นบุญอย่างยิ่ง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .