บทวิจารณ์ภาพยนตร์ HUNGER คนหิว เกมกระหาย

ชีวิตเป็นของมีค่า

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ HUNGER คนหิว เกมกระหาย

โดย      เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ

               โดยรวมของภาพยนตร์เรื่อง “คนหิว เกมกระหาย” ถือว่าดีมาก  ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชั่น  การจัดแสง  การถ่ายทำ  การตัดต่อ   แม้ว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ 

               ที่ต้องให้เครดิตอย่างมากก็คือ  ดนตรีประกอบ  ซึ่งผมให้คะแนนเต็ม

               แต่ที่ไม่ผ่านในสายตาของผมก็คือ  บทภาพยนตร์  ที่เน้นเอาแต่ความสะใจ  และพยายามลากไปสู่จุดที่ผู้เขียนบทต้องการจะไปให้ถึง โดยไม่ดูองค์ประกอบว่า  มันสมเหตุสมผล  หรือ  มีความจำเป็นหรือไม่

               ตัวละครเอกของเรื่องมีสองคน  คือ  เชฟพอล  ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารที่ในเรื่องบอกว่า  เป็นเชฟฝีมือดังระดับประเทศ ใครต้องการชิมอาหารฝีมือเชฟพอลต้องรอคิวนานเป็นเดือน  อีกคนหนึ่งก็คือ  อาหมวยที่ทำงานเป็นคนผัดก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วในร้านเล็กๆริมถนน

               ผู้เขียนบทคงจะเลือกเอาคาแรคเตอร์ของ GORDAN RAMSAY ที่เป็นเจ้าของรายการโหด HELL KITCHEN มาเป็นต้นแบบของเชฟพอล 

               ดังนั้น  ตลอดเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้   เชฟพอล จึงเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อของทุกคน  มีแต่ความดุดัน  ความโหดเหี้ยม  ปากจัดกับลูกน้อง  แต่หงอกับลูกค้า  แม้ว่าลูกค้าจะชักนำเขาให้ไปร่วมกระทำสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งกลายมาเป็นจุดจบของเรื่องนี้แบบง่ายเกินไป

               ที่มาของเชฟพอล ซึ่งบทสนทนาของตัวละครในเรื่องบอกว่า  เชฟพอลมีฉายาว่า เทพเจ้าแห่งอาหาร  แต่ไม่มีความชัดเจนว่าโด่งดังมาอย่างไร  เชี่ยวชาญอาหารประเภทไหน  เชี่ยวชาญอาหารของชาติใด

               ดูเหมือนว่า  แนวทางของภาพยนตร์ต้องการจะวางรูปแบบของอาหารที่เชฟพอลทำนั้น  เป็นสไตล์ของ OMAKASE ที่กำลังได้รับนิยมในท้องตลอดปัจจุบันนี้   กระนั้น  แม้ว่า โอมาคาเส จะมีความหมายว่า  เชฟเซอร์ไพร้ส   แต่ก็ต้องมีแนวทางของอาหารเหมือนกัน  ไม่ใช่คิดทำอะไรก็ได้เช่น  ทำพิซซา มาเสริฟพร้อมกับ ลาบเลือดเป็นต้น

               ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นด้วยเชฟโตน ซึ่งเป็นเชฟคนหนึ่งในกลุ่ม HUNGER ของเชฟพอล ได้เห็นการกระแทก และ เขย่ากะทะว็อคของอาหมวย ออย ในร้านเล็กๆร้านหนึ่ง   เขาแค่ดม และ ตักผัดซีอิ้ว เข้าปากเพียงคำเดียว  และดูเหมือนว่าจะยังไม่ทันจะเคี้ยว และกลืนด้วยซ้ำ   เชฟโตนก็บอกอาหมวยออยว่า

               “ฝีมือขนาดนี้ น่าจะอยู่ในที่ที่เหมาะกว่านี้”  และ บอกเพียงว่า  พรุ่งนี้จะมารับ  ความหมายก็คือ  ต้องการดึงออยไปร่วมทีม โดยไม่ได้บอกออยก่อนว่า  จะต้องมีการทดสอบการทำอาหารแข่งกันคนอื่นก่อน  

               กระนั้น   การถูกดึงไปร่วมทดสอบก็ดูเหมือนจะง่ายเกินไปต่อการไปเข้าร่วมกับเทพเจ้าแห่งอาหาร  มันคือรูปแบบของภาพยนตร์ไทยที่มักจะว่าพล็อตให้  นางเอก หรือ พระเอกเก่งแบบเทพเจ้าโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองเก่ง

               ออยเดินเข้าในห้องครัวของ HUNGER  แบบที่ผมต้องเรียกว่า  เซ่อๆซ่าๆ  เห็นเตาแก็สสองสามหัวก็ตื่นเต้น   เห็นมีดวางอยู่เรียงกันหลายเล่ม  ก็ตาโตเหมือนไม่เคยเห็นมีดมาก่อน 

               วันนั้นมีผู้ชายอีกคน ชื่อ แพท มาทดสอบด้วย  จากชุดที่แพทสวมใส่  เขาน่าจะทำงานเชฟในร้านอาหาร  แต่มาสมัครทำงานกับเชฟพอล   ซึ่งขัดแย้งกับคำพูดของโตนที่บอกว่า   แพท เป็นเชฟที่ถูกไล่ออกเพื่อรับออยเข้ามาเป็นสมาชิกแทน

               คำสนทนาคำแรกระหว่างเชฟพอล กับ แพท ที่ตกลงแล้วเป็นเชฟของพอลอยู่แล้ว  หรือ เป็นเชฟที่มาสมัครใหม่   (ใครสงสัยลองกลับไปดูภาพยนตร์อีกครั้งได้)   ก็แสดงความเป็นศัตรูอย่างชัดเจน ราวกับว่าอยู่ในค่ายทหาร  หรือ  ในแก็งค์มาเฟีย อย่างไรอย่างนั้น  ทั้งๆที่  เชฟไม่จำเป็นที่จะแสดงออกแบบนั้นก็ได้ 

               แต่คงไม่สะใจ     

ทำให้ผมตั้งข้อสงสัยว่า  เชพพอลจะต้องให้เงินเดือนเชฟลูกน้องมากแค่ไหน  5 แสน หรือ 1 ล้านต่อเดือน   จึงทำให้สมาชิกในทีมสามารถทนการดุด่า ตะคอกใส่ ราวกับหมูกับหมาของเชฟพอลได้

               ผมคิดว่า  แม้กระทั่ง  การแข่งขันในรายการ HELL KITCHEN ของ GORDON RAMSEY  เขายังไม่คำราม ตะคอกใส่ผู้เข้าร่วมแข่งขันแบบไร้เหตุผลแบบนี้เลย  

               นี่เป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งของการผูกเรื่อง   

               เชฟพอล ให้ทั้งสองคนทดสอบด้วยการผัดข้าวผัด  ซึ่งผมดูว่ามันตื้นเกินไป  และในที่สุดออยก็ได้รับเลือกให้เป็นทีมงาน  เพราะสามารถผัดข้าวผัดให้เป็นเม็ด  ไม่เกาะติดกัน   ซึ่งเป็นสิ่งที่เชฟอาหารจีนทั่วไปเขารู้กันอยู่แล้วว่า  การผัดข้าวผัดควรใช้ข้าวสวยค้างคืน

               แต่เชฟแพท ซึ่งเป็นเชฟมาก่อน  และดูจะมีประสบการณ์มากกว่า  กลับไม่รู้เรื่องนี้  และถ้าจะว่าไป  ในภาพยนตร์เรื่องนี้  ก็ไม่ได้แสดงว่า  ออยมีความสามารถในการผัดข้าวผัดในอดีตมาก่อน  ยกเว้นผัดซีอิ้ว  

               อันที่จริง   จะใช้ข้าวแบบไหนมาผัดข้าวผัดก็น่าจะไม่ผิด  เพราะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน   บางคนชอบข้าวผัดแบบเม็ดร่วน  บางคนอาจจะชอบแบบข้าวผัดแบบชุ่มๆ เนื้อเกาะกัน   เพียงแต่เดี๋ยวนี้  เมื่อกระแสของนักชิมอาหารที่พูดกันว่าต้องผัดข้าวแบบร่วนๆ  ก็เลยเชื่อตามๆกันไปโดยไม่ต้องพูดถึงรสชาติของข้าวผัดแต่อย่างใด

               ฉากที่เชฟพอล ไล่เชฟแพท กลับบ้าน  เพราะไม่ผ่านการคัดเลือก   บทภาพยนตร์คงจะวางเขียนบทพูดของเชฟพอลให้สะใจ และ โหดเกินไปหน่อย   และที่ร้ายกาจก็คือ   ถึงขั้นให้เชฟพอลตบหน้าเชฟแพท

การกระทำแบบนี้กับคนมาสมัครงาน  และเพิ่งจะพบกันเป็นครั้งแรก  ไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนมีสติสัมปชัญญะ  และ  ไม่มีนายจ้างคนใดที่จะบ้าพอที่จะทำกับคนมาสมัครงานใหม่ได้   แต่อาจจะเป็นไปได้ในภาพยนตร์ประเภทแก็งค์สเตอร์  

               หากเขาเป็นคนที่มีอารมณ์ร้ายแบบนี้    เชฟพอลไม่น่าจะรอดชีวิตมาได้นานขนาดนี้

               แต่ที่น่าสนใจคือ  ทันทีที่รับออยมาเป็นสมาชิกของทีม  ก็มีงานสำคัญสำหรับแขก 15 คน ซึ่งเชฟพอล จัดให้เป็นแนว “กินเลือดกินเนื้อ”  เนื้อวากิว A5 ที่นำมาเสริฟ จะที่กินจะต้องฉ่ำ ต้องเลอะมุมปาก

               ผมยังนึกไม่ออกเลย  ว่าอาหารอะไรที่จะทำให้ผู้กินต้องมูมมามขนาดนั้น

               เชฟพอล มอบงานให้แก่เชฟหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยแสดงผลงานอะไรเลย  ให้ทำการผัดเนื้อวากิว A 5 ให้เป็นอาหารที่นุ่ม จนไม่ต้องใช้ฟันเคี้ยว   ซึ่งออยเองก็ไม่เคยทำ  และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการฝึกตลอดคืนโดยไม่ได้นอน

               ที่ขัดสายตาผมมากก็คือ  ในฉากที่เธอฝึกผัดเนื้อนั้น   ท่าทีของเธอเหมือนไม่เคยจับกะทะมาก่อนเลย  น้ำมันกระเด็นใส่แขนใส่มือ จนเธอต้องปล่อยกะทะทิ้ง   แต่ในที่สุด   แค่คืนเดียวเธอก็สามารถผัดเนื้อให้ได้อย่างที่เชฟพอลต้องการได้

               นี่มันบทของภาพยนตร์ไทยชัดๆ  ที่เน้นให้นางเอกของเรื่องเก่งโดยกำเนิด   และ มีความโดดเด่นโดยไม่มีที่มาที่ไป

               โดยรวม   ผมมองว่า   จุดอ่อนที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ  บทภาพยนตร์   หลายฉากที่ไม่จำเป็น  เลย  เช่น  ฉากนั่งคุยกันระหว่างเพื่อนเพื่อสื่อความหมายว่า  เชฟพอลเป็นใคร  ทั้งที่ในฉากต่อมา  ออยก็มาค้นหาในอินเตอร์เน็ตก็รู้ว่า  เชฟพอลเป็นใคร  

ตำรวจมาเรียกให้แท็กซี่เลื่อนรถออกไป  แล้วมีรถเก๋งส่วนบุคคลมาจอดแทน  แล้ว ตัวละครในฉากก็ด่าตำรวจ  เหมือนว่าจะปูไปหาอะไร   แต่ทิ้งไปแบบนั้นเฉยๆ 

ฉากรักของออย และ โตนที่ห้องของโตน   ที่ไม่มีความหมายอะไร  เพียงแต่จะทำให้คนดูสงสัยว่า  เนื้อชิ้นใหญ่ที่โตนเอามาทำอาหารนั้น  โตนอาจจะขโมยมาจากครัวของเชฟพอลในฉากต่อมา

แต่ที่เป็นหนังไทยจ๋าก็คือ   ฉากที่ตำรวจเดินเข้ามาในงานเลี้ยงเพื่อจับตัวเชฟพอล  ในข้อหาว่ามีคลิปภาพเผยแพร่ว่า  เชฟพอลมีส่วนในการฆ่านกหัวขวาน  ทั้งๆที่เรื่องแบบนี้   ตำรวจต้องออกหมายเรียกก่อน

แต่ทั้งผู้เขียนบท และ ผู้กำกับคงต้องการความสะใจมากกว่าที่จะต้องการความสมจริง 

ยังมีจุดอ่อนอีกมากมายหลายเรื่อง  แต่เอาแค่นี้ดีกว่า

สรุปก็คือ    น่าเสียดายที่โปรดักชั่น และ  ดนตรีทำได้ดีมาก   แต่มาตายน้ำตื้นตรงบทภาพยนตร์นี่เอง

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.