กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (23 เมษายน 2566)

กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566  มุขมนตรีของรัฐมหาราษฎระ  ที่อยู่ตอนกลางของประเทศอินเดียมีเมืองหลวงของรัฐคือ เมืองมุมไบ  ได้ออกประกาศสำคัญของรัฐให้เปลี่ยนชื่อเมือง “ออรังกาบาด”(AURANGABAD) ให้เป็น ชัตตราปาติ ซามบาห์จี นาการ์(CHHATRAPATI SAMBHAJI NAGAR)

               หรือเรียกสั้นๆว่า  ซามบาห์จี นาการ์


(ทันทีที่มีการประกาศให้เปลี่ยนชื่อเมือง ออรังกาบาด เป็น ซามบาห์จี ก็มีการเขียนชื่อใหม่ของเมืองมาปิดที่ป้ายของสถานีรถไฟทันที)

               และยังประกาศให้ชื่อเขตออสมานาบาด (OSMANABAD DISTRICT) ในรัฐมหาราษฎระเช่นกันให้เปลี่ยนมาเป็น  ธาราชีฟ (DHARASHIV) อีกด้วย


(แผ่นที่ขอรัฐมหาราษฎระ ประเทศอินเดีย แสดงที่ตั้งของเมืองออรังกากบาด และ ออสมานาบาด)

               เป็นผลจากความพยายามอย่างยาวนานกว่า 5 ปี ที่เริ่มจากมติของสภานิติบัญญัติของรัฐมหาราษฎระ  แล้วส่งไปให้กับสภาแห่งประเทศอินเดีย ที่กรุงเดลี เพื่อลงมติอนุมัติ

               เป็นความพยายามที่จะแก้ไขสิ่งที่ชาวมุสลิมผู้รุกราน และ เคยปกครองอินเดียไว้เป็นเวลายาวนานได้ฝากเอาไว้ในอดีตที่แสนเจ็บปวด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชวงศ์โมกุล  ให้กลับไปสู่ความเป็นฮินดูแต่ดั่งเดิม


(จักรพรรดิ ออรังเซป ของราชวงศ์โมกุล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ชื่อ ออรังกาบาด นั้น  ตั้งชื่อตามจักรพรรดิ ออรังเซป(AURANGZEB) แห่งราชวงศ์โมกุล  ออรังเซป เป็นโอรสของจักรพรรดิ ชาห์ จาฮาน(SHAH JAHAN) ผู้สร้างทัชมาฮัล

               ปีค.ศ. 1689 หลังจากที่ออรังเซป ทำสงครามเอาชนะต่อกษัตริย์ชัตตราปาติ ซามบาจี ผู้ปกครององค์ที่ 2 แห่งรัฐมาราธา(MARATHA STATE) ที่บิดาของพระองค์คือ กษัตริย์ชัตตราปาติ ชีวะจิ มหาราช(CHHATRAPATI SHIVAJI MAHARAJ) ผู้ซึ่งได้สถาปนาราชวงศ์เอาไว้

หลังจากได้ชัยชนะ   ออรังเซปก็สั่งให้ประหารชีวิต ซามบาจิ  ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ ไม่ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม

               ด้วยเหตุนี้  ชาวฮินดูจึงเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อเมืองรัฐออรังกาบาด ให้กลับไปเป็นชื่อของกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนที่จะถูกออรังเซปประหารชีวิต

               จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ออรังเซป เป็นผู้กระทำทารุณกรรมต่อชาวฮินดูเอาไว้มากมาย  


(เมียร์ ออสมาน อาลี ข่าน  นิซามองค์สุดท้ายของไฮเดอร์ราบาด – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ส่วนเขตปกครอง ออสมานาบาด นั้นก็ตั้งชื่อตาม นิซาม(NIZAM)คนที่ 7 ที่ชื่อ เมียร์ ออสมาน อาลี ข่าน(MIR OSMAN ALI KHAN) และ เป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายของรัฐเจ้าชายแห่งไฮเดอร์ราบาด ระหว่างปีค.ศ. 1911-1948   ก่อนที่จะถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

               “นิซาม” คือ ตำแหน่งของผู้มีอำนาจในการปกครองในดินแดนต่างพระเนตรของจักรพรรดิโมกุลในดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากอักรา เมืองหลวงของอาณาจักรโมกุล

               ส่วนชื่อใหม่ของเขตปกครอง ออสมานาบาดที่เปลี่ยนใหม่เป็น ธาราชีพ นั้น  มาจากชื่อของหมู่ถ้ำที่ถูกแกะสลักเพื่อสร้างให้เป็นศาสนสถาน หรือ เป็นอาราม แบบเดียวกับหมู่ถ้ำ อาชันตา และ หมู่ถ้ำเอลลอราที่อยู่ห่างจากเมืองออรังกาบาดไม่มากนัก  


(หนึ่งในเจ็ดถ้ำของ ธาราชีพ- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หมู่ถ้ำธาราชีพมีอยู่ด้วยกัน 7 ถ้ำ  ห่างจากเมืองออสมานาบาดไปเพียง 7 กิโลเมตร  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 5 ถึง 7   หลังการสร้างถ้ำอาชันตาแต่ก่อนหน้าการสร้างหมู่ถ้ำเอลลอรา

นักวิชาการไม่แน่ใจนักว่า  เป็นถ้ำทางศาสนาพุทธ หรือ ศาสนาเชน กันแน่    แต่มีความเห็นไปในทางว่า  เป็นถ้ำของศาสนาพุทธก่อน  แล้วถูกเปลี่ยนไปเป็นของศาสนาเชนในเวลาต่อมา

คำว่า  ธาราชีพ มาจากชื่อของคนสองคน  คนแรกมีชื่อว่า ธารา (DHARA) ที่แปลว่า แม่น้ำ  อีกคนมีชื่อว่า  ชีพ หรือ ศิวะ(SHIVA)  แน่นอนว่าทั้งสองคนเป็นชาวฮินดู

ตำนานเล่าว่า  ทั้งสองมีหน้าที่ดูแลถ้ำดังกล่าว  ไม่ให้ใครมาทำลาย  ในเวลาต่อมา  จึงมักจะเรียกชื่อถ้ำดังกล่าวด้วยการเอาชื่อของทั้งสองมารวมกัน  เรียกว่า ธาราชีพ

เรื่องชื่อ “ธาราชีพ” ดังกล่าวเป็นแค่ตำนาน  ซึ่งยังไม่อาจหาหลักฐานมายืนยัน  อย่างไรก็ตาม  ถ้ำดังกล่าวก็ถูกเรียกขานว่า  ธาราชีพ  มาจนปัจจุบันนี้ 

ติดตามเรื่องราวการเปลี่ยนชื่อรัฐ และ เมืองของอินเดียต่อในตอนหน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .