กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (16 เมษายน 2566)

กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่าพันปีของอินเดีย   แค่นับตั้งแต่ยุคสุลต่านแห่งเดลี ที่ปกครองอินเดียอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี ค.ศ. 1206 เป็นต้นมา  แล้วถูกเปลี่ยนมือมาอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โมกุล ตั้งแต่ปีค.ศ. 1526  อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิมมาโดยตลอด

จนกระทั่งอินเดียเปลี่ยนมือมาถูกยึดครองโดยอังกฤษ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1757 และได้รับอิสรภาพในปีค.ศ. 1947 ในที่สุด

รวมเวลาเกือบ 800 ปีที่แสนขมขื่นของชาวภารตะ


(มูฮัมหมัด คาซิม – ภาพจาก ALAMY)

ยังไม่นับรวมในยุคก่อนหน้านั้น  คือเริ่มตั้งแต่ยุคของ มูฮัมหมัด อิบน์ อัล คาซิม (MUHAMMAD IBN AL QASIM) ในช่วงศตวรรษที่ 8 เรื่อยมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุลต่าน มาห์มุด แห่ง กาสนี่ (MAHMUD OF GHAZNI)  ที่ยกทัพมาบุกอินเดียถึง 17 ครั้ง 

ทุกครั้ง  จะทำลายวิหารของชาวฮินดูจนราบเรียบ  และ นำเอารูปเคารพของชาวฮินดูกลับไปทำพื้นในสุเหร่าของตนเอง  และยังให้สร้างสุเหร่าของตนเองตรงจุดที่เคยเป็นวิหารของชาวฮินดูด้วย

ที่สำคัญก็คือ   ยังได้ปล้นเอาทรัพย์สิน เงินทอง จำนวนมหาศาลกลับไปด้วย


(คานธี และ เนห์รู – ภาพจาก GETTYIMAGE)

แม้ว่าจะได้รับเอกราชตั้งแต่ปีค.ศ. 1947  แต่เนื่องจากอินเดียมีรัฐบาลจากพรรคคองเกรสของตระกูลคานธี ที่มีนายเยาวะหะราล เนห์รู ที่มีนโยบายโปรมุสลิมเป็นนายกรัฐมนตรีมานานราว 54 ปี ในช่วงระยะเวลา  74 ปี ที่ประเทศเป็นอิสระ

ดังนั้น  ชาวอินเดียฮินดูจะรู้สึกถึงความกดดัน  ความผิดหวัง  และ  สิ้นหวัง จากรัฐบาลของตนเอง  แม้ว่า  อินเดียจะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู  และ  สมาชิกในสภาส่วนใหญ่ก็เป็นชาวฮินดู   แต่ผลงานของรัฐบาลกลับไม่เสริมส่ง และ ฟื้นฟูความเสียเปรียบ และ การถูกด้อยค่าของชาวฮินดูมาเกือบ 800 ปีนั้นเลย

ชาวอินเดียเห็นว่า  แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ และ  สถานที่ท่องเที่ยวของอินเดีย ยังคงโปรโมทเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นประวัติศาสตร์ของราชวงศ์โมกุลเท่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นทัชมาฮัล  หรือ  ป้อมปราการสีแดง

กระทั่งตำราเรียนในโรงเรียน  ก็ไม่ค่อยสอนบทเรียนเกี่ยวกับการเชิดชูนักรบชาวฮินดูในประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้ปกป้องแผ่นดินจากชาวมุสลิมเลย   จนทำให้ชื่อเสียงเรียงนาม และ  ชีวประวัติของนักรบเหล่านั้นเงียบหายไป  และ  ถูกลืมเลือนไปในที่สุด

ตลอด 54 ปีของรัฐบาลพรรคคองเกรส  ชาวฮินดูที่รักชาติไม่สามารถจะเรียกร้องอะไรได้เลย


(แผนที่ของประเทศอินเดีย)

ตลอดเวลา 2 ช่วงสมัย  คือ สมัยที่ถูกปกครองโดยมุสลิมช่วงหนึ่ง  และ  สมัยที่ถูกปกครองโดยอังกฤษอีกช่วงหนึ่ง   หลายๆชื่อของรัฐ  และ  เมือง  และ หลายๆสถานที่ของอินเดียถูกเปลี่ยนชื่อไปตามแต่ใจชอบของผู้ปกครองนับไม่ถ้วน

ที่เห็นได้ง่ายๆก็คือ  เมืองที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ บาด” (BAD) จะเป็นเมืองที่ถูกเปลี่ยนชื่อให้แสดงความเป็น “อิสลาม”   ในขณะที่เมืองที่ลงท้ายด้วย “ปูร์” (PUR)  จะเป็นเมืองที่สะท้อนความเป็นฮินดู ซึ่งมีบรรดาราชบุตร เป็นผู้นำของเมืองในอดีต  และ ไม่ถูกมุสลิมยึดครองแบบเบ็ดเสร็จ


(นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี ให้มารดาของตนเองเจิมหน้าผากให้พรตามประเพณีอินเดีย)

กระแสชาตินิยมของอินเดียมีความเข้มข้นขึ้นอย่างมากในช่วง 15 ปีหลังนี้   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของรัฐบาลจากพรรคBJP ที่ขณะนี้มีนายกรัฐมนตรีชื่อ  นเรนทรา โมดี

กระแสของการเรียกร้องให้กลับไปใช้ชื่อเมือง และ  ชื่อรัฐ ในแบบฮินดูโบราณ มีความแข็งแกร่งขึ้น  และ  ล่าสุดก็มีการเปลี่ยนชื่อของรัฐ และ เมืองหลายเมือง กลับไปเป็นชื่อแบบฮินดูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  และอีกจำนวนหนึ่งในอนาคตข้างหน้านี้

พบกันสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .