บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 7)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 เมษายน 2566)

บนถนนดอกไม้สู่ลานซ้อมมวยปล้ำในกอลกัตตา(ตอน 7)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทุกรายละเอียดของกีฬามวยปล้ำโบราณของอินเดียมีที่มาตั้งแต่ยุคโบราณ   เริ่มตั้งแต่พื้นสนามที่ใช้ในการฝึกมวยปล้ำ  มีศาสตร์ หรือ อาจจะเรียกได้ว่า  วิทยาศาสตร์รองรับไว้ตลอด


(ภาพการซ้อมมวยปล้ำที่สนามริมแม่น้ำในกอลกัตตา)

               กีฬามวยปล้ำของอินเดียเรียกง่ายๆว่า  มวยปล้ำโคลน (MUD WRESTLING)  แต่ก็มีการตระเตรียมสนามสำหรับนักกีฬามวยปล้ำให้มีความปลอดภัยที่สุด  ถือว่าเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่สืบทอดกันมาช้านานนับพันปี

               การเตรียมสนามซ้อมมวยปล้ำ  จะเริ่มด้วยการเตรียมดินที่มีเนื้อละเอียด  ร่วนซุยจนเป็นผง  หรือ  ยุ่ย   ไม่มีก้อนดินที่เกาะกันเป็นก้อนแข็งที่อาจจะทำอันตรายต่อผู้ฝึกซ้อม  ส่วนใหญ่ก็เอามาจากดินตะกอนในแม่น้ำ


(นักมวยปล้ำฝึกฝนความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อด้วยกระบองแบบของหนุมานที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป ด้วยการหมุนข้ามหัวแล้ววนกลับมาที่เดิม)

               ปัญหาก็คือ  ในช่วงที่นักกีฬาทำการปล้ำกันนั้น   ดินอาจจะฟุ้งกระจาย  และกระเด็นเข้าหู เข้าตา  หรือ  เข้าปาก  อันอาจจะเป็นอันตรายต่อนักมวยปล้ำได้   


(อาณาเขตที่มีรั้วรอบขอบชิดของสนามซ้อมมวยปล้ำ)

ศาสตร์ของการสร้างสนามมวยปล้ำโบราณของอินเดีย  ซึ่งถือปฎิบัติกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงวันนี้จึงต้องเตรียมสมุนไพรหลากหลายชนิดเพื่อผสมกับดิน  จุดประสงค์ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดกับนักมวยปล้ำ

               สมุนไพรเหล่านี้อาทิเช่น ผงสะเดา(NEEM POWDER)  ผงขมิ้น(TURMERIC)  การบูน (CAMPHOR)  น้ำมันมะพร้าว (COCONUT OIL)  น้ำมะนาว(LEMON)   ลิ่มน้ำนม (CURD) โดยประมาณ

สมุนไพร่เหล่านี้จะถูกผสมกับน้ำแล้วนำมาราดบนดินที่เตรียมเอาไว้แล้ว จากนั้นก็ทำการคลุกเคล้าให้เขากันจนดี


(ผู้ฝึกมวยปล้ำมือหนึ่งของสนามนี้(ซ้ายมือ) และ อาจารย์ผู้สอน (ขวามือ) เป็นผู้มีชื่อเสียงมากจนนิตยสารหลายฉบับจากต่างประเทศต้องมาทำข่าว) 

               แล้วสมุนไพรเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร

               ผงสะเดา  ช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อต่างๆ (ANTIBIOTIC)   โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อที่อยู่บนผิวหนังของนักมวยปล้ำ  และช่วยทำลายเชื้อราต่างๆด้วย  เพราะคุณสมบัติของสะเดา คือ รักษาโรคผิวหนัง  ขับเสมหะในทรวงอก  และเป็นยาฆ่าแมลง    ชาวไร่ชาวนาในประเทศไทยจะใช้สะเดาผสมน้ำทำเป็นยาฆ่าแมลง 


((TURMERIC หรือ ผงขมิ้น ที่ใช้เป็นส่วนผสมของดินในสนามซ้อมมวยปล้ำ-ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ผงขมิ้น  ปกติชาวอินเดียใช้ผงขมิ้นในการรักษาแผล   ขมิ้นมีคุณสมบัติในด้านเสริมภูมิต้านทานโรค  บำรุงผิวพรรณ   ลดริ้วรอยตามผิวหนัง  ช่วยรักษาสิว  และ ช่วยรักษาแผลตามผิวหนัง   แก้ผื่นต่างๆ   บางตำราบอกว่า  สามารถช่วยรักษาอาการเป็นตะคริวด้วย  ขมิ้นเป็นทั้งเครื่องปรุงอาหาร และ  ยาของชาวฮินดู


(นักมวยปล้ำสาธิตการเข้ามวยแบบมาตรฐานกับผู้เขียน)

               การบูน  มีผลในการฆ่าเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกาย  ไม่ว่าจะเป็นทางปาก   ทางจมูก  และ  ทางหู      รักษาอาการเคล็ดขัดยอก  แพลง   แมลงกัดต่อย  ปวดเส้นประสาท  รักษาโรคผิวหนังประเภทเรื้อรัง   รักษาแผล  และ  สมานแผล   รักษารอยผิวหนังแตกในช่วงฤดูหนาว   

               น้ำมันมะพร้าว และ ลิ่มน้ำนม  ช่วยทำให้ดินไม่ฟุ้งกระจายเป็นฝุ่นเล็กๆ  ดินมีความอ่อนนุ่ม  ลื่น  ไม่ค่อยติดตัวนักมวยปล้ำเท่าไหร่นัก   

               น้ำมะนาว  ด้วยวิตามินซีของน้ำมะนาว  จะช่วยรักษาผิวของผู้เล่นมวยปล้ำ  

               ทั้งหมดนี้  เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ของชาวฮินดู ที่ช่วยทำให้กีฬามวยปล้ำ มีความปลอดภัยสำหรับผู้เล่น  และ ยังคงอยู่จนทุกวันนี้

               ถือเป็นหนึ่งใน 18 ศาสตร์โบราณที่ผู้ปกครองของอินเดียโบราณจะต้องร่ำเรียน

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .