กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน4-จบ)

ซอกซอนตะลอนไป                           (7 พฤษภาคม 2566)

กระแสชาตินิยมที่กำลังมาแรงในอินเดีย(ตอน4-จบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนที่จะพูดถึงการเปลี่ยนชื่อของเมืองต่อไป   ผมบังเอิญได้อ่านข่าวหนึ่งพบว่า   มีสถานีรถไฟแห่งหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดสินธุ์(SINDH PROVINCE) ประเทศปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้าปีค.ศ. 1947 ดินแดนของปากีสถานทั้งหมดเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ก่อนที่จะมีการแยกประเทศออกไป

               สถานีรถไฟนี้มีชื่อว่า เรห์มานี นาการ์ (REHMANI NAGAR)

               ผู้คนรู้จักชื่อของสถานีรถไฟนี้มาช้านานในนาม เรห์มานี นาการ์  จนกระทั่งเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2021  เกิดลมพายุใหญ่ขึ้นที่นี่  ทำให้ป้ายชื่อของสถานีดังกล่าวที่ทำด้วยแผ่นเหล็กถูกลมพัดจนฉีกขาด  เผยให้เห็นว่า  ภายใต้แผ่นเหล็กดังกล่าวก็คือชื่อดั่งเดิมของสถานีรถไฟดังกล่าวที่ทำด้วยหินแกะสลัก


(ป้ายสถานีรถไฟ SITA ROAD ในปากีสถาน)

               อักษรภาษาอังกฤษบนป้ายหินอ่านได้ว่า SITA ROAD มีความหมายว่า  “ถนนของนางสีดา”  มเหสีของพระราม ในมหากาพย์เรื่อง “RAMAYANA”  หรือ  รามเกียรติ์  

               อันที่จริง  การเปลี่ยนชื่อเมือง หรือ  ชื่อของรัฐของอินเดียให้กลับมาเป็นชื่อดั่งเดิมที่เปลี่ยนสำเร็จไปแล้วมีจำนวนนับร้อยๆแห่ง  และ ที่ยังรอการเปลี่ยนชื่อก็อีกหลายสิบแห่งด้วย

               แต่ที่ผมอยากจะปิดท้ายบทความชุดนี้ก็คือ  การเปลี่ยนชื่อของ กรุงนิวเดลี หรือ กรุงเดลี

               นครเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาก สืบย้อนกลับไปได้ถึง 1,200 ปีก่อนคริสตกาล  ครอบคลุมช่วงเวลาของหลายสิบราชวงศ์  อาทิเช่น  ราชวงศ์คุรุ (KURU DYNASTY) ซึ่งเชื่อกันว่า  เป็นรากฐานของมหากาพย์ “มหาภารตะ” ในเวลาต่อมา , ราชวงศ์เมารยะ (MAURAYA DYNASTY) ที่ปรากฎชื่อกษัตริย์ที่รู้จักกันทั่วไปก็คือ พระเจ้าจันทรคุปตะ เมารยะ,  พระเจ้าพินธุสาร และ พระเจ้าอโศกมหาราช


(เหรียญทองคำที่มีภาพของพระเจ้ากนิษฐกะ ที่ 1 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ราชวงศ์คุชชาน(KUSHAN DYNASTY) ที่มีกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงมากเช่น พระเจ้ากนิษกะ (KANISHKA I)  ผู้จัดการประชุมเพื่อสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4  และ เป็นผู้นำเอาศิลปะของกรีกเข้ามาผสมผสานในรูปแบบการนำเสนอของศาสนาพุทธ  ,  ราชวงศ์คุปตะ(GUPTA DYDANTY) ที่มีกษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงเช่น พระเจ้าจันทรคุปตะ ที่ 1  เป็นต้น

เรื่อยจนมาถึงยุค สุลต่านแห่งเดลี(DELHI SULTANATE)  และ  ต่อมาถึงราชวงศ์โมกุล(MUGHAL DYNASTY) ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี   ก่อนที่จะถูกอังกฤษยึดครอง  และสถาปนาให้เดลีเป็นเมืองหลวงของ บริติช ราช (BRITISH RAJ)ในปีค.ศ. 1911

ในยุคสมัยเหล่านี้  เดลี เป็นส่วนหนึ่งของทุกอาณาจักรเสมอมา   และมิใช่แค่พื้นที่ของกรุงเดลีเท่านั้น  แต่รวมถึงพื้นที่ของรัฐฮาร์ยานา  รัฐปัญจาบ และ บางส่วนของรัฐอุตตราประเทศ ด้วย


(พระเจ้าจอร์จ ที่ 5 ของอังกฤษ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เดลีได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการให้เป็นเมืองหลวงของบริติช ราช เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ปีค.ศ. 1926  หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ที่ 5 (GEORGE V)ได้วางศิลาฤกษ์ของเมืองเดลี เมื่อวันที่ 12 ปีค.ศ. 1911

แต่จากการรับรู้ของชาวอินเดียและทั่วโลกถือว่า  อังกฤษได้ย้ายเมืองหลวงจากกอลกัตตา มาอยู่ที่เดลีตั้งแต่ปีค.ศ. 1911

               เหตุผลหลักที่ต้องย้ายเมืองหลวงก็เพราะในช่วงเวลานั้น  เมืองกอลกัตตา มีนักคิด  นักการเมือง  นักปรัชญา  นักต่อสู้เพื่อเอกราช  และผู้รักชาติจำนวนมากที่เรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษอย่างจริงจัง   ซึ่งยากที่อังกฤษจะรับมือได้

               ขณะนี้  ขั้นตอนเริ่มแรกทางกฎหมายกำลังอยู่ในรัฐสภา  ซึ่งโดยปกติน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 5 – 6 ปี กว่าที่รัฐสภาจะลงมติให้เปลี่ยนชื่อได้  และนำไปสู่ขั้นตอนการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป


(อาคารรัฐสภาของอินเดียที่กรุงเดลี สถานที่ลงมติการเปลี่ยนชื่อเมืองต่างๆของอินเดีย  อาคารสร้างในสมัยของ BRITISH RAJ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หากรัฐสภาอินเดียลงมติเรียบร้อย   เมืองเดลี หรือ  นิวเดลี จะมีชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า  นครอินทราปราสธา (INDRAPRASTHA) ซึ่งแปลว่า เมืองของพระอินทร์ (CITY OF INDRA)

               น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับชื่อ “กรุงเทพมหานคร” ของไทย

               สัปดาห์หน้าพบกับเรื่อง พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี ครับ

               สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .