พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 พฤษภาคม 2566)

พระอาทิตย์ตกของตระกูลคานธี(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ในปีค.ศ. 2019  อินเดียมีการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์(LOK SABHA)จากทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน 543 คน

               เป็นการต่อสู้กันของ 2 พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคของอินเดีย   พรรคแรกก็คือพรรคภารติยะ ชนะตะ(BJP) นำโดยนายนเรนทรา โมดี(NARENTRA MODI)  ซึ่งชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งก่อนของปีค.ศ. 2014   กับพรรคอินเดียน เนชั่นนัล คองเกรส(INC) ที่นำโดย นางโซเนีย คานธี


(นางโซเนีย คานธี พบปะกับ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิยยู บุช  – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               การเลือกตั้งครั้งปีค.ศ. 2014   เป็นชัยชนะของพรรค BJP  ที่สามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้มากถึง 282 คน จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 534 ที่นั่ง   ในขณะที่ พรรคคองเกรสได้รับเลือกเข้ามาเพียง 59 ที่นั่งเท่านั้น

               ทั้งๆที่  นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกของอินเดียในปีค.ศ. 1951-1952  พรรคคองเกรส ครองเสียส่วนใหญ่ของสภามาแทบจะตลอด

               หลังจากความพ่ายแพ้ในปี 2014   นางโซเนีย คานธีก็วางมือให้ ราหุล ลูกชายขึ้นมาสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรสแทน   โดยมีภาระในการเป็นหัวหอกในการต่อสู้ทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2019   ซึ่งเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของพรรค


(นายเนห์รู , อินทิรา คานธี , ซานเจย์ และ  ราจีฟ คานธี ครอบนักการเมืองที่ครอบครองพรรคคองเกรสมายาวนาน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               นายราหุล คานธี เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขนักการเมืองจากตระกูลคานธี  เขาเป็นลูกของ ราจีฟ  คานธี กับ โซเนีย ซึ่งมีเชื้อสายอิตาเลี่ยน  ,  ราจีฟ คานธี เป็นลูกของนางอินทิรา คานธี   ราจีฟจึงมีศักดิ์เป็นหลานตาของนาย เยาวะหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

               การเลือกตั้งของปี 2019 เป็นภาระขนาดใหญ่ที่ถูกโยนลงบนบ่าของราหุล   เพราะคะแนนนิยมของ นเรนทรา โมดี กำลังพุ่งแรง  ด้วยเพราะนโยบายเชิดชูแนวคิดชาวฮินดูของเขา  ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของพรรคคองเกรส  ที่สนับสนุนชาวมุสลิมเป็นหลัก


(เนห์รู และ มหาตะมะ คานธี ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในปัจจุบันว่า เอาใจชาวมุสลิมมากกว่าชาวฮินดู- ภาพจากวิกิพีเดีย)  

               แนวคิดนี้   เริ่มมาแต่สมัยของ นายเยาวะหะราล เนห์รู  และ  มหาตะมะ คานธี  ในยุคที่ยังเป็นกลุ่ม อินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส  ที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษก่อนหน้าปีค.ศ. 1947 แล้ว 

               การต่อสู้รณรงค์เพื่อการเลือกตั้งทั่วไป  สำหรับคนหนุ่มที่ไม่ยังไม่มีประสบการณ์ และ เขี้ยวเล็บที่แกร่งพออย่างนายราหุลนั้น  เป็นเรื่องไม่ง่าย


(ถนนที่นางอินทิรา คานธีเดินในเช้าวันที่ถูกทหารองค์รักษ์ยิงเสียชีวิต ปัจจุบันถูกปิดด้วยกระจก – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปีค.ศ. 1984  นางอินทิรา คานธี ย่าของเขา  และ  นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นถูกทหารรักษาความปลอดภัยชาวซิกห์ 2 คนสังหาร ว่ากันว่า   เพื่อแก้แค้นในภารกิจของนางที่เรียกว่า ปฎิบัติการณ์ดาวสีน้ำเงิน(OPERATION BLUE STAR) ในการโจมตีวิหารทองคำ ในเมืองอัมริตสาร์ รัฐปัญจาบ 

ราจีฟ คานธี จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในทันที

หลังจากนั้น  วันที่ 21 พฤษภาคมปีค.ศ. 1991  ในขณะที่นายราจีฟ คานธี กำลังออกหาเสียงช่วยเหลือผู้สมัครของพรรคคองเกรสในรัฐทมิล นาดู  ที่หมู่บ้าน ศรีเพอรุมบูเดอร์ ไม่ไกลจากเมืองมัดดาส(MADRAS) หรือ เชนไน(CHENNAI) ในปัจจุบันเท่าไหร่นัก

เขาถูกระเบิดพลีชีพของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำทีจะเข้ามาทักทาย แล้วกดระเบิด  ทำให้ ราจีฟ คานธี เสียชีวิตในทันที 

วันแห่งการสูญเสียวันนั้น   ราหูล คานธีมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น   ถือว่ายังอ่อนด้อยประสบการณ์ทางการเมืองมาก

เหตุการณ์ของตระกูลคานธีจะเป็นอย่างไร  โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไป

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .