มัมมี่คืนชีพ(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 กันยายน 2566)

มัมมี่คืนชีพ(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

เชื่อมั้ยครับ   บนดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาลของอียิปต์  หากขุดลงไปอาจจะเจอวัตถุโบราณจากยุคต่างๆ  หรือ  อาจจะเจอมัมมี่ของยุคฟาโรนิค ได้ค่อนข้างจะไม่ยากนัก

ครั้งหนึ่ง  นายซาฮี ฮาวาสส์(ZAHI HAWASS) อดีตรัฐมนตรีของรัฐในกิจการเกี่ยวกับวัตถุโบราณ(MINISTER OF STATE FOR ANTIQUITIES AFFAIRS) เคยพูดเอาไว้ว่า  หากใครอยากมีชื่อเสียง  ก็ลองเดินทางไปอียิปต์  แล้วก็นำเสนอทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณที่หวือหวา  ท้าทาย  และ แหวกแนวออกมาสักทฤษฎีหนึ่ง


(ผู้เขียน กับ ซาฮี ฮาวาสส์ ที่วิหารรามเซส ที่ 3)

คนๆนั้นอาจกลายเป็นคนดังได้ในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน  หากมีคนที่รู้สึกร่วมไปกับทฤษฎีของเขา

เพราะทุกวันนี้   ยังมีการขุดค้นเพื่อค้นหาความลับใต้ดินอยู่ตลอดเวลา  และส่วนใหญ่ของคนที่เข้าไปทำการขุดค้นจะเป็นชาวยุโรปเป็นหลัก  ตั้งแต่นักโบราณคดี จนกระทั่งนักศึกษาโบราณคดีของมหาวิทยาลัยต่างๆจากโลกตะวันตก

วันนี้  อียิปต์เริ่มมีนักโบราณคดีรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมา  ทำการขุดค้นสถานที่ที่คาดว่าจะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานฝังอยู่  ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองลักซอร์ ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำไนล์   ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงเก่าของอียิปต์โบราณยุคอาณาจักรกลาง จนถึง ยุคอาณาจักรใหม่

แต่ที่ฮือฮามากในช่วงสองปีหลังนี้ก็คือ   การขุดค้นที่เมืองซัคคารา ไม่ไกลจากพีระมิดแบบขั้นบันได ของฟาโรห์ซอเซอร์ เท่าไหร่นัก

เมืองซัคคารา ถือเป็นเมืองคู่แฝดของเมืองเมมฟิส   เพราะเมืองเมมฟิส เป็นเมืองของคนเป็น  เป็นสถานที่อยู่อาศัยของประชาชนชาวอียิปต์มาตั้งแต่เมื่อประมาณ 5000 ปีเศษที่แล้ว

ในขณะที่เมืองซัคคารา  เป็นเมืองของคนตาย  เพราะเป็นสถานที่ฝังศพของชาวเมืองเมมฟิส  และ  ชาวอียิปต์ในหลายยุคหลายสมัยต่อมา 


(แผนที่แสดงกรุงไคโร และ เมืองเมมฟิส และ ซัคคารา – ภาพจาก GOOGLE MAP)

เมืองเมมฟิส และ ซัคคารา อยู่ห่างกันไม่ถึง 10 กิโลเมตร  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  ชาวอียิปต์โบราณรู้จักแยกแยะสถานที่อยู่อาศัยให้ห่างออกจากสถานที่ฝังศพ  แต่ก็ไม่ห่างไกลกันจนเกินไป  เกินกว่าที่จะเดินทางไปมาเพื่อทำพิธีได้

ทั้งเมืองเมมฟิส และ เมืองซัคคารา อยู่ห่างจากกรุงไคโรไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เกือบ 30 กิโลเมตร

ในตอนนี้  ขอพูดเฉพาะเรื่องซัคคารา เท่านั้นก่อน


(โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

ในอดีต   การขุดค้นทางโบราณคดีของอียิปต์มักจะเป็นผลงานของชาวต่างชาติทั้งนั้น  ผลของการขุดค้นทำให้นักโบราณคดีเหล่านั้นโด่งดัง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก   ไม่ว่าจะเป็น  โฮเวิร์ด  คาร์เตอร์(HOWARD CARTER) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ผู้ค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ที่ยังไม่เคยมีโจรคนไหนบุกเข้าไปขโมยสมบัติออกมาก่อนเลย 

อีกคนหนึ่งก็คือ  ออกุส มาเรียส(AUGUSTE MARIETTE) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้แก่โบราณคดีอียิปต์  เป็นผู้ค้นพบวิหารเอ็ดฟู  และ  วิหารคอมออมโบ และอีกมากมาย


(ออกุส มาเรียส – ภาพจากวิกิพีเดีย)

แน่นอนว่า  สถานที่เหล่านี้ทุกแห่ง  ผมจะพาไปชมอย่างเจาะลึกในโปรแกรมทัวร์อียิปต์ 10 วัน 7 คืน  และ  จะมีการบรรยายถึงบุคคลที่ผมกล่าวถึงอย่างละเอียดด้วย

ในอดีต  ไม่มีใครรู้จักนักโบราณคดีชาวอียิปต์ที่เป็นหน้าเป็นตาให้แก่วงการโบราณคดีของอียิปต์ที่มีผลงานในการขุดค้นสุสานใหม่ๆเลยแม้แต่คนเดียว  

จนเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง   นักโบราณคดีชาวอียิปต์หลายคนเริ่มมีผลงานที่เปิดให้ทั้งโลกได้รู้จักอียิปต์โบราณอีกครั้ง

มัมมี่คืนชีพ

สนใจเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืนกับผม ที่เน้นการบรรยายชมอย่างละเอียด ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคมนี้  และมีในเดือนธันวาคม และ กุมภาพันธ์  ติดต่อสอบถาม และ สำรองที่นั่งได้ที่ โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498

พบกันสัปดาห์หน้า

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .