มัมมี่คืนชีพ(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 กันยายน 2566)

มัมมี่คืนชีพ(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

ในเมืองแห่งคนตายซัคคารา นั้น  ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักก็เพียงแต่ พีระมิดแบบขั้นบันไดของฟาโรห์ซอเซอร์ (DJOSER) ที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 4700 ปีที่แล้ว  นักโบราณคดีถือว่า  เป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอียิปตโบราณ


(พีระมิดแบบขั้นบันไดของฟาโรห์ซอเซอร์)

ก่อนหน้านั้น  ชาวอียิปต์โบราณใช้ไม้ในการก่อสร้างของตัวเอง

ต่อมา  พีระมิดแบบขั้นบันได ได้กลายเป็นพื้นฐานทางความคิดในการสร้างพีระมิดแบบผิวเรียบ 3 องค์ ที่เมืองกีซ่า

รวมทั้งพีระมิดอื่นๆที่มีขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน  มีรูปทรงต่างกันทั่วทั้งอียิปต์  ซึ่งว่ากันว่า มีจำนวนกว่า 100 พีระมิดขึ้นไป


(พีระมิดแบบหักมุมเข้า แห่ง ดาชู(DAHSHUR) เป็นอีกแบบหนึ่งของพีระมิด – ภาพจากกูเกิ้ล)

พีระมิด คือสถานที่ฝังศพของคนเพียงคนเดียว คือ ฟาโรห์ หรือ กษัตริย์ ซึ่งก่อนที่จะเอาศพของฟาโรห์เข้าไปเก็บในห้องเก็บศพ เขาจะต้องเอาศพของฟาโรห์ไปผ่านขั้นตอนการรักษาศพให้คงสภาพอยู่ได้ชั่วนิรันดร์  ซึ่งเรียกว่า  การทำมัมมี่(MUMMIFICATION)

จึงเป็นแรงดึงดูดให้พวกโจรปล้นสมบัติพยายามขุดเจาะเข้าไปในพีระมิด  เพราะรู้ว่า  ภายในห้องเก็บศพของฟาโรห์ จะต้องมีทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสมบัติที่ฟาโรห์เคยใช้ในชีวิตประจำวัน

แนวคิดของชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า  ฟาโรห์จะต้องใช้ทรัพย์สมบัติ และสิ่งของต่างๆในการดำรงชีวิตในโลกหน้า

แน่นอนว่า   ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นจะต้องมีมูลค่ามหาศาลแน่นอน  เพราะมักจะต้องสร้างด้วยทองคำ และอัญมณีที่มีค่ามากมาย  ดูได้จากทรัพย์สมบัติที่ค้นพบในสุสานของตุตันคามุน


(การค้นพบสุสานของตุตันคามุน และ หน้ากากทองคำ ที่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 – ภาพจากกูเกิ้ล)

ชาวอียิปต์โบราณยังเชื่อในเรื่องการฟื้นคืนชีพ  เมื่อฟาโรห์ฟื้นคืนชีพขึ้นมาแล้ว   พระองค์จะต้องใช้ร่างกายของตัวเองในการเดินทางไปพบกับเทพเจ้าโอไซริส  และ ใช้ชีวิตอยู่กับพระองค์ไปชั่วนิรันดร์ 

ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ทำให้วิทยาการปัจจุบันสามารถรู้ว่า  อียิปต์โบราณรักษาร่างกายของฟาโรห์เพื่อทำมัมมี่กันอย่างไร   ใช้สารอะไรเป็นส่วนผสมในการชะโลมมัมมี่เพื่อรักษาสภาพของศพให้อยู่ได้นาน

เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่า   เขาใช้ส่วนผสมแต่ละชนิดในอัตราส่วนเท่าไหร่เท่านั้น  

นักโบราณคดีอียิปต์ เชื่อว่า  ก่อนหน้าที่จะมีการสร้างพีระมิดแบบขั้นบันไดขึ้นมา   จะมีการฝังศพในรูปแบบที่เรียกว่า  มาสตาบา (MASTABA)  


(ประตูทางเข้ามาสตาบา ของ คาเกมนิ(KA GEMNI) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ที่ 6 จากยุคอาณาจักรเก่า)

ด้านทิศเหนือของพีระมิดแบบขั้นบันได  ก็คือสุสานที่เรียกว่า  มาสตาบา  มีลักษณะเป็นกล่อง หรือ ห้องว่างๆที่สร้างครอบลงไปบนทางเข้าหลุมฝังศพของผู้ตาย  

ดังนั้น  ภายในมาสตาบา จึงเป็นเหมือนห้องโล่งๆ  มีผนังสี่ด้าน  และจากตัวอย่างของมาสตาบา หลายแห่ง  จะมีภาพสลักนูนต่ำเรียงรายอยู่บนผนัง  เป็นบันทึกเรื่องเล่าของผู้ตายว่า  เขาเคยใช้ชีวิตอย่างไร

ด้วยภาพสลักเหล่านี้นี่เองที่ทำให้เราทราบถึงวิถีชีวิต  ประเพณี  และ  สภาพเครื่องแต่งกายของผู้คนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี  จะว่าไปก็คล้ายๆกับหนังสือแจกงานศพในยุคปัจจุบันที่เล่าเรื่องราวของผู้ตายนั่นเอง  

สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน กับผม  ระหว่างวันที่ 19-28 ตุลาคม  และ   7-18 ธันวาคม  ติดต่อสอบถามได้โทร 0885786666  หรือ LINE ID – 14092498  รับจำนวนจำกัด 20 คน

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .